3 ความท้าทาย ปัญหาชายแดนใต้ ที่นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญ

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

7 สิงหาคม 2562 ยะลา (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ถูกเลือกให้เป็น “พื้นที่แรก” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขนรัฐมนตรีบางส่วนไปตรวจราชการ หลังได้รับการ “ขยายอำนาจ” ออกไปในฐานะผู้นำคนที่ 29 สมัยที่ 2

จากการเยือนครั้งนี้แม้ภารกิจหลักคือการเปิดสำนักงานใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่มีประเด็นร้อนอันเป็นความท้าทายปัญหาชายแดนใต้ให้แก้ปัญหาหลังท่านลงใต้

ดังนี้

หนึ่ง ระเบิดที่กรุงเทพมหานคร ถึงชายแดนใต้

แน่นอนที่สุดจากการระเบิดที่กรุงเทพมหานครปลายเดือนกรกฎาคมจนกระทั่งลามถึงชายแดนใต้ก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือน ย่อมได้รับความสนใจของทุกคนว่า จะจับคนทำและผู้บงการได้หรือไม่ และที่สำคัญคือผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการการวางระเบิด

ดังนั้น การเดินทางของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงมาสอบผู้ต้องสงสัยด้วยตนเองย่อมแสดงถึงความสำคัญของเรื่องนี้

แม้หลายนักวิชาการจะวิเคราะห์การระเบิดในครั้งนี้ว่าเป็นการเมืองระหว่างขั้วอำนาจที่ปะทะกันที่กรุงเทพมหานคร เพราะมีการโจมตีฝ่ายตรงข้ามหน้าสื่อทุกรูปแบบ

หรือบางนักวิชาการอย่างรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมศรี ว่าความเป็นไปได้น่าจะเป็นฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดน (โปรดดู https://www.bbc.com/thai/thailand-49290602 และ https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2780685)

แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกลับบอกว่า คดีระเบิดป่วนกรุง โยงการเมือง 80% แต่ยังไม่รู้ผู้บงการ และที่ผ่านมาการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยมีกลุ่มไหนออกมายอมรับหรือประกาศว่าเป็นผู้ลงมือ (โปรดดู https://www.sanook.com/news/7859934/)

อย่างไรก็แล้วแต่ การระเบิดที่ชายแดนใต้ครั้งนี้ต่างจากหลายๆ ครั้งที่ผ่านคือ มีการวางระเบิดทรัพย์สินสาธารณะบริเวณสถาบันการศึกษาอิสลาม ไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยฟาตอนี (มี ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา เป็นผู้บริหาร) และโรงเรียนอซิซสถาน (มีหะยีอับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ ผู้บริหารโรงเรียน)

ทำ.ห้มีผู้คนจากในและต่างประเทศแสดงความเสียใจและขอพรให้ท่านและสถาบันของท่านให้อัลลอฮ์คุ้มครอง เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วหน้าว่า ท่านทั้งสองคือผู้นำศาสนาอิสลามที่มีมวลชน ลูกศิษย์ลูกหานับแสนคน

ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา ได้แสดงความคิดเห็นผ่านผู้เขียนว่ามหาวิทยาลัยฟาตอนีเป็นมหาวิทยาลัยวากัฟ (สาธารณกุศล) คือ “มหาวิทยาลัยของอัลลอฮ์” เขาไม่ได้มาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย…แต่เขาทำลายทรัพย์สินของอัลลอฮ์…เราอุตส่าห์สร้างสันติภาพ แต่คุณกลับมาทำลาย…เราเสียใจ…

ดังนั้น วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา จึงมีผู้ใหญ่นำท่านพบกับนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็แล้วแต่ แม้คนชายแดนใต้อยากจะทราบความจริงว่าใครทำ ทำทำไม ใครอยู่เบื้องหลัง (คงจะยากหากดูสถิติ 15 ปีไฟใต้) พวกเขาก็ยังกังวลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผู้ต้องสงสัยจะโดน และคนมลายูมุสลิมจะถูกเหมารว[รวมทั้งอาจอยู่ยากในกรุงเทพมหานคร

6 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมโรงแรมปาร์ควิว จังหวัดปัตตานี ในเวทีเสวนาวาระประชาชน : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนกับช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ภายใต้สภาวะความขัดแย้งในพื้นที่ จชต./ปาตานี (ซึ่งผู้เขียนรวมอยู่ด้วย) นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะเพื่อไม่ให้ปัญหาชายแดนใต้ยิ่งลุกลามหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องสงสัย

1. ต้องไม่ปกปิดชะตากรรมผู้ต้องสงสัย

เพราะช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 3 วัน (ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2562) ที่นายลุกไอ แซแง และนายวิลดัน มาหะ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวหรือหน่วยงานรัฐใดให้ข้อมูลแก่ญาติหรือทนายความถึงเหตุในการจับกุม และอำนาจที่ใช้ในการควบคุมตัว อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังให้ข้อมูลไม่ตรงกันถึงสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสอง อันถือได้ว่าเป็นการปกปิดข้อมูลหรือชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวในระยะเวลาดังกล่าว

ซึ่งหากเป็นการจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในมาตรา 87 กำหนดให้ควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกจับไว้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน และผู้ถูกจับต้องได้รับแจ้งสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือทนายความรับรู้ถึงการจับกุมดังกล่าว

2. การใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองคน

โดยปัจจุบันทั้งสองถูกควบคุมอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่สถานที่คุมขังได้ไม่เกิน 7 วัน โดยได้รับอนุญาตจากศาล และสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละ 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า เหตุที่ใช้ในการควบคุมตัวบุคคลทั้งสองคือเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เหตุที่เกิดภายในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ต่อเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 11 วรรคสองก่อน

การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองจากจังหวัดชุมพร และนำมาควบคุมตัวต่อที่จังหวัดยะลา โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีdkiประกาศใช้เฉพาะบางพื้นที่และต้องมีการทบทวนการประกาศใช้ทุกสามเดือน

หากเหตุในการกระทำความผิดเกิดนอกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่นำตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อขยายระยะเวลาในการควบคุมตัว ย่อมเป็นการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม

3. การควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การควบคุมตัวญาติของนายลุกไอในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ไปจากที่ทำงานย่านสุขุมวิทเพื่อสอบถามข้อมูล โดยกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ สังกัด และสถานที่ในการควบคุมตัว ไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ รวมถึงการบังคับให้ลงชื่อในเอกสารเพื่อแลกกับการปล่อยตัวนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ และกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายนั้นต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน ปราศจากฐานอำนาจทางกฎหมายที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อันอาจก่อความเสียหายมากยิ่งขึ้น จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงข้อสงสัยและดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2. ยุติการนำตัวผู้ต้องสงสัยจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร ไปควบคุมตัวในพื้นที่จังหวัดยะลาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ใช้กลไกตามกฎหมายปกติในการสอบสวนและดำเนินคดี

3. ขอให้ดำเนินการสอบสวนหาบุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวญาติผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูลโดยไม่มีการแสดงตัว ไม่เปิดเผยสังกัดและสถานที่ และบังคับให้ลงชื่อในบันทึกการสอบถาม

สอง ขอความเป็นธรรมกรณีอับดุลเลาะได้รับบาดเจ็บในค่ายทหารจากข่าวที่นายอับดุลเลาะเข้าห้อง ICU ในขณะที่กำลังถูกซักถามในค่ายทหาร กำลังเป็นข่าวที่คนชายแดนใต้ต้องการทราบมากที่สุดไม่แพ้ข่าวระเบิด

เป็นที่น่ายินดีว่า ทนายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ (แบลัน) ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นำตัวแทนครอบครัวเขายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา

จากการเปิดเผยของทนายอาดีลันระบุว่า “ใจความหนังสือ โดยสรุป ข้าพเจ้านางซูไอยะห์ มิงกะ ภรรยาอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ขอยืนยันร่างกายสามีแข็งแรง ประกอบอาชีพก่อสร้าง ทำงานสุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่คุมตัว สามีหมดสติเข้าโรงพยาบาล ครอบครัวยากลำบากขาดรายได้ ขอนายกฯ ให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว…”

ไม่ว่าความเป็นจริงว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เข้า ICU เพราะอะไรก็แล้วแต่ สปิริตรัฐไม่ใช่ตั้งเพียงคณะกรรมการกลางตรวจสอบเรื่องนี้เท่านั้น สิ่งที่รัฐดำเนินได้เลยคือการเยียวยานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ญาติเขา และสั่งตรวจสอบว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชา คนที่ซักถามนายอับดุลเลาะช่วงนำมาค่าย ตรวจร่างกายระหว่างเวลา 21.00-3 นาฬิกาของอีกวัน ว่ามีการบันทึกหรือไม่อย่างไร

การบอกว่ากล้องวงจรปิดไม่ทำงานช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความไม่มีมาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมในการซักถาม

หรืออาจอนุมานได้ว่าก่อนหน้านี้จะมีมาตรฐานหรือไม่อย่างไร ควรจะต้องปฏิรูปกระบวนการซักถามในค่ายนี้ (ได้แล้ว) นายกรัฐมนตรีเองก็ต้องรีบสั่งการตามหนังสือร้องเรียนจากภรรยานายอับดุลเลาะทันที

ไม่ใช่รีบตอบปกป้องเจ้าหน้าที่ในสภาวันก่อน อันแสดงถึงการขาดวุฒิภาวะด้านกระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้นำประเทศ

สาม ปัญหาการสร้างความเจริญโครงการที่กระทบวิถีชีวิต

ปัญหาการสร้างความเจริญโครงการที่กระทบวิถีชีวิตซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากระหว่างความเจริญ และการกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการอย่างน้อย 3 โครงการที่ยังไม่ลงตัวตามทัศนะประชาชน

เช่น การขุดลอกทุ่งพรุลานควาย บ้านทุ่งน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี แม้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะรีบสั่งระงับเพื่อทำเวทีประชาคมใหม่ก่อน หลังชาวบ้านโวยออกสื่อ ซึ่งชาวบ้านยังไม่มั่นใจพอ เพราะกลัวว่าสิ่งที่ผู้ว่าราชการสั่งให้ทำเพื่อลดกระแสก่อนนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่

โครงการที่สอง การสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งกลุ่มชาวบ้านทำหนังสือจะยื่นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่สามารถยื่นถึงมือนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งพร้อมจะเป็นปัญหาต่อไปหากรัฐไม่รีบแก้ปัญหา

โครงการที่สามที่กระทบวิถีคนอำเภอจะนะมากที่สุดคือการอนุมัติทิ้งทวน ครม.ชุดที่แล้วเรื่องจะนะเมืองอุตสาหกรรมยั่งยืน และน่าจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่สุดที่รัฐต้องรีบวางแผนการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม

นี่คือความท้าทายนายกรัฐมนตรีประยุทธ์หลังลงพื้นที่ชายแดนใต้

หากรัฐสามารถใช้ช่องทางการเมืองที่มีทั้ง ส.ส. 11 คน ส.ว. 5 คน มาร่วมหาทางออกโดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่มาแก้ปัญหาร่วมกันโดยถือว่ามันเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนการทหารนั้นขอให้ลดบทบาทเป็นการหนุนเสริมตามฝ่ายพลเรือนและการเมืองกับภาคประชาชน

น่าจะเกิดสันติภาพหรือลดความรุนแรงได้มากขึ้น