ศัลยา ประชาชาติ : ประกันราคายางหืดขึ้นคอ แก้ปัญหา 3 โล 100 หวั่นรัฐถังแตก

โครงการประกันราคายางพาราตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังถูกแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกรของรัฐบาลกำลังสร้างความกังวลให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในแง่ที่ว่า จะหาเงินงบประมาณจากไหนมาดำเนินโครงการใน 5 พืชเกษตรหลัก ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน-ยางพารา-ข้าว-มันสำปะหลัง และข้าวโพด

เพราะจากการประเมินพื้นที่เพาะปลูก 50-60 ล้านไร่ทั่วประเทศ แม้จะไม่ประกันทั้งหมด แต่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดว่ารัฐบาลจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

พร้อมกับเตือนรัฐบาลว่า โครงการประกันรายได้ไม่สามารถยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตรได้ หรือเป็นคนละเรื่องกับการยกระดับราคาสินค้าเกษตรนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีในส่วนที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต่างก็เริ่มเดินหน้า “ผลักดัน” โครงการประกันรายได้เกษตรกรทันที จากข้อเสนอในนามคณะทำงาน 3 ฝ่าย (รัฐ-เอกชน-เกษตรกร) ชาวสวนปาล์ม มาจนกระทั่งถึงการจัดประชุมในลักษณะเดียวกันนี้กับบริษัทผู้ส่งออก (5 เสือการยาง)-ชาวสวนยาง และการยางแห่งประเทศไทย ในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้นำเสนอโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยางต่อที่ประชุม โดยอ้างราคาแผ่นดิบคุณภาพดี ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ประสบกับปัญหาราคายางลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาเฉลี่ยในปี 2560 ที่ 58.63 บาท/ก.ก. มาถึงปี 2561 ลดลงเหลือ 41.83 บาท/ก.ก. หรือลดลงร้อยละ 28.65 บาท/ก.ก. ขณะที่ราคาซื้อขาย ณ ตลาดท้องถิ่นปัจจุบันใกล้เคียงกับราคา 3 ก.ก. 100 บาทเข้าไปทุกทีแล้ว (ยางแผ่นคุณภาพดี ณ วันที่ 14 สิงหาคม ราคา 40.47 บาท/ก.ก.)

แน่นอนว่าระดับราคายางที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปีได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้ใช้วิธีช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินตรงให้กับชาวสวนยาง 1,800 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่

แต่เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียว ในขณะที่การยางแห่งประเทศไทยได้เสนอรูปแบบโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการ “ประกันราคา” ให้ชาวสวนยาง “เฉพาะ” ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 999,065 ราย คิดเป็น พ.ท.เปิดกรีด 9,448,447 ไร่

โดยอ้างอิงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่า ก.ก.ละ 60 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่

 

การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกัน (ไม่ต่ำกว่า 60 บาท/ก.ก.) กับราคาอ้างอิง (กำหนดตามเกณฑ์อ้างอิงในอนาคต) ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ชาวสวนยางพารา (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย) ในวันที่ชาวสวนยางพาราขอใช้สิทธิ์ประกันรายได้ตามอัตรา คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิง ได้กำหนดเดือนละ 1 ครั้งด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีชาวสวนยางพารา โดยโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยางจะมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563

หรืออธิบายง่ายๆ ได้ว่า โครงการนี้จะจ่ายเงิน “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิงให้ชาวสวนยางเดือนละ 1 ครั้ง ตลาดอายุโครงการ 7 เดือนจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ชาวสวนยาง 5 ครั้ง หรือเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ตลอดทั้งโครงการทางการยางแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องใช้งบประมาณในวงเงินรวมทั้งสิ้น 16,927,337,875 ล้านบาท โดยชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ (อย่าลืมว่าจะจ่ายให้เฉพาะชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยเท่านั้น) จะนับจากปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยางที่ซื้อขายผ่านตลาดกลางยางพาราหรือตลาดเครือข่ายของ กยท. กำหนดราคาอ้างอิงตามราคายางที่ประกันรายได้แต่ละชนิด ได้แก่

ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาประกัน 60 บาท/ก.ก., ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 58 บาท/ก.ก., น้ำยางสด (DRC 100%) 56.50 บาท/ก.ก. และยางก้อนถ้วยหรือยางเครฟ (DRC 100%) 50 บาท/ก.ก. ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่เปิดกรีดคำนวณจาก 2 ก.ก./ไร่/วัน/เดือน แต่ไม่เกินรายละ 15 ไร่

ทว่าทันทีที่ข้อเสนอในโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยางของ กยท.ถูกนำเสนอในที่ประชุม 3 ฝ่าย (เอกชน รวม 5 เสือการยาง-ชาวสวนยาง-ตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง) ก็เกิดการ “ถกเถียง” กันขึ้นมาทันที

โดยฝ่ายชาวสวนยางเห็นว่า โครงการนี้จะจ่ายเงินประกันให้เฉพาะชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. แต่ยังมีชาวสวนยางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท.อีกเป็นจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนยางและพื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะทำอย่างไร

แน่นอนว่าชาวสวนยางพวกที่ไม่ได้รับสิทธิ์กลุ่มนี้ต่างก็มี “เสียงดัง” ทางการเมืองและมีความหมายต่อพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน

 

ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากกระทรวงเกษตรฯ ต่างก็กังวลถึงเรื่อง “เงินงบประมาณ” ที่จะนำมาใช้ในโครงการมีแนวโน้มจะ “บานปลาย” มากไปกว่าที่ กยท.ประมาณการกันไว้ เนื่องจาก “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง “อาจจะ” สูงไปกว่า 20 บาท/ก.ก.จากข้อเท็จจริง 2 ประการคือ ยางเป็นสินค้า Commodity ราคาในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปชั่วข้ามคืน (ราคาอ้างอิงประกันเดือนละ 1 ครั้ง) ย่อมไม่ทันต่อสถานการณ์

บวกกับความกลัวที่จะถูก “กลุ่ม 5 เสือการยาง” ในประเทศ ซึ่งต่างรับรู้กันดีว่าถูก “นักลงทุนจีน” เข้าซื้อกิจการทั้งทางตรงและทางอ้อมไปหมดแล้ว หากกลุ่ม 5 เสือการยางและผู้ส่งออกยางในประเทศรายอื่นๆ ไม่ให้ความร่วมมือ แต่จ้องที่จะ “เล่นราคายาง” ในตลาดอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ หยุดรับซื้อยางเสียเฉยๆ ก็จะส่งผลให้ราคายางในประเทศตกลงทันที สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลจะทำอย่างไร เนื่องจากจีนเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่สุดของโลก

ยังไม่รวมเรื่องของการถูก “สวมสิทธิ์เกษตรกร” หรือกรณีการ “แตกโฉนด” เพื่อขอรับเงินชดเชยจากโครงการ จนดูเหมือนว่าปัญหาก็จะวนเวียนกลับมาอีก

ในลักษณะที่ว่า รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณจากไหนมาใช้จ่ายในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นๆ เพียงเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองและไม่ได้เป็นการยกระดับราคาสินค้าเกษตรอย่างใดทั้งสิ้น