บทวิเคราะห์ | การปะทะกันของคนต่างรุ่น Clash of Generations

การปะทะกันของคนต่างรุ่น

ได้รับความสนใจและการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางทันที

เมื่อรอยเตอร์สได้เสนอบทสัมภาษณ์ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

เป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อต่างชาติครั้งแรก

นับตั้งแต่ไทยมีรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม

พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์ว่า

“ไทยกำลังต่อสู้กับสงครามลูกผสมซึ่งเป็นฝีมือของศัตรูที่ใช้ข่าวปลอมเพื่อทำให้วัยรุ่นไทยหันมาต่อต้านกองทัพและสถาบัน

การโฆษณาชวนเชื่อทางอินเตอร์เน็ตในยุคนี้ไม่ต่างจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในยุค 1970-1980

ภัยคุกคามในขณะนี้ก็คือข่าวปลอม มันเป็นเหมือนสงครามไซเบอร์

และเมื่อมันมารวมกับเหตุระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน มันจึงเป็นสงครามลูกผสม

เหตุระเบิดหลายครั้งที่เกิดขึ้นขณะที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 52 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรัฐมนตรีจากชาติมหาอำนาจมากมายเดินทางมาร่วมประชุมนั้นเป็นความตั้งใจที่จะบ่อนทำลายรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของไทย

ปัจจุบันศัตรูไม่ได้เปิดเผยตัวให้เห็นเช่นในอดีต

ดังนั้น เราต้องทำการปรับปรุงและพัฒนาองค์ความรู้ของเราใหม่

ต้องมีการจัดระบบหน่วยงานของเราและสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบและความมั่นคงของชาติ

ทั้งนี้ ไม่ขอระบุชื่อของผู้ที่สงสัยว่าอยู่เบื้องหลังกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อและการวางระเบิดที่เกิดขึ้น

แต่มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้

มีแนวนโยบายที่จะโฆษณาชวนเชื่อตรงไปยังคนที่มีอายุตั้งแต่ 16-17 ปี

และให้ความรู้คนกลุ่มนี้ด้วยข่าวปลอม

ตราบใดที่ผมยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ผมจะไม่ปล่อยให้ทหารล้ำเส้น หลังการเลือกตั้งกองทัพต้องถอนตัวออกไป ทหารจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และตราบเท่าที่ผมดูแลอยู่ จะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น

ขณะนี้กองทัพทำหน้าที่ตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถาบันเบื้องสูง”

 

คําให้สัมภาษณ์ดังกล่าว

ได้รับการตอบโต้จากนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ทันที

โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

ที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า พรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่งได้สร้างสงครามข่าวลวงต่อต้านกองทัพและสถาบันขึ้นมาเพื่อล้างสมองคนรุ่นใหม่

แม้ไม่ได้ระบุชื่อพรรค แต่อ่านแล้วปฏิเสธยากว่าหมายถึงพรรคอนาคตใหม่

เรื่องนี้สะท้อนปัญหาอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก ที่ ผบ.ทบ.พูดอยู่เสมอว่าจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง หลังการเลือกตั้งแล้วจะถอยออกจากการเมือง

เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดคือ “เรื่องการเมือง”

ถ้าทำตามมาตรฐานสากล ทำตามมาตรฐานประชาธิปไตย ผบ.ทบ.จะต้องไม่ให้สัมภาษณ์ชี้นำในเรื่องการเมืองอย่างที่ให้สัมภาษณ์ไป

ประเด็นที่สอง พล.อ.อภิรัชต์เข้าใจนิยามของคำว่า fake news ผิด

เพราะ fake news คือข่าวเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างทางการเมือง

ผมยืนยันว่าตั้งแต่ก่อตั้งพรรคขึ้นมา เราทำงานทางความคิดกับผู้คนในสังคม กับเยาวชน ไม่ใช่เรื่องข่าวเท็จข่าวลวงใดๆ ทั้งสิ้น

เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็มีวิจารณญาณในการประเมินในการตัดสินใจอยู่

จึงอยากให้ พล.อ.อภิรัชต์เข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ อย่าประเมินว่าเขาถูกปลุกปั่นยุยง

ตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่ต่างหากที่ถูก fake news แต่ก็พยายามอดทนไม่ดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราเชื่อว่าต่อให้มี fake news มากขนาดไหน สุดท้ายประชาชนคนไทยมีวิจารณญาณที่จะตัดสินได้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม

ประเด็นที่สาม ทัศนคติจากสิ่งที่ให้สัมภาษณ์มานั้นสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า Clash of Generations มากเกินไป

ผมยืนยันว่าการตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมานั้น เราต้องการรวบรวมคนทุกกลุ่มทุกพลังเพื่อออกจากความขัดแย้งเดิมๆ ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา แล้วเดินหน้าไปสู่อนาคต

อย่ากังวลใจไปกับความคิดของคนรุ่นใหม่

ผู้บัญชาการทหารบกเองก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง ความคิดของคนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่ากีดกันเขาออกไป อย่าผลักไสเขาออกไปเพียงเพราะว่าเขามาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

ผบ.ทบ.ควรจะทำงานร่วมกับเขามากยิ่งขึ้น แล้วพูดคุยเพื่อหาจุดร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วอนาคตของประเทศควรจะเดินทางไหน

ดีกว่าไปกล่าวโทษกันไปกันมาว่าใครถูกล้างสมอง ใครถูกยุยงปลุกปั่น ใครถูก fake news หลอกลวง

พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยมองกองทัพเป็นศัตรู

เพียงแต่เราไม่สนับสนุนให้กองทัพยึดอำนาจก่อรัฐประหาร

เราต้องการให้กองทัพปฏิรูปอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นกองทัพอาชีพ ทันสมัย ไม่ใช่กองทัพที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมือง

ประเทศไทยขาดกองทัพไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องการปฏิรูปให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยเท่านั้น

น่าสังเกตว่านายปิยบุตรกล่าวถึง Clash of Generations

ซึ่งหากแปลกันอย่างตรงๆ ก็คือ การปะทะกันของคนต่างรุ่น

ทั้งนี้ คำว่า Generations ภูเบศร์ สมุทรจักร ([email protected]) เคยนำเสนอบทความ “เจเนอเรชั่น จากเหง้าถึงแก่น”

ไว้ว่า

เจ้าตำรับของเจเนอเรชั่นศึกษาคือ Karl Mannheim เมื่อปี 2466 ได้นำเสนอบทความเรื่อง The Problem of Generation

ที่ชี้ว่า คนที่เกิดในรุ่นราวคราวเดียวกัน เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญๆ ร่วมกัน จะค่านิยม แนวคิด และพฤติกรรม คล้ายๆ กันได้

Mannheim เรียกว่าเป็น Collective persona

โดยเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ว่านี้ จะต้องใหญ่จริง แรงจริง และกว้างจริง ถึงจะทำให้คนทั้งรุ่นคล้ายกันได้

เช่น เจเนอเรชั่น X ที่อเมริกา จะต้องเหมือนกับเจเนอเรชั่น X ที่เมืองไทย เป็นต้น

Mannheim บอกว่าชีวิตคนเรามีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นตลอดชีวิต

กระนั้น เหตุการณ์ไหนที่จะบันดาลให้เกิดจริตเฉพาะของเจเนอเรชั่น หรือที่เรียกว่ามี “พิกัดเจเนอเรชั่น” (Generational location) นั้น Mannheim ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่

แต่นักวิชาการรุ่นหลังๆ บอกว่าคืออายุประมาณ 20 ปี เพราะเป็นเวลาที่คนเริ่มเข้าสู่นิติภาวะ ต้องคิด ต้องตัดสินใจหลายๆ อย่างเอง

เริ่มมีหรือลักษณะเฉพาะตัว ภายหลังกลายเป็นหลักง่ายๆ ว่าแต่ละเจเนอเรชั่นแบ่งกันช่วงละ 20 ปี

ความต่างของแต่ละเจเนอเรชั่น

อันเกิดจากการที่แต่ละเจเนอเรชั่นผจญกับเหตุการณ์สำคัญๆ มา แตกต่างกัน อาจนำสู่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นได้

เช่น ผู้ใหญ่มองเจเนอเรชั่นเด็กๆ จะออกไปในทางแบบ “ขบถ” หรือแปลกๆ เป็นประจำ

นำไปสู่ขัดแย้งตั้งแต่เล็กๆ

หรือขยายใหญ่โตเป็นการปะทะกันของคนต่างรุ่นได้

การปะทะกันของคนต่างรุ่น แม้จะเกิดขึ้นได้เสมอ

แต่ก็ควรควบคุมให้ดี ไม่ควรสร้างเงื่อนไขหรือไปขยายให้เป็นความขัดแย้งใหญ่

เพราะอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคมได้

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) โดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ได้นำเสนอบทความ “อานันท์มองอนาคตประเทศไทย ประชาธิปไตย และการปะทะกันของคนต่างรุ่น” เมื่อ 16 มิถุนายน 2562 เพื่อเป็นบทเรียนต่อการรับมือ “การปะทะกันของคนต่างรุ่น” (http://www.thaiihdc.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=2339:2019-06-16-11-36-17&catid=20:2557-06-25-06-56-43&Itemid=23Home > Articles > การบริหารการจัดการ > อานันท์มองอนาคตประเทศไทย ประชาธิปไตย และการปะทะกันของคนต่างรุ่น)

ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเป็นการสัมภาษณ์นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่ยอมรับว่ามีความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่เบื่อของเก่าๆ บางอย่างก็เบื่อในทางที่ถูกต้อง บางอย่างก็เบื่อโดยไม่มีเหตุผล

แต่ความเบื่อหน่ายมันมีทั่วโลกแล้ว

มันจะผิดจะถูก ทุกรัฐบาลต้องระวัง

เพราะความเบื่อหน่ายอันนี้ หรือความผิดหวังที่เขารู้สึกว่าเขาถูกทอดทิ้ง เขาถูกลืม ไม่มีใครสนใจเขา

มันจะเกิดปัญหาทางสังคม จะเกิดปะทะทางการเมืองได้

นายอานันท์ยืนยันว่า คนรุ่นผู้ใหญ่ ถ้าไม่เริ่มคุยกับคนรุ่นอายุน้อยกว่า ไม่รู้จักฟัง หรือฟังแล้วไม่ได้ยิน มีปัญหาแน่

“อย่างผม ผมก็รักพระเจ้าแผ่นดิน รักพระบรมราชวงศ์ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จงรักภักดี”

“แต่ผมก็สามารถคุยกับคนที่เขาไม่ได้จงรักภักดีถึงขั้นนั้น ผมคุยได้”

“ยกเว้นอย่างเดียว ถ้าเกิดเขามีความคิดที่จะล้มล้าง ผมไม่คุย ผมไม่คบด้วย”

“แต่คนที่บอกว่ามาตรา 112 จะแก้อย่างนั้น คุยกันได้”

“ผมชอบคุยกับคนที่เห็นไม่ตรงกันมากกว่าที่เห็นตรงกัน”

“คนเราอย่านึกว่าตัวเองเก่งที่สุด ฉลาดที่สุด หรือดีที่สุด เมื่อไรคุณหลงตัวเอง เมื่อนั้นก็ถึงหายนะ”

“ฝ่ายหนุ่มสาวก็อย่าหลงตัวเอง”

“ทางฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบันก็อย่าหลงตัวเอง”

“ผมเป็นคนมีความมั่นใจในคนรุ่นใหม่

“คนพวกนี้เขากล้าเสี่ยง ทั้งทางด้านการเมืองหรือธุรกิจ มันก็มีอันตรายอยู่เสมอ แต่ถ้าคุณไม่เสี่ยงบางอย่างคุณก็ไม่รู้”

“แต่ก่อนที่เราจะทำอะไร เราไตร่ตรองให้แน่นอนว่ามันมีข้อเท็จจริงถูกต้องไหม พื้นฐานความรู้ถูกต้องไหม ถูกตรรกะหรือเปล่า เหมาะสมกับเวลาหรือเปล่า หลังพิจารณาเหล่านี้เสร็จแล้ว น่าจะทำ ก็ทำไปเลย อย่าไปกลัวความล้มเหลวสิ ไม่มีความสำเร็จอันใดที่ทุกครั้งที่คุณทำต้องสำเร็จ 100%”

“เราก็เคยผิดพลาด แต่ผิดพลาดโดยบริสุทธิ์นะ ผิดแล้วเราก็ต้องเข้าใจ แล้วเราก็ต้องขอโทษ”

“ผมอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ไม่ถึงกับระบอบ เปลี่ยนแปลงเรื่องวิธีคิดมากกว่า ผมไม่อยากพูดถึงว่าจะเปลี่ยนแปลงจากซ้ายไปขวา จากสังคมนิยมไปประชาธิปไตย หรือจากประชาธิปไตยไปเป็น… ไม่ใช่อย่างนั้น ผมไม่สนใจเรื่องพวกนั้น ผมสนใจบุคคล ผมสนใจวิธีคิดเขา ถ้าเกิดคุณเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว มันจะเข้าใจอะไรอีกหลายอย่าง”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ สังคมไทย ถ้าเกิดเป็นสังคมโบราณจะมองว่าเด็กพวกนี้ไร้เดียงสา ไม่มีประสบการณ์ วิธีคิดนี้ต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะเด็กสมัยนี้ที่ผมเจอมีทักษะเก่งทั้งนั้น ผมต้องคุยกับพวกคุณ เพราะไม่อย่างนั้นผมไม่รู้อะไรเกิดขึ้นในโลกนี้บ้าง”

คําเรียกร้องของนายอานันท์ คือการต้องพูดคุยกับคนต่างรุ่น

ซึ่งสอดคล้องกับที่นายปิยบุตรเรียกร้องให้รับฟังคนรุ่นใหม่ อย่าผลักไสคนรุ่นใหม่ออกไป

ส่วน พล.อ.อภิรัชต์จะเห็นด้วยหรือไม่

หรือมองว่าคนรุ่นใหม่ล้วนเป็นเหยื่อการล้างสมอง ที่จะต้องขจัดออกไป

โอกาสที่จะเกิด Clash of Generations ก็สูง