นิธิ เอียวศรีวงศ์ | งานวันแม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ศิลปินผู้มีชื่อท่านหนึ่งยื่นคำขอแก่โรงเรียนทั้งหลายเนื่องในวันแม่ปีนี้ว่า เลิกเชิญแม่เด็กนักเรียนมานั่งให้ลูกกราบเสียทีเถิด เพราะเป็นการบีบคั้นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของเด็กที่ไม่สามารถนำแม่มาให้กราบต่อหน้าคนอื่นได้ (ด้วยเหตุใดก็ตามที)

เรื่องนี้เป็นข่าว เป็นบทสัมภาษณ์ เป็นความคิดเห็นที่ปรากฏในสื่อทุกชนิดมาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่โรงเรียน (และกระทรวงศึกษาฯ) ก็ไม่ได้หวั่นไหวสะทกสะท้านอะไร ยังคงดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ปัญหาที่น่าห่วงจริงๆ ในเรื่องการจัดงานวันแม่ของโรงเรียนจึงมีสองประการ หนึ่งคือราชการได้ทำให้โรงเรียนหยุดการเรียนรู้ไปนานแล้ว แต่เด็กๆ ก็ยังถูกบังคับทั้งทางกฎหมายและวิถีสังคมให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันที่ “ตายแล้ว” เป็นเวลานานๆ หลายกรณีเกิน 10 ปี

ประการที่สอง น่าเป็นห่วงกว่าเสียอีก ล้วงลงไปในย่ามภูมิปัญญาไทยปัจจุบัน อาจไม่รู้จักแม่มากไปกว่าที่ปรากฏในพิธีทำขวัญนาค ทั้งๆ ที่บทบาทของแม่ไทยในสังคมปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปจากแม่ในทำขวัญนาคไกลสุดกู่แล้ว แต่การ “ทำใจ” เพื่อรองรับความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกก็ยังเป็นเรื่องสำนึกบุญคุณและชดใช้ “หนี้บุญคุณ” เหมือนเดิม… อย่าลืมว่า หากบุญคุณเป็นเหมือนหนี้ มันต้องใช้หมดจนได้ เช่น ห่มผ้าเหลืองให้แม่ได้เกาะชายจีวรแล้ว

ก็ถือว่าเลิกแล้วต่อกัน

ผมไม่ได้หมายความว่าสำนึกอย่างลึกซึ้งและรุนแรงต่อพระคุณแม่จนน้ำหูน้ำตาไหล เป็นสิ่งไม่จำเป็นในยุคนี้แล้ว ในฐานะลูกเจ๊ก อย่างไรเสียผมย่อมเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าความกตัญญูเป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะประกอบกตเวทิตากรรมอย่างไรในโลกปัจจุบัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทุกทางเป็นไปอย่างรวดเร็วเสียจนกระทั่ง แม้แต่คนในสอง “เจน” หรือสองเช่นคนที่ต่อกัน ก็แปลกหน้ากันมากจนแทบจะพูดกันไม่รู้เรื่อง

หากงานวันแม่จะจัดขึ้นเพื่อฝึก “ใจ” เด็กให้มีสมรรถภาพในการทดแทนบุญคุณแม่ ถึงจะยืนยันพิธีกรรมเชิญแม่ให้เด็กกราบต่อหน้าฝูงชนต่อไป ก็ยังอาจปรับเปลี่ยนให้เด็กได้เรียนรู้การ “ให้” แก่คน “อื่น” ที่ไม่เหมือนตนเองได้ เช่น ชี้ให้เด็กเห็นว่า มีแม่จำนวนหนึ่งซึ่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ไม่สามารถมาร่วมงานกราบสาธารณะได้ และลูกจะมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอย่างไรที่ไม่มีแม่มาให้กราบ แต่เด็กอาจช่วยเพื่อนเหล่านั้นได้ด้วยการขอแม่ตนเองว่าไม่ต้องมา จนทำให้เด็กที่ไม่ได้ทำพิธีกราบสาธารณะมีจำนวนมากจนไม่มีใครรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

การให้แก่คนอื่นที่แตกต่างจากเรานั้น เป็นการฝึก “ใจ” ที่สำคัญในการทดแทนบุญคุณแม่ เพราะนับวัน “แม่” ก็จะแตกต่างจากเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้แต่จะเลือกหาของขวัญที่ถูกใจท่านก็ยากแล้ว อย่าว่าถึงให้อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่วัตถุเลย จะยิ่งยากขึ้นเพียงไร

แต่ถ้าไม่ยืนยันจะรักษาดราม่าของการทำขวัญนาคไว้ในการจัดงานวันแม่ ก็ควรเลิกพิธีกรรมกราบสาธารณะเสีย แล้วกลับมาคิดใหม่ว่าจะจัดงานวันแม่อย่างไร เพื่อให้ลูกและแม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข-ทั้งสองฝ่าย-ตลอดไป

แม่ไทยในทุกวันนี้ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไรบ้าง โดยไม่ได้ศึกษาภาคสนาม ผมหรือใครๆ ก็อาจบอกได้กว้างๆ ดังนี้

แม่ไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างเหงาและโดดเดี่ยว

ครอบครัวเดี่ยวในเขตเมือง ทำให้แม่อยู่ห่างจากเครือญาติของตน ในสมัยหนึ่งสลัมเคยดึงเอาคนในเครือญาติเดียวกันเข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชน แต่ปัจจุบันสลัมเปลี่ยนเป็นกลุ่มบ้านเช่าราคาถูก ทำให้ชุมชนเครือญาติกระจัดกระจายกันออกไป

แม่ที่ไม่ได้ทำงานตกอยู่ในวงล้อมของเครือข่ายของสามี ในขณะที่ไม่มีเครือข่ายของตนเองเหลืออยู่ ถึงแม่ที่มีงานทำ “งานบ้าน” ก็กีดขวางมิให้ร่วมในเครือข่ายของตนเองอย่างใกล้ชิดได้มากนัก แม้แต่ในหมู่ “แม่ๆ” ด้วยกัน

“งานบ้าน” ซึ่งกลายเป็นภาระของผู้หญิงฝ่ายเดียวค่อนข้างมาก ยังทำให้แม่ไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ละครทีวีกลายเป็นการพักผ่อนเกือบจะเพียงอย่างเดียวของแม่ส่วนใหญ่ ผมอยากแปลการพักผ่อนตรงนี้ว่า distraction ซึ่งนักจิตวิทยาต่างเห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่งานประจำปรกติในชีวิต เช่น พยายามทำความเข้าใจพุทธธรรมหรืออริสโตเติล หรือหัดเล่นดนตรีก็เป็นการ “พักผ่อน” เหมือนกัน แต่ลองย้อนกลับไปคิดถึงการศึกษาไทยตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย ได้ฝึกให้คนไทยหาทาง “พักผ่อน” เป็น ด้วยวิธีนานาชนิดมากไปกว่าละครทีวีหรือไม่

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า สังคมไทยไม่มีหรือแทบไม่มีการจัดองค์กรเพื่อกลุ่มกิจกรรม, กลุ่มความสนใจ, กลุ่มงานอดิเรกมากกว่าการ “กินแชร์” หรือเมาวันศุกร์ ฯลฯ โอกาสที่แม่จะได้ “พักผ่อน” ด้วยกิจกรรมร่วมในกลุ่มที่ตนสนใจจึงไม่มี เท่ากับโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายของตนเองก็ไม่มีไปด้วย นั่นคือเหตุผลที่คอร์สเรียนวิปัสสนาเฟื่องฟูในสมัยหนึ่ง จนกลายเป็นช่องทางหากำไรเชิงพาณิชย์มากขึ้นอย่างที่เห็นได้ในทุกวันนี้ เพื่อมุ่งขายแม่บ้านโดยเฉพาะ หรืออาจรวม “ญาติธรรม” ของสันติอโศกและ “กัลยาณมิตร” ของธรรมกายด้วยก็ได้กระมัง

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความโดดเดี่ยวจากลูกจากผัว ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่เคยคาดหวังได้ตามประเพณี

เฉพาะความโดดเดี่ยวเพียงเรื่องเดียว ก็ทำให้แม่จำนวนมากเครียดโดยไม่รู้ตัว, เศร้าและโกรธอยู่ลึกๆ เพราะไม่พอใจต่ออะไรแม่ก็ไม่รู้ จนในที่สุดก็ซึมเศร้าด้วยความโกรธเกลียดตนเอง

จะเห็นได้ว่า ปัญหาของแม่ผูกพันอยู่กับอะไรหลายอย่างในสังคมที่แม่ควบคุมไม่ได้ นับตั้งแต่สิทธิสตรีที่ไม่เท่าเทียมกับชาย, การแปรเปลี่ยนสู่สังคมเมือง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม, ความล่มสลายของการเกษตร, นโยบายรัฐที่ลำเอียงเข้าข้างทุนใหญ่เหนือผู้ประกอบการรายย่อย ฯลฯ

โรงเรียนควรเป็นสถานที่เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่แม่ต้องเผชิญอยู่เวลานี้ โรงเรียนควรเป็นสถานที่ซึ่งทั้งครู, นักเรียน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้เรียนรู้ร่วมกันว่า จะช่วยทำให้แม่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีที่สุดอย่างไร งานวันแม่คือสัญลักษณ์ของความสำนึกเข้าใจแม่ในสังคมสมัยใหม่ของไทย และทุกฝ่ายรวมทั้งตัวแม่เองจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรให้มีสุข และมีสมรรถนะในเชิงสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน

ส่วนสำนึกความรักความผูกพันต่อแม่ และความสำคัญของแม่นั้นวางไว้ก่อนเถิด เพราะจะมีหรือไม่มีวันแม่ มนุษย์ในเกือบทุกวัฒนธรรมก็มีสำนึกนี้อยู่แล้ว อาจจะต่างไปบ้างในวัฒนธรรมที่เด็กเป็นภาระของชุมชนที่จะดูแลร่วมกัน ซึ่งยังพบได้ในกลุ่มชาติพันธุ์บางแห่งจนถึงทุกวันนี้

แต่วันแม่ไม่ใช่วันบวชนาค ดราม่าไม่มีความหมายอะไรนอกจากไว้ถ่ายรูป

อันที่จริงงานวันแม่ของประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อยกย่องแม่ที่เป็นบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อยกย่องและเตือนให้ระลึกถึงคุณค่าของ “ความเป็นแม่” และเยื่อใยความผูกพันระหว่างแม่กับลูกด้วย (ถ้าเน้นสองเรื่องนี้ ก็อาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนพร้อมด้วย หมายความความสัมพันธ์ทางเพศกับการพร้อมมีบุตรไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ถ้าเลือกทั้งสองอย่างก็ต้องแน่ใจว่ามีความพร้อมทั้งสองฝ่าย) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือยกย่องบทบาทของแม่มากกว่าตัวบุคคลซึ่งเป็นแม่

ขึ้นชื่อว่าบทบาท ก็ไม่เคยหยุดนิ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลง

แต่การยกย่องบุคคลคือแม่ของแต่ละคน เป็นช่องทางหากำไรอย่างดีแก่พ่อค้า ซึ่งผลิตสินค้าและบริการนานาชนิดออกวางตลาดในช่วงเทศกาลวันแม่ ความหมายของงานวันแม่จึงยิ่งแคบลง และโรงเรียนในเมืองไทยก็ตกเป็นเหยื่อพ่อค้าอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การให้นักเรียนเขียนการ์ดอวยพรให้แก่แม่ในวันแม่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกคือการแลกเปลี่ยนทางวัตถุเท่านั้น

แม่ให้นม ลูกให้การ์ด (หรือสินค้าอื่นๆ) แย่เสียยิ่งกว่าบวชให้แม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองหลายเท่า

แม่ของ Anna Jarvis ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เธอผลักดันจนวันแม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เริ่มความคิดเรื่องวันแม่ก่อนลูกสาวหลายสิบปี แต่แตกต่างจากวันแม่ของลูกสาวอย่างยิ่ง เธอต้องการให้วันแม่เป็นวันของ “แม่ๆ” ทุกคน และกิจกรรมสำคัญในวันแม่ของเธอก็คือ บรรดาแม่รวมกลุ่มกันทำประโยชน์ช่วยเหลือแม่ที่ยากลำบากกว่าพวกเธอ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วันแม่ในความคิดเดิมทีเดียว เป็นวันที่ชวนให้คิดถึงแม่ของคนอื่น ไม่ใช่วันกราบเท้าแม่ตัวเองโชว์ธารกำนัล

งานวันแม่ที่จัดในโรงเรียนทุกวันนี้ จึงสะท้อนคุณภาพของการศึกษาที่รัฐจัดด้วย นั่นคือไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่การคิดถึงคนอื่น และคิดแทนคนอื่น ซึ่งที่จริงคือรากฐานของศีลธรรม, สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์นั่นเอง