คนมองหนัง | “ชนชั้นปรสิต” ออกแบบได้!

คนมองหนัง

(เหมาะสำหรับผู้ชมภาพยนตร์แล้ว)

1-2 ปีที่ผ่านมา ซีรี่ส์เกาหลีเรื่องดังๆ ทางเน็ตฟลิกซ์ มักกล่าวถึงรอยปริแยกในหมู่ชนชั้นกลาง ผ่านปัญหาครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่วัยเกษียณกับลูกๆ วัยขึ้นต้นด้วยเลข 3 ที่ยังลงหลักปักฐานไม่ค่อยได้ ปัญหาความรักที่ไม่ราบรื่นเพราะปทัสถานและระบบคุณค่าบางอย่างในสังคม
ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นกลาง หรือระหว่างชนชั้นกลางระดับบนๆ กับชนชั้นกลางระดับกลาง-ล่าง

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เกาหลีซึ่งมีที่ทางหรือได้รับรางวัลตามเทศกาลหนังนานาชาติ ไล่ตั้งแต่ “Burning” (2018) มาจนถึง “Parasite” (2019) มักฉายภาพการปะทะพุ่งชนกันของ “ชนชั้นสูง” และ “ชนชั้นล่าง”

ที่ลงเอยด้วยความพินาศ ฉิบหาย เลื่อนลอย และว่างเปล่า

จินตนาการ (นามธรรม)-ปฏิบัติการ (รูปธรรม)

ชะตากรรมของตัวละครหลักใน “Burning” (กำกับโดย “อีชางดง”) และ “Parasite” (กำกับโดย “บงจุนโฮ”) ถูกขับเคลื่อนด้วยสายสัมพันธ์และความย้อนแย้งระหว่าง “ความคิดจินตนาการ” อันเป็น “นามธรรม” ในหัวของคนเล็กคนน้อย กับ “การกระทำ/ปฏิบัติการ” อันเป็น “รูปธรรม” ของพวกเขาในโลกความเป็นจริง

“หินภูมิทัศน์/หินนำโชค” คือวัตถุใจกลางหรือสัญลักษณ์สำคัญของ “Parasite” ซึ่งสะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่าง “จินตนาการ/นามธรรม” กับ “ปฏิบัติการ/รูปธรรม” ได้เป็นอย่างดี
ในทางกายภาพ หินดังกล่าวคือรูปธรรมอันหนักแน่น (ยิ่งตอนท้ายเรื่อง น้ำหนักของมันยิ่งปรากฏชัดเจน) ในทางนามธรรม “หินนำโชค” คือ ความหวัง ความฝัน ถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมของพ่อ-แม่-ลูกชาย-ลูกสาวตระกูลคิม ผู้เป็นชนชั้นระดับ “ใต้ถุนสังคม”

ณ ช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ ผู้ชมทั้งหลายย่อมตระหนักได้ว่าวิถีทางที่สี่พ่อแม่ลูกครอบครัวคิม ค่อยๆ ปลอมแปลง แฝงเร้น แทรกซึมเข้าสู่บ้านอันร่ำรวยของครอบครัวพักนั้น คือ การร้อยรัดปฏิบัติการ จินตนาการ รูปธรรม นามธรรม เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว

คนชั้นล่างกลุ่มนี้ไม่ได้คิดฝันเพ้อหวังกันเปล่าๆ แต่พวกเขาฉวยโอกาส-วางแผน-ลงมือทำงาน กันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในจังหวะเวลา และ/หรือความบังเอิญ อันเหมาะสม

แม้ในช่วงครึ่งเรื่องหลัง พ่อแม่ลูกตระกูลคิมจะเริ่มเผชิญหน้ากับสภาวะ “ผิดแผน”
แต่นั่นก็คือสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนคนดูให้ไม่เผลอหลงลืมไปว่าสัมพันธภาพระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” นั้น มิได้มีเพียงความสอดคล้องลงรอย หากยังย้อนแย้งซึ่งกันและกันด้วย

ทั้งหมดสะท้อนผ่านการ “คิดผิดทำผิด” เป็นระลอก จนต้อง “คิดใหม่ทำใหม่” เพื่อแก้ไข/หลบหนี (รวมทั้งเพิ่มเติม) ปัญหา

น่าเศร้าใจว่า ขณะที่บัณฑิตสาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ผู้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างอย่าง “จงซู” ใน “Burning” มีโอกาสได้ปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองแบบสุดขั้ว ด้วยการระเบิดพฤติกรรมบางอย่าง ณ ตอนจบของหนังเรื่องนั้น

ในบทปิดฉากของ “Parasite” “คิมกีอู” หนุ่มอันเดอร์ด็อกผู้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย กลับต้องหวนคืนสู่ “ใต้ถุนสังคม” แห่งเดิม แล้วทำได้เพียงคิด-ฝันลมๆ แล้งๆ ต่อไป โดยยังไม่รู้ว่าตนเองจะลงมือสานฝันให้สำเร็จได้หรือไม่ อย่างไร

นี่เป็นความหวังอันพวยพุ่งอยู่ท่ามกลางภาวะสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด

จาก “ก้อนหิน” สู่ “กลิ่น-รหัสมอร์ส”

อีกสองสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้ “ก้อนหินนำโชค” คือ “กลิ่น” และ “รหัสมอร์ส”
หัวหน้าครอบครัวมั่งมีอย่าง “คุณพัก” และลูกชายคนเล็กของเขา สามารถสัมผัสได้ถึง “กลิ่นเฉพาะตัว” (กลิ่นเหม็นสาบคนจน) ของคนตระกูลคิม

นี่เป็นความแปลกแยกที่ลอยมากระทบจมูกของคนรวยบางรายในบ้านพัก แม้พวกเขาอาจ “จับต้อง” มันไม่ได้ก็ตาม

น่าตลกร้าย ที่การตระหนักรู้ในสภาวะซึ่ง “จับต้องไม่ได้” อย่าง “กลิ่น” กลับกลายเป็น “ความรู้จริงๆ” ประการเดียว ที่คนบ้านพักมีเกี่ยวกับครอบครัวคิม

และ “การได้กลิ่น” ของคุณพัก ก็นำไปสู่การระเบิดพฤติกรรมรุนแรงของ “คิมกีแท็ก” ผู้พ่อ ซึ่งก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอัน “จับต้อง” ได้

การรับ-ส่ง “รหัสมอร์ส” ระหว่าง “คนด้านล่าง” กับ “คนด้านบน” ใน “Parasite” ก็น่าสนใจ
นี่คือการครุ่นคิด-ตีความ-ลงมือทำ ที่หลอมรวม “จินตนาการ” เข้ากับ “ปฏิบัติการ” และลงเอยด้วยการมีสัมฤทธิผล คือ สามารถ “ส่งสาร-รับสาร” ได้

น่าเสียดาย ที่สัมฤทธิผลเหล่านั้นไม่เคยนำไปสู่ภารกิจอันสำเร็จสมบูรณ์ ณ เบื้องท้าย

คนจนแข็งขัน-คนรวยเฉื่อยชา

มิอาจปฏิเสธว่าชีวิตคนจน-คนชั้นล่างใน “Parasite” นั้นช่างกระตือรือร้นแข็งขัน (active) ทั้งในเชิงความคิดและการกระทำ

พ่อแม่ลูกตระกูลคิมคิดเยอะ-ทำแยะ ในภารกิจต้มตุ๋นคนรวยตระกูลพัก (ส่วนเรื่องถูก-ผิด และผลกระทบที่ตามมา เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

พวกเขาต้อง “ปากกัดตีนถีบ” เมื่อประสบปัญหาน้ำฝนเอ่อท่วม “บ้านชั้นใต้ถุนสังคม”
หรือเมื่อแผนการที่วางเอาไว้เริ่มผิดพลาด พวกเขาก็ต้องลงแรงบู๊ล้างผลาญกับคนยากไร้-คนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิต เหมือนๆ กัน

ตรงกันข้าม คนรวยบ้านพัก กลับคิดและทำอะไรน้อยมากๆ จนเข้าขั้นเฉื่อยชา (passive) อย่างน่าแปลกประหลาดใจ

พวกเขาประสาทแ-ก อ่อนไหว เก็บกด ไปวันๆ อีกทั้งยังถูกหลอกลวงง่ายดายเหลือเกิน แถมไม่รู้จักบ้านช่องที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่ว่องไวต่อสิ่งแปลกปลอม

คุณพักแลดูร่ำรวยจากธุรกิจที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เราก็ไม่เห็นเขาทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนั่งรถไปมา

แค่เจอฝนเทกระหน่ำแคมป์พักแรม ครอบครัวพักก็เผ่นกลับบ้านที่ “(คล้ายจะ) ปลอดภัย” ผิดกับครอบครัวคิมที่ต้องรีบวิ่งกลับลงไปเผชิญอุทกภัยบริเวณ “ใต้ถุนสังคม”
พ่อแม่บ้านพักพยายามลงมือจัดปาร์ตี้ฉลองวันเกิดให้บุตรชาย แต่มันก็พลิกผันเป็น “งานรื่นเริงอันล้มเหลว”

คนในครอบครัวพัก โดยเฉพาะคุณและคุณนายพักนั้นช่างแน่นิ่ง ไม่รู้เรื่องราว ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เสียจนคนอื่นๆ ซุบซิบ-พูดถึงพวกเขาได้เพียงในแง่มุม “นิสัยดี” กับ “ฐานะร่ำรวย”

ผู้ชมไม่มีโอกาสกระทั่งจะเห็นพวกเขาทำ “เรื่องเลวๆ” ด้วยซ้ำ (หนังไม่ยอมฉายภาพ-เปิดเสียง ให้เห็น-ฟังว่าพวกเขาไล่ “แม่บ้าน-คนขับรถเก่า” ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร ด้วยคำพูดแบบไหน)
สมาชิกรายเดียวในบ้านพักที่เหมือนจะกระตือรือร้นและรู้เดียงสากว่าคนอื่นๆ กลับกลายเป็นเจ้าหนูน้อย “ทาซง”

อย่างไรก็ดี “ทาเฮ” พี่สาวของ “ทาซง” นั้นเคยนินทา-วิจารณ์น้องชายเอาไว้อย่างตรงจุด ว่าหมอนี่น่ะเสแสร้งทำเป็นลึกซึ้ง ทำเป็นมีของ แต่จริงๆ ไม่ค่อยมีแก่นสารอะไรนักหรอก

การแต่งกายเป็นอินเดียนแดง บ้ายิงธนู กางเต็นท์กลางสายฝนบนสนามหญ้าเขียวขจี ของ “ทาซง” จึงเป็นการละเล่นแบบเด็กๆ (หรือเป็นนาฏกรรมว่างเปล่าที่ปรากฏบนจอกระจกใสกว้างขวาง) ซึ่งไม่ส่งผลอะไร

“ทาซง” อุตส่าห์ถอด “รหัสมอร์ส” ร้องขอความช่วยเหลือของสามี “แม่บ้านมุนกวัง” สำเร็จ แต่เด็กเช่นเขาก็มิอาจคิดแผนการหรือลงมือทำอะไรได้ต่อ

“ทาซง” ยังเป็นเด็กน้อยที่แสน “เปราะบาง” แค่เจอ “ผี” หรือ “คนแปลกหน้า” ผู้ไม่คุ้นเคย เขาก็หงายท้องสิ้นสติเสียแล้ว

ถ้าจะทดลองตีความให้ขยับขยายกว้างไกลกว่าภาพที่มองเห็น ลูกชายคนเล็กของบ้านพักอาจเป็นภาพแทน (หรือกรณีตัวอย่างอันสุดขั้วสุดทาง) ของสมาชิกที่เหลือในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมชนชั้น (บางส่วน) ของพวกเขา

ผมจึงค่อนข้างเห็นพ้องกับหลายๆ คน ที่เสนอว่า “ปรสิต” แท้จริงในภาพยนตร์เกาหลีเรื่องนี้ อาจเป็น “คนข้างบน” เช่น พ่อแม่ลูกตระกูลพัก ที่ไม่ทำอะไร ไม่ประสีประสา ไม่ทุกข์ร้อน แต่ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย บนความกระเสือกกระสนแร้นแค้นของ “คนข้างล่าง” เช่น ครอบครัวคิม

บ้านของสถาปนิก

“บ้านหรูหรา” ในหนังคือผลงานการออกแบบของสถาปนิกชื่อดังระดับอาจารย์ที่ขายมันต่อให้ครอบครัวพัก

บางที สถานะของ “สถาปนิก” ในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจมิได้หมายถึง “ผู้ออกแบบบ้าน” แต่หมายถึง “ผู้ออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจ” หรือ “ผู้ออกแบบสังคมการเมือง”

“อาจารย์สถาปนิก” ผู้ไม่มีตัวตนในหนัง ได้แปร “แนวคิด-จินตนาการ” บางอย่าง ให้กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างอันละเอียดลออซับซ้อน ที่พ่อแม่ลูกตระกูลพักเข้าไปใช้ชีวิตอยู่อาศัย

“บ้านหลังนี้” ได้รับการออกแบบ โดยเอื้อให้คนชั้นสูงสามารถใช้ชีวิตหรูหรา จมจ่อมอยู่กับภาพฝัน-ห้วงนิทรา-โรงละครกระจกใสอันว่างเปล่าเบื้องหน้า โดยไม่รู้เรื่องราว ไม่ทุกข์ร้อนอะไรบ้างเลย
แล้วสถาปนิกคนเดียวกันก็แอบออกแบบซอกหลืบใต้ดินที่ซุกซ่อนอยู่ตรงโลกคู่ขนานเบื้องล่างเอาไว้
“หน้าที่เบื้องต้น” (ในจินตนาการ) ของมันอาจเป็น “หลุมหลบภัยจากอาวุธสงครามของเกาหลีเหนือ” แต่ท้ายสุด คนยากจน คนตกอับ คนเล็กคนน้อย ก็ฉวยใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ซ่อนตัว เป็นที่ซุกหัวนอน เป็นแหล่งยังชีพอย่างกระเบียดกระเสียร และเป็นสนามเพลาะแห่งการกดขี่ขูดรีดกันเอง

“บ้านหลังนี้” เป็นอุปมาของ “เมืองใหญ่” ที่ย่านคนรวยซึ่งครอบครัวพักอาศัยอยู่ นั้นคือยอดพีระมิด ก่อนที่ทุกสรรพสิ่ง-สรรพชีวิตจะได้รับการจัดวางเรียงลำดับอย่างลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ จนถึง “ก้นบึ้งใต้ถุนสังคม” ของครอบครัวคิม

“บ้านหลังนี้” คืออุปลักษณ์ของสังคมเกาหลี และอีกหลายๆ สังคมทั่วโลก

การออกแบบบ้าน-เมือง-สังคม จึงเป็นการออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ-สภาพสังคมการเมือง ที่กำหนดให้ผู้คนต้องใช้ชีวิต-คิดอ่าน-ต่อสู้ต่อรอง ตามกรอบเกณฑ์แบบแปลนที่จัดทำเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ชนชั้นสูงกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจึงยังคงร่ำรวยต่อไปในโลกใบเดิม โดยไม่จำเป็นต้องรู้เขา รู้เรา รู้ชีวิต หรือเดือดร้อนกับโลกทุกข์ตรมภายนอก ส่วนชนชั้นล่างก็ยังต้องจมปลักอยู่ใน “ใต้ถุนสังคม” ที่เก่า และไม่อาจ/ไม่ควรก้าวล่วงออกมาจากพื้นที่-ขอบเขตนั้น

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็น “ชนชั้นปรสิต”

“บ้าน” โครงสร้างสังคม และการตรึงสถานภาพ-ชนชั้นของผู้คนเอาไว้ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ “ออกแบบได้” ไม่ต่างกัน