จิตต์สุภา ฉิน : ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา (แต่เป็นหุ่นยนต์)

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

อนาคตของการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกวันนี้เราก็ได้เห็นหุ่นยนต์ปะปนอยู่ประปรายในแต่ละวันของการใช้ชีวิต

อย่างหุ่นยนต์ที่คอยให้ข้อมูลหรือนำทางเราในสนามบิน

ไปจนถึงหุ่นยนต์ในโรงแรมที่นำส่งของมาให้เราถึงประตูห้องพัก

หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ได้มีการทำงานที่สลับซับซ้อน

ภารกิจของมันก็ดูง่ายแสนง่าย แต่หนึ่งในอุปสรรคของการนำหุ่นยนต์มาให้บริการมนุษย์ก็คือ บ่อยครั้งมนุษย์ไม่พร้อมอะลุ้มอล่วยให้พวกมันขนาดนั้น

ซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ในบางตำแหน่ง

อย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์เพื่อสแกนสินค้าตามชั้นวางของซึ่งเป็นงานที่น่าเบื่อสำหรับมนุษย์

หรือการให้หุ่นยนต์คอยตรวจสอบราคาสินค้าและบอกตำแหน่งของสินค้าที่ต้องการ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์ในการซื้อของที่ดีและราบรื่นขึ้น

แต่น่าเสียดายที่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คิดไว้

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์นำเจ้าหุ่นยนต์ชื่อดังที่มีโครงสร้างกายภาพคล้ายมนุษย์อย่าง Pepper ของญี่ปุ่นมาใช้ภายในร้านและให้ชื่อมันว่า Fabio

ในตอนแรกหน้าที่ของมันก็คือการคอยตอบคำถามลูกค้า

แต่เนื่องจากเสียงภายในร้านดังเกินไป ก็เลยทำให้มันทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก

ตอบคำถามผิดๆ ถูกๆ หรือตอบได้แค่แบบกว้างๆ ไม่ระบุเจาะจง

ภายในเวลาแป๊บเดียว Fabio ก็เลยตกกระป๋อง ถูกเตะออกไปยืนหน้าเศร้าอยู่ที่มุมแจกอาหารให้ลูกค้าชิม

ยืนเฉยๆ แจกอาหารก็ดูน่าจะไม่ใช่งานที่ยากอะไร ผลปรากฏว่ามันก็ยังทำได้ไม่ดีอีกเหมือนเดิมนั่นแหละ

พนักงานในร้านพบว่าลูกค้าเห็น Fabio ยืนอยู่ตรงไหน ก็มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยง เดินหนี ไม่เฉียดกรายเข้าไปใกล้

จนท้ายที่สุดหุ่นยนต์น่าสงสารตัวนี้ก็ต้องจบอาชีพการทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตไปอย่างน่าเศร้า

 

ผลสำรวจโดย Oracle NetSuite ระบุว่า ผู้บริโภคมากถึง 95% ไม่ต้องการที่จะคุยกับหุ่นยนต์หรือแม้แต่แชตบ็อตเวลาที่พวกเขาออกไปซื้อของที่ร้านค้าหรือสั่งซื้อของออนไลน์ก็ตาม ถ้าหากอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตและต้องเลือกระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์หรือการเดินไปหาพนักงานที่เป็นคน หุ่นยนต์ก็จะไม่ใช่ทางเลือกแรก

ในขณะที่มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่เคยบอกเอาไว้ว่า มนุษย์จะมีความเห็นอกเห็นใจให้แก่กัน เมื่อมนุษย์ทำงานผิดพลาด เรามีแนวโน้มที่จะเข้าใจถึงความบกพร่องนั้นๆ และให้อภัยได้ ในขณะที่เราไม่มีความรู้สึกแบบเดียวกันนี้ให้กับหุ่นยนต์ ถ้ามันทำงานล้มเหลว มันก็ต้องถูกกำจัดทิ้ง

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น การที่เราได้ยินข่าวหรือในบางกรณีก็ได้ประสบพบเจอกับตัวเองว่าหุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เรามองหุ่นยนต์ไปในทางลบด้วย

ไม่ว่าเราอาจจะมีอคติต่อหุ่นยนต์อย่างไร แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมันจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ

และหุ่นยนต์ก็มีข้อดีที่สามารถมาช่วยมนุษย์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างน้อยที่สุด หากมันสามารถทำงานที่มันถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ได้อย่างไม่มีอะไรผิดพลาด หุ่นยนต์ก็จะเป็นแรงงานที่ทำงานได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อย ไม่บ่น

งานที่ทำให้มนุษย์อย่างเราเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย และไม่ท้าทายด้านสติปัญญา อย่างการทำความสะอาด ยกของ หรือการพูดอะไรแบบเดิมซ้ำๆ ก็จะตกเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ แล้วคนอย่างเราก็ย้ายไปทำอะไรที่มันน่ารื่นรมย์กว่านั้นแทน

แต่จะทำอย่างไร ให้มนุษย์ไม่รู้สึกว่าหุ่นยนต์เป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิต

 

ปรากฏการณ์ที่หุ่นยนต์ทำให้เรารู้สึกขนลุกขนพองนั้นมีชื่อเรียกว่า uncanny valley ซึ่งใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกเวลาที่เราเห็นหุ่นยนต์ที่ดูเหมือนมีชีวิต

แต่กลับมีอะไรสักอย่างที่ผิดปกติและชวนให้เรารู้สึกสยองขึ้นมา

อย่างเช่น หุ่นยนต์ที่ทำเลียนแบบคนเป๊ะๆ แต่ทันทีที่มันขยับเท่านั้นแหละ มันก็ดูน่าสยองขวัญขึ้นมาทันที

อาจจะเพราะความที่มันเหมือนมนุษย์มากแต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งดวงตาที่ว่างเปล่าไร้วิญญาณ หรือการขยับร่างกายที่ไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ก็อาจจะทำให้สมองเราตีความไม่ถูก ไม่รู้มันคืออะไรกันแน่ และรู้สึกอึดอัดจนอยากจะเดินหนีได้

ปัญหาข้อนี้ก็ยังทำให้บริษัทผลิตหุ่นยนต์ทั้งหลายต้องเกาหัวแกรกๆ เพราะก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จอะไรตายตัวว่าหุ่นยนต์แบบไหนที่มนุษย์จะรับได้และรู้สึกสบายๆ ที่จะอยู่ร่วมห้องด้วย

ต่อให้รู้ว่าถ้าหากทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ได้มากที่สุดแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าเวลายิ้ม หรือเส้นผมที่ปลิวไสวอย่างเป็นธรรมชาติ ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้น

หลายบริษัทเลือกที่จะไปใช้หุ่นยนต์ที่ไม่เหมือนคนไปเลย เพื่อแยกแยะให้คนรู้สึกว่า นี่คือคน นั่นคือหุ่นยนต์

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราก็ไม่ได้รู้สึกแปลกปลอมอะไรกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องกลมๆ ที่วิ่งไปวิ่งมาในห้องจริงไหมคะ แถมยังคิดว่ามันน่ารักดี หรือบางคนอาจจะเรียกมันว่า “น้อง” ด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ชื่อดังจากภาพยนตร์อย่าง R2-D2 หรือ BB-8 ก็เป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่คนทั่วโลกตกหลุมรัก (ในขณะที่เราคงไม่อยากได้ C-3PO มาอยู่ในบ้านเดียวกันสักเท่าไหร่)

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ผู้สร้างหุ่นยนต์จะรู้ว่าถ้าหากทำหุ่นยนต์ให้เหมือนคน 100% ไม่ได้ คนก็จะไม่ยอมรับ

แต่ก็ยังอยากสร้างหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนคนออกมาอยู่ดี เพราะเชื่อว่าถ้าทำแบบนี้มนุษย์อย่างเราจะรู้สึกเข้าถึงหุ่นยนต์ได้มากขึ้น

บางบริษัทถึงกับต้องเริ่มลงมือออกแบบตั้งแต่กะโหลก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ผิวหนัง รูปแบบการหายใจเข้า-ออกในระหว่างพูด

เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถแสดงออกทางสีหน้าได้เหมือนมนุษย์มากที่สุด

 

หรืออาจจะสรุปง่ายๆ ก็คือ บริษัทผลิตหุ่นยนต์ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง

จะเทหมดหน้าตักเพื่อทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ให้ได้ทุกรูขุมขน

หรือจะหันไปเลือกทางของการสร้างหุ่นยนต์ให้ออกมาน่ารักและห่างไกลจากโครงสร้างทางกายภาพของคนไปเลยก็ได้

แต่ถ้าการออกแบบไปตกอยู่จุดใดจุดหนึ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองอย่างนี้ ก็คงจะไม่ยากเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ว่าจุดจบของหุ่นยนต์ตัวนั้นคงจะน่าเศร้าไม่แตกต่างจาก Fabio ผู้น่าสงสาร

ที่แม้จะหยิบยื่นอาหารฟรีให้ มนุษย์ก็ยังไม่เหลียวแล