บทวิเคราะห์ | “บิ๊กตู่” คุมเบ็ดเสร็จ ตร.-ดีเอสไอ เกมรุกการเมือง รบ.เสียงปริ่มน้ำ

ครม.ประยุทธ์ 2 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนบทบาทจากที่เคยควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จครอบคลุมจักรวาล มาเป็นควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ทำหน้าที่คุมกองทัพแทนพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เหลือเพียงรองนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว

ยังไม่พอ “บิ๊กตู่” ยังกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วยตัวเอง

แม้ ตร.จะขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ที่ผ่านมา “นายกฯ” มักมอบหมายให้รองนายกฯ ด้านความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบ

ดังนั้น ครั้งนี้จึงเรียกได้ว่า “บิ๊กตู่” คุมทั้งทหาร ตำรวจและดีเอสไอ เสมือนรวบหน่วยงานด้านความมั่นคงมาไว้กับตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ

ถือเป็นการกระชับอำนาจในรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ได้กำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคงเพียงสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลหนึ่งนั้น เพราะ “บิ๊กป้อม” ในวัย 74 ปี ทำงานหนักไม่ได้เหมือนก่อนเก่าแล้ว และที่ผ่านมาก็มักเงียบหายไปเป็นเวลานาน เพื่อรักษาตัวให้สามารถยืนหยัดอยู่คู่กับน้องรักได้ตลอดรอดฝั่ง ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็เป็นห่วงปัญหาสุขภาพของพี่ใหญ่อย่างมาก จึงไม่อยากให้ทำงานหนักอีกต่อไป และทั้งสองคนก็เข้าใจกันดี

เหตุผลหนึ่ง “บิ๊กป้อม” ถือว่า “อ่วม” แล้ว กับการรับผิดของงานในกระทรวงกลาโหมมาเป็นเวลา 5 ปี โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธของกองทัพที่ถูกวิจารณ์หนักถึงเหตุผลความจำเป็น กระทั่งถูกฝ่ายค้านหยิบมาโจมตีระหว่างการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ในอนาคตที่จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน “บิ๊กป้อม” ย่อมจะเจอศึกหนักกว่านี้ ฉะนั้น การปลีกตัวไป จึงจะดีที่สุด

เช่นเดียวกับงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้ที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” จะปูทางวางอำนาจไว้เป็นอย่างดี ทว่ากลับมีปัญหาติดขัดหลายประการ

โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เหมาะสม ทำให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่พอใจอยู่หลายครา

แน่นอน “บิ๊กตู่” ต้องเข้าไปจัดการปัญหาระบบแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจใหม่ เพราะเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าควรต้องปรับปรุง โดยอาจใช้ระบบเดียวกับทหาร และแน่นอนอีก “บิ๊กตู่” ทั้งในฐานะกำกับดูแลและในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องมีส่วนอย่างมากในการตัดใจวางตำแหน่งต่างๆ ใน ตร.

ปัญหาการแอบอ้าง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจคุมกระทรวงกลาโหมและตำรวจเอง เพราะที่ผ่านมามักมีคนแอบอ้างว่าเป็นนายทหารหรือตำรวจยศใหญ่ใน คสช.สนิทชิดเชื้อกับ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” เรียกรับผลประโยชน์ ซึ่ง “บิ๊กตู่” เองก็เคยพูดหลายครั้งว่า ได้รับการร้องเรียนมาว่าเจอการแอบอ้าง และถ้าจับได้ก็จะจัดการเด็ดขาด

“บิ๊กตู่” ต้องการปฏิรูปตำรวจให้เป็นรูปธรรม เพราะแม้รัฐบาลในยุค คสช.จะมีแผนการปฏิรูปตำรวจ กระนั้นกระบวนการปฏิรูปดังกล่าวก็เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไม่ลงลึกถึงวิธีการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงอยากลงไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

อีกทั้งการปฏิรูปตำรวจนั้น เป็นเรื่องที่มวลมหาประชาชน กปปส.เรียกร้องมาช้านาน เพราะในยุคหนึ่งเห็นว่าตำรวจเหมือนจะสนับสนุนระบอบ “ทักษิณ” จึงอยากให้ตำรวจได้ปรับปรุงตัวเสียใหม่ เอาให้ดีเหมือนทหาร ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

“บิ๊กตู่” รับปากมวลมหาประชาชนมาตั้งแต่เริ่มแรกที่รัฐประหาร โดยยืนยันว่าจะปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จ กระนั้นก็ยืดยื้อยาวนาน ไปไม่ถึงไหนเสียที

ในขณะเดียวกัน ประเด็นการปฏิรูปตำรวจนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชน เป็นธรรมดาที่จะเกิดความไม่ชอบใจกัน จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะการร้องเรียนว่าเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แก้ไขปัญหานี้ได้ ก็ย่อมจะได้ใจประชาชนเพิ่มขึ้น

สิ่งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 หากทำได้ดี ประชาชนก็พร้อมที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ และหากไม่มีความคืบหน้าใด รัฐสภาโดยเฉพาะ ส.ว.คนกันเอง ซึ่งเคยอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็จะทวงถาม สะกิดเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเหตุใดถึงไม่คืบหน้าเสียที

สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้เริ่มเดินเครื่องรอบ 2 บุกวัดพระธรรมกาย หาตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส พร้อมเร่งรัดและติดตามการสอบสวนคดีฉ้อโกงประชาชนและยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ต้องอย่าลืมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ซึ่งอยู่ในก๊วนกลุ่มสามมิตรพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ซึ่งผิดหวังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีไม่ลงรอยกับกลุ่ม กปปส.ในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ แม้หลายคดีของกลุ่ม กปปส.จะขึ้นไปอยู่ในชั้นศาลแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและอยู่ในมือดีเอสไอ

ในแง่หนึ่ง “บิ๊กตู่” ดึงดีเอสไอเข้ามาอยู่ในมือก็เพื่อป้องกันปัญหาที่จะปะทุขึ้นจากพรรคพลังประชารัฐ จากความบาดหมางของคน 2 กลุ่ม แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการที่ “บิ๊กตู่” ต้องการแสดงให้เห็นถึงความพยายามกระชับอำนาจ

ส่วนในแง่การปรับปรุงการทำงาน เมื่อ “บิ๊กตู่” ดึงทั้งตำรวจและดีเอสไอมาอยู่ในมือ จึงเลือกได้ว่าจะให้คดีใดอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เพราะที่ผ่านมาตำรวจและดีเอสไอมักมีปัญหาเมื่อเกิดคดีใหญ่ ว่าใครควรต้องรับไปดูแล ขณะเดียวกับดีเอสไอซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ใหญ่มาก แต่กลับรับงานเกินตัวและมักจะเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง รวมทั้งรับงานมากจนทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่รับผิดชอบไหว ทำให้มีคดีค้างอยู่เป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ เมื่อ “บิ๊กตู่” คุมทั้งตำรวจและดีเอสไอ จึงมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่านักการเมืองจากหลายค่ายที่ย้ายมา พปชร.นั้น ส่วนใหญ่มาด้วยเหตุผลและความจำเป็น เพราะเชื่อว่าเข้ามาแล้วจะอยู่รอดปลอดภัย ไม่ติดคุก เมื่อพ้นบ่วงกรรมก็พร้อมโบกมือลาทันที

การกระชับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหมือนสัญญาณเตือนกลายๆ ว่าแม้ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนยุค คสช. แต่อำนาจในกระบวนการยุติธรรมนั้นยังมีอยู่

เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ขู่ระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า มีคดีความนับพัน ขอให้ระวังตัวไว้ และการกระชับอำนาจครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า นั่นไม่ใช่แค่คำขู่ธรรมดา หากแต่มันจะมีผลจริง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง