พลเรือนในรัฐบาลทหาร “วิษณุ-ดอน” อยู่มา 5 ปี มีอะไรดี ถึงได้ไปต่อ ในรัฐบาลผสม 19 พรรค

อดีตรัฐมนตรีที่อยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 นับแต่จัดตั้งรัฐบาล กระทั่งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ้นสภาพลงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว ที่อยู่ยงคงกระพัน เห็นจะมีด้วยกัน 6 คน แบ่งเป็นทหาร 2 พลเรือน 4

ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ในส่วนนี้ สำหรับรัฐบาลใหม่ “ประยุทธ์ 2” ซึ่งเป็นส่วนผสมของ 19 พรรค มี 4 รัฐมนตรีที่ได้ไปต่อ คือ

1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหลือตำแหน่งเดียว รองนายกรัฐมนตรี

2. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตำแหน่งเดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3. นายวิษณุ เครืองาม ตำแหน่งเดิม รองนายกรัฐมนตรี

4. นายดอน ปรมัตถ์วินัย ตำแหน่งเดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นับเป็น 2 ทหาร 2 พลเรือน แต่ไม่แปลกถ้า “บิ๊กป้อม” และ “บิ๊กป๊อก” จะได้ไปต่อในรัฐบาลใหม่ของน้องรักใต้ร่มเงาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะอย่างที่ทราบดีว่า 3 ป.นั้นสนิทชิดเชื้อกันมานาน รักและนับถือกันมาตั้งแต่เป็นนายร้อย อยู่ร่วมเป็นร่วมตายกันมามากมายสารพัด ตลอด 5 ปีมานี้ นายทหารในคราบนักการเมืองทั้ง 3 ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ปกป้องกันด้วยดี ไม่ยอมให้ใครเป็นเป้าโจมตีอย่างโดดเดี่ยว

ทว่า 2 พลเรือนอย่าง “นายวิษณุ เครืองาม” และ “นายดอน ปรมัตถ์วินัย” มีอะไรดี ถึงได้ไปต่อในรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ในยุคที่มีนักการเมืองมากหน้าหลายตา จ้องครองเก้าอี้กันจ้าละหวั่น

สําหรับ “นายวิษณุ เครืองาม” ผู้ได้รับฉายา “เนติบริกร” นั้น เดิมทีคิดว่าตัวเองจะต้องหันหลังให้การเมืองเป็นแน่แท้แล้ว กระทั่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. โชคชะตาก็ได้นำพา 3 ปรมาจารย์นักกฎหมาย ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายวิษณุ หวนสู่การเมืองไทยอีกครั้ง โดยเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในองคาพยพ คสช.

รองนายกฯ มือกฎหมายในรัฐบาล คสช.ทำหน้าที่ได้อย่างดี เรียกว่าตอบโจทย์ทุกประการ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ประกาศ คสช.เกือบทุกฉบับ

มีกฎหมายที่ทำแล้วภาคภูมิใจอย่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

นายวิษณุเป็นผู้แนะนำให้ “บิ๊กตู่” แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

แม้จะมีข้อครหาในการใช้อำนาจอยู่มาก

ทว่าหลายเรื่องกลับมีผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น การใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย จนไทยถูกปลดจากธงเหลืองของสหภาพยุโรป

การใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ จนทำให้ไทยกลับมาอยู่ประเทศเทียร์ 2 เป็นต้น

เส้นทางการเข้าสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญของ “พล.อ.ประยุทธ์” นั้น นอกจากจะถูกรังสรรค์โดย “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว “นายวิษณุ” ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง กลั่นกรอง เพื่อความรอบคอบ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาในภายหลัง

เขามีส่วนสำคัญในการเลือกคนมาทำงานให้ตรงสเป๊ก “พล.อ.ประยุทธ์” เริ่มตั้งแต่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และ ส.ว. 250 คน

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “นายวิษณุ” เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับรัฐมนตรีในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เกือบทุกคน

กระทรวงใดมีปัญหาติดขัดด้านกฎหมาย เจ้ากระทรวงนั้นมักจะดอดเข้าพบนายวิษณุที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรึกษาหารือถึงทางออก

และด้วยความที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 เสนาบดีหลายคนจึงมาหานายวิษณุ เพื่อเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งรวดเร็วกว่าการแก้ไขปัญหาในระบบปกติหลายเท่าตัว

นายวิษณุมีทางออกให้ทุกอย่างเสมอ หนึ่งในนั้นคือการใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” เก็บภาษีการซื้อขาย “หุ้นชินคอร์ป” กับนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันตรงกันว่าไม่สามารถทำได้ ทว่านายวิษณุกลับระบุ “รัฐกำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ด้วยอภินิหารทางกฎหมาย”

การทำงานตลอด 5 ปีมานี้ ทำให้ “นายวิษณุ” กลายเป็นเนื้อเดียวกับ คสช.อย่างแยกไม่ออก

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเลือกเนติบริกรผู้นี้มาร่วมงานในรัฐบาลใหม่ เพราะความสามารถของ “นายวิษณุ” นั้น นอกจากการรังสรรค์กฎหมายขั้นเทพแล้ว ด้วยความที่เป็นนักวิชาการ ยังมีความเชี่ยวชาญในการอธิบายเรื่องยากให้คนเข้าใจง่ายๆ

ขณะเดียวกัน ด้วยประสบการณ์ ยังสามารถอธิบายเรื่องง่ายๆ ให้คนงงจนตามไม่ทันอย่างแยบยล

“วาทศิลป์” ของ “นายวิษณุ” เป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐบาลใหม่ที่ใช้ระบบรัฐสภา เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าฝ่ายค้านจ้องอภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินงานทุกด้านของรัฐบาล คสช. โดยจะอภิปรายทั้งการทำงานและตัวบุคคล ซึ่งนอกจาก “นายวิษณุ” แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครที่พอจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ข้อครหาต่างๆ เหล่านี้ได้

ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” ก็ดูเหมือนจะแยกจาก “นายวิษณุ” ไม่ออก เพราะต้องอย่าลืมว่าการใช้อำนาจของ คสช.ในห้วงที่ผ่านมานั้น ฝืนต่อหลักกฎหมายหลายประการ เรียกได้ว่าหากไม่มีอำนาจพิเศษคอยคุ้มกัน ทุกอย่างคงพังลงตั้งแต่วันเริ่มต้น

และเมื่อไม่มีอำนาจพิเศษ เมื่อคนทั้งคู่ลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ยังจำต้องลงเรือลำเดียวกันต่อ จนกว่าจะสิ้นสุดการเดินทาง

เพราะการลงจากหลังเสือนั้น ใช่ว่าคิดอยากลงก็ลงได้ จึงต้องดูจังหวะ เวลา และโอกาส มิเช่นนั้นอันตรายย่อมถึงตัว

ส่วน “นายดอน ปรมัตถ์วินัย” เดิมทีเจ้าตัวแจ้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์แล้วว่าต้องการพักผ่อน หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการเดินสายไปต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง และคิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เก้าอี้ดังกล่าวนี้คงจะเป็นที่หมายปองอย่างมากของนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ

ประกอบกับเดิมทีคิดว่าตัวเองจะต้องมาช่วยงานรัฐบาลเฉพาะกิจแค่ชั่วคราว ไม่คิดว่ารัฐบาล คสช.จะลากยาวมาถึง 5 ปี ดังนั้น เมื่อรัฐบาลรัฐประหารสิ้นสภาพลง ตัวเองจึงควรปล่อยให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งได้ทำหน้าที่

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเลือกตั้งของไทยถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก กระทั่งล่วงมาถึงปี 2562 ที่ประเทศไทยต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมการประชุมไว้อย่างดี และเห็นว่าคงจะมีปัญหาเป็นแน่แท้ หากเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศกลางคัน ในขณะการประชุมกำลังจะเริ่มขึ้น

นั่นเป็นเหตุที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องขอให้ “นายดอน” อยู่ช่วยงานต่อ อย่างน้อยเพื่อให้พ้นปีนี้ ที่เราเป็นประธานการประชุมอาเซียนไปก่อน

เพราะการประชุมอาเซียนนั้น ว่ากันว่าจะไม่มีประเทศเจ้าภาพใดต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีกลางคันก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นไม่กี่เดือน

อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายดอนก็ได้เตรียมงานการประชุมไว้เป็นอย่างดี แทบไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างผู้นำครั้งแรก จัดขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 4 เดือน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ และระหว่างนี้ก็จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนอยู่ตลอดปี

เมื่อครั้งจัดโผ ครม. “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถึงกับยอมรับว่า ยากมากที่จะเบียดนายดอนขึ้นไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะนายดอนทำไว้ดีมาก

ขณะที่ “บิ๊กตู่” เปิดเผยภายหลังการประชุมอาเซียน 22-23 มิถุนายน ว่าได้รับคำชมเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของสถานที่จัดงาน บรรยากาศการประชุม อาหาร ฯลฯ

ส่วนการทำงานของนายดอนในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าไม่โดดเด่นมากนัก แต่ก็เป็นที่พอใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะประสบการณ์ด้านการทูตของนายดอนนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยไม่กลายเป็นเป้าโจมตีจากประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปมากนัก แม้จะมีแรงกดดันอยู่บ้างในระยะเริ่มต้นและทุกครั้งที่ไทยเลื่อนการเลือกตั้ง แต่หลายอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อไทยสามารถแก้ไขปัญหาจากการกดดันของสหรัฐและสหภาพยุโรปได้ ไม่ว่าจะเป็น ไอยูยู ไอเคโอ รวมถึงการค้ามนุษย์

ดังจะเห็นว่า แม้รัฐบาล คสช.จะอยู่ในอำนาจยาวนานถึง 5 ปี เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ใช้อำนาจจัดการกับผู้เห็นต่างมาแล้วหลายครา แต่กลับไม่ได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศมากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากยุทธวิธีทางการทูตแบบนายดอน

นายดอนยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” มีโอกาสเดินทางเยือนสหรัฐ จับมือประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่ผู้นำไทยเดินทางเยือนสหรัฐ

ส่วนแนวคิดทางการเมืองของ “นายดอน” นั้น สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับองคาพยพ คสช. ถึงแม้จะมีประสบการณ์เคยทำงานในประเทศเสรีนิยมมาช้านาน ทว่า “นายดอน” กลับมองการแก้ไขปัญหาการเมือง ที่ควรยึดความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก ส่วนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ถือเป็นเรื่องรอง

นายดอนย้ำเสมอว่า ต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์ของไทยดี จึงไม่มีประเทศใดติดใจการใช้อำนาจของ คสช.

สำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์” สิ่งที่ภาคภูมิในวันนี้คือการได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากอยู่ในอำนาจพิเศษ เป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐประหารมา 5 ปีเต็ม

การประชุมอาเซียนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ยังไม่นับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะยังอยู่ในรัฐบาลรัฐประหาร

แต่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ จะเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของ “บิ๊กตู่” ในฐานะนายกฯ จากการเลือกตั้ง เป็นประธานจัดการประชุมอาเซียน