อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (10) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

“ในนามของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงฤทธานุภาพและพระจิตอันศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้า ซอร์ จัวน่า อิซาเบล ซาน มาร์ติน เดอ ลา ซานติสสิม่า ทรินิแดด (Sor Juana Isabel San Martin de la Santisima Trinidad ) ผู้เกิดในเมืองแห่งนี้และมีอายุได้ครบ 23 ปี เป็นบุตรีที่ชอบด้วยกฎหมายของ ดอน มานูเอล เดอ ซานมาร์ติน และ ดอนญ่า อิซาเบล ฮิดัลโก้ ชาวเมืองบัวโนสไอเรส ผู้มีสภาพร่างกายปกติและมีจิตใจเปี่ยมด้วยเหตุผลอันเนื่องจากองค์คุณของพระผู้เป็นเจ้า และได้อบรมตนในฐานะผู้อ่อนหัดทางศาสนามาเป็นเวลาพอควรที่อารามซานตา คาทาลิน่า แห่งเซียนน่า ขอประกาศว่าข้าพเจ้าจะขอบวชเป็นชี อันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว และแม้ข้าพเจ้าจะถูกต้านทานและถูกทดสอบด้วยอุปสรรคนานาไม่ให้ข้าพเจ้าได้รับใช้พระเจ้าก็ตามที สิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนมีผลไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าขอประกาศว่าเจตนาที่จะละทิ้งโลกของปุถุชนไว้เบื้องหลัง”

คำกล่าวขอบวชของ ซอร์ จัวน่า อิซาเบล ซาน มาร์ติน เดอ ลา ซานติสสิม่า ทรินิแดด ในปี 1813

 

ดินแดนโลกใหม่นั้นเป็นดินแดนแห่งศาสนา และเป็นดินแดนแห่งศาสนาที่ขึ้นตรงต่อศาสนจักรโรมันคาทอลิกแต่เพียงแห่งเดียวด้วย ศาสนาคริสต์แทรกซึมไปในทุกส่วน ในทุกพื้นที่ สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทางผู้คน ทางเชื้อชาติ

นอกจากนี้ ศาสนายังเปิดพื้นที่ว่างให้กับเพศหญิงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในดินแดนยุโรป

ซอร์ จัวน่า อิซาเบล ซาน มาร์ติน เข้าสู่อารามคอนแวนต์ ซานตา คาทาลิน่า แห่งเซียนน่า ในปี 1813

เธอได้ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตในแบบเดียวกับที่หญิงสาวนับพันในโลกใหม่ได้เคยเลือกมาก่อนหน้า

ในฐานะของหญิงสาวจากชาติตระกูลดี เธอมีสองหนทางให้เลือก

หนทางหนึ่งคือการเลือกแต่งงานกับชายหนุ่มที่ครอบครัวจัดหามาให้

หนทางที่สองคือการเลือกเป็นเจ้าสาวของพระเจ้าในฐานะนักบวช

หญิงสาวส่วนใหญ่มักเลือกหนทางแรก

แต่มีหญิงสาวอีกมากมายเช่นกันที่ตัดสินใจเลือกหนทางที่สอง

ทำไมอารามจึงเป็นสถานที่สำคัญสำหรับหญิงสาวในโลกใหม่นัก?

มีชีวิตเช่นไรอยู่เบื้องหลังอารามนั่น?

อะไรคือแรงจูงใจของหญิงสาวเหล่านั้นให้ละทิ้งชีวิตทางโลก?

มีแรงผลักดันทางจิตวิญญาณเช่นไรที่ทำให้พวกเธอยอมซ่อนใบหน้าอยู่ใต้ผ้าคลุมสีดำไหม?

 

อารามนางชีในโลกใหม่ทำหน้าที่สำคัญสองประการ

ประการแรก มันเป็นดังสถานอบรมชนชั้นสูงที่มีญาติพี่น้องอยู่ในอารามก่อนหน้าแล้ว การชักนำญาติผู้หญิงเข้าสู่อารามในวัยเด็กเป็นดังการบ่มเพาะจริยาวัตรอันงดงามและผลักดันตระกูลของตนเองให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญทางศาสนา

ประการที่สอง อารามเป็นดังป้อมปราการปกป้องหญิงสาวไร้ญาติ แม่ม่าย ผู้ประสบปัญหาต่างๆ ให้ปลอดภัย ในโลกใหม่ที่หลายสิ่งยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นนอน อารามเป็นดังทางออกสำคัญที่ทำให้หญิงสาวเหล่านั้นมีหนทางรอดจากอันตรายทั้งปวง

คณะนางชีนั้นมาถึงโลกใหม่หลังจากการยึดครองดินแดนเหล่านั้นได้เบ็ดเสร็จไม่นานนัก อารามคอนแวนต์แห่งแรกนั้นอยู่ที่กรุงเม็กซิโกมีชื่อว่า นิวเอสตร้า ซินญอร่า เดอ ลา คอนเซ็ปชั่น ก่อตั้งขึ้นในปี 1540

สิบเก้าปีหลังจากที่ เฮอร์นัน คอร์เตซ ยึดครองอาณาจักรแอซเตค หรืออารามคอนแวนต์ที่ลิม่า เปรู ก่อตั้งในปี 1561

ยี่สิบหกปีหลังจากที่ ฟรานซิสโก้ ปิซาร์โร ก่อตั้งเปรูหลังถล่มอาณาจักรอินคา มีแต่ดินแดนที่รกร้างว่างเปล่าหรือเต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ทำให้การก่อตั้งอารามคอนแวนต์ล่าช้า

ยกตัวอย่างเช่น ที่ซานเทียโก้ ชิลี คอนแวนต์แห่งแรกก่อตั้งหลังการเกิดขึ้นของเมืองถึงเจ็ดสิบปี

ส่วนที่บัวโนสไอเรส นั้น คอนแวนต์แห่งแรกก่อตั้งหลังการเกิดของเมืองถึง 165 ปี

แต่พอถึงศตวรรษที่สิบแปด อารามคอนแวนต์ก็ปรากฏขึ้นแทบจะทุกเมืองสำคัญในดินแดนละตินอเมริกา

ความนิยมส่งลูกสาวเข้าสู่อารามนั้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนเพศชายที่ทั้งล้มป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บที่โจมตีดินแดนใหม่และจากภัยสงคราม

คอนแวนต์กลายเป็นทั้งโรงเรียนและที่พักพิงของหญิงสาวทั้งหลายในเวลาต่อมา

เมื่อถึงศตวรรษที่สิบแปด คอนแวนต์ก็แพร่หลายไปแทบทุกเมืองสำคัญ แทบทุกนิกายในศาสนจักรล้วนมีคอนแวนต์ในโลกใหม่ โดมิงนิกัน, คอนเซ็ปชั่น, คาริสซ่า, ซิสเตอร์เรียน, บริจิดาส ฯลฯ

พอถึงศตวรรษที่สิบเก้า เฉพาะเม็กซิโกเมืองเดียวมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นนางชีถึงเก้าร้อยคน และประมาณว่ามีนางชีในโลกใหม่เป็นจำนวนนับพันพันคน

อย่างไรก็ตาม มีการแบ่งอารามและหญิงสาวผู้บวชเป็นนางชีสองประเภทด้วยกัน

ประเภทแรกนั้นเรียกว่าพวกคาปูชิน (Capuchin) หรือนิกายเท้าเปล่าที่ผู้บวชไม่สวมรองเท้าและมุ่งทำงานกับคนจน คนพื้นเมืองเป็นหลัก

ส่วนอีกนิกายนั้นเรียกรวมๆ ว่า ชอด (Shod) ที่ผู้บวชสามารถใส่รองเท้าและมักอยู่แต่ในอารามเพื่อทำกิจแห่งการภาวนาเป็นหลัก

อารามแบบแรกจะมีสมาชิกในอารามราวสิบห้าถึงสามสิบห้าคนเท่านั้น

ในขณะที่อารามแบบที่สองจะมีขนาดใหญ่กว่าโดยจะมีสมาชิกในอารามระหว่างห้าสิบถึงหนึ่งร้อยคน

อารามที่มีขนาดใหญ่นั้นจะมีสมาชิกราวสองร้อยถึงสามร้อยคนและสมาชิกในอารามจะคลุมหน้าเสมอ

 

เมื่อแรกเข้าเป็นนางชีฝึกหัดนั้น เด็กสาวจะได้รับการตรวจความเชื่อทางศาสนาและแสดงเจตจำนงเสรีถึงการขอเข้าเป็นแม่ชีว่าไม่ได้เป็นไปโดยการถูกบังคับใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบต้องแสดงหลักฐานอายุ วันเวลาที่รับศีลจุ่ม และการมีสายเลือดที่บริสุทธิ์ อันได้แก่การเป็นคนผิวขาว ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เป็นบุตรตามกฎหมาย และไม่เป็นลูกผสมที่มีสายเลือดชนพื้นเมือง

เหตุผลข้ออื่นโดยเฉพาะการเป็นบุตรตามกฎหมายอาจได้รับการยกเว้นได้ (ในความจริงอารามคอนแวนต์มักเป็นที่พึ่งของผู้ที่ส่งบุตรนอกกฎหมายมาพำนัก)

ทว่า ในเรื่องของสายเลือดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อยกเว้น หากแม้พ่อหรือแม่มีสายเลือดปะปนจากชนพื้นเมือง คำปฏิเสธจะมีขึ้นในทันที

ระยะเวลาของการเป็นนางชีฝึกหัดนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละอาราม

บางอารามอาจกินเวลานานนับสิบปี แต่อย่างต่ำคือไม่น้อยกว่าหนึ่งปีสำหรับทดสอบการปรับตัวให้เข้ากับอาราม

เมื่อครบกำหนดเหล่านางชีฝึกหัดจะต้องถูกทดสอบด้วยการสอบความรู้ด้านศาสนา ด้านการภาวนา และด้านพฤติกรรมในอาราม

และเมื่อสอบผ่าน นางชีฝึกหัดเหล่านั้นจะเข้าปฏิญาญตนเพื่อออกบวชเป็นนางชีพร้อมคำมั่นสี่ข้อคือ

ข้อที่หนึ่ง จะยอมรับคำสั่งสอนและเชื่อฟังการตักเตือนจากนางชีผู้อาวุโส

ข้อที่สอง จะต้องปฏิญาณตนที่จะรักษาพรหมจรรย์

ข้อที่สาม จะต้องรับความโดดเดี่ยวในการใช้ชีวิตเป็นกิจกรรมสำคัญ

และข้อสุดท้าย คือการยอมรับความไร้ซึ่งทรัพย์สินและสิ่งของ

ทั้งสี่ข้อนี้เป็นดังกุญแจสำคัญต่อการได้กลายเป็นเจ้าสาวของพระเจ้า

 

อายุของหญิงสาวที่เข้าสู่อารามคอนแวนต์นั้นมีตั้งแต่ 26 ปี ถึง 45 ปี (ค่าเฉลี่ยเหล่านี้ไม่รวมถึงหญิงม่ายที่ตัดสินใจเข้าสู่อารามในภายหลัง) แม้ว่าโดยหลักทั่วไปจะอนุญาตให้หญิงสาวเข้าบวชเป็นนางชีได้ตั้งแต่อายุสิบสองปีก็ตาม แต่อายุที่น้อยที่สุดที่พบในบันทึกคือสิบหกปี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ได้แสดงให้เห็นว่าหญิงสาวที่เข้าสู่อารามมักพ้นวัยแต่งงานแล้วและทำให้เห็นว่าอารามคอนแวนต์คือคำตอบสำหรับผู้ที่ไม่อาจหาสามีที่เหมาะสมได้

ตัวปัญหาเศรษฐกิจเองก็เป็นปัจจัยหลักสำหรับการเข้าสู่อารามคอนแวนต์ ช่วงศตวรรษที่สิบแปดในบราซิล เมื่อกิจการน้ำตาลในดินแดนแถบนั้นประสบปัญหาขาดทุนย่อยยับ

ตัวเลขของหญิงสาวที่ถูกส่งจากครอบครัวเข้าสู่อารามมีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งที่ต้องนำติดตัวไปนอกเหนือจากความศรัทธาก่อนการเข้าสู่อารามคือเงินทองที่จำเป็นสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

เงินทองเหล่านี้แบ่งเป็นเงินแรกเข้าและเงินรายปีที่ครอบครัวของนางชีมักส่งมาสมทบในภายหลัง จำนวนเงินแรกเข้าในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดอยู่ที่ 2,000-3,300 เปโซ แม้ว่าจะมีบันทึกว่าหญิงสาวจากตระกูลใหญ่นางหนึ่งมอบเงินแรกเข้าให้อารามซานตา คาทาริน่า ในกุซโก้ สูงถึง 17,000 เปโซ ก็ตามที

จำนวนเงินเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามลำดับเมื่อถึงศตวรรษที่สิบแปดเงินแรกเข้าสู่อารามเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,000 เปโซเลยทีเดียว

แต่แม้ว่าเงินแรกเข้าเหล่านี้จะมีปริมาณสูง แต่เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องมอบให้ลูกสาวเมื่อจากบ้านไปยังครอบครัวของฝ่ายชายในพิธีแต่งงาน มันก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าอยู่ดี

นอกเหนือจากเงินแรกเข้าเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ครอบครัวของนางชีต้องเตรียมไว้ด้วยคือเงินสำหรับงานพิธีบวชขึ้นเป็นนางชี การจัดงานเลี้ยงต่างๆ เป็นไปอย่างเอิกเริก และเป็นเวลาหลายวันสำหรับครอบครัวใหญ่

ว่าไปแล้วพิธีบวชเป็นนางชีที่ไม่อาจลาออกได้ในแง่หนึ่งก็คืองานแต่งงานครั้งเดียวในชีวิตนั่นเอง

มาเรีย ลุยซ่า เดอ ซาน บาร์โธโลเม่-Maria Luisa de San Bartholome ที่บวชเข้าเป็นนางชีในอารามคอนแวนต์ คอนเซ็ปชั่น ที่ปูเอบ้า ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ได้จดเป็นบันทึกของเธอว่าครอบครัวของเธอต้องสูญเสียเงินในการจัดงานเฉลิมฉลองการบวชของเธอสูงถึงห้าพันเหรียญเปโซทองคำเลยทีเดียว

 

การสิ้นเปลืองเงินทองเช่นนี้ไม่ปรากฏในอารามนางชีเท้าเปล่าหรือพวกคาปูชินที่ทำงานกับคนยากจนและชนพื้นเมือง

ค่าแรกเข้าสำหรับอารามเหล่านั้นมีเพียง เตียง ผ้าปูที่นอน และของใช้จำเป็นส่วนตัวเท่านั้นเอง

ในอารามเหล่านั้นมักได้รับเงินอุดหนุนจากชาวบ้านในชุมชนนอกเหนือจากการที่อารามทั้งหลายล้วนครอบครองที่ดินที่มีผู้บริจาคและค่าเช่าที่ดินเหล่านั้นเองที่ช่วยหล่อเลี้ยงอารามคอนแวนต์ให้อยู่ได้

ตารางเวลาในอารามเป็นดังนี้

วันแต่ละวันจะเริ่มด้วยการสวดมนต์ร่วมกันตอนเที่ยงคืนที่โบสถ์ หลังจากนั้นเหล่านางชีจะได้รับอนุญาตให้กลับสู่ห้องพักของตนเองเพื่อพักผ่อนก่อนจะถูกปลุกให้ทำพิธีมิสซาร่วมกันอีกครั้งในเวลาห้านาฬิกา

หลังจากพิธีมิสซา จะเป็นการทานอาหารเช้าร่วมกันก่อนที่จะมีการสวดมนต์อีกครั้งในเวลาหกนาฬิกาครึ่ง

การสวดมนต์ครั้งนี้จะรวมการภาวนาไปด้วย

แปดโมงครึ่งถึงสิบเอ็ดโมง ทุกคนจะกลับสู่ห้องเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการชำระร่างกายหรือศึกษาพระคัมภีร์

สิบเอ็ดโมงสิบห้า เป็นเวลาอาหารเที่ยง ระหว่างการทานอาหารจะมีผู้รับผิดชอบอ่านพระคัมภีร์หรือบทสวดให้ฟัง

ในช่วงของการถือศีลก่อนเทศกาลอีสเตอร์ จะมีการสารภาพบาปร่วมกันระหว่างมื้ออาหารด้วย

หลังอาหารนับแต่เวลาเที่ยงถึงบ่ายโมงจะเป็นช่วงพักผ่อนซึ่งเปิดโอกาสให้นางชีอารามได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน

บ่ายสองโมง ทุกคนกลับไปที่โบสถ์เพื่อสวดมนต์ร่วมกัน

บ่ายสามถึงห้าโมง ทำกิจกรรมสำหรับอารามและมีการภาวนาควบคู่ไปด้วย

พอถึงเวลาหกนาฬิกาสี่สิบห้านาที จะเป็นเวลาทานอาหารเย็น

หลังอาหารเย็นเป็นการภาวนาร่วมกันถึงสองทุ่ม ก่อนที่ทุกคนจะได้รับการอนุญาตให้เข้าที่พัก