สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนรู้เรื่องเดิม จากหัวใจดวงใหม่ (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินไปอย่างคึกคัก

จนถึงภาคบ่ายวันที่สอง ห้องประชุมย่อยนำเสนอบทสรุป ได้เรียนรู้อะไรและจะไปต่อกันอย่างไร

ก่อนส่งผู้แทนขึ้นนำเสนอด้วยรูปแบบหลากหลาย ถ่ายทำเป็นวิดีโอคลิปฉายภาพขึ้นจอ แต่ละประโยคโดนใจ สะท้อนถึงความรู้ ความคิดใหม่ อารมณ์ ความรู้สึกที่กลั่นจากใจ

ตรึงผู้ชมได้ทั่วห้อง

 

“การขับเคลื่อนของ Q Goal Q PLc การทำข้อมูล Q Info อย่างเป็นระบบช่วยให้ครูปรับแนวคิดใหม่ในการสอน ทำงานร่วมกันแบบพี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ สร้างทีมงานของโรงเรียนให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ได้แนวทางของเพาะพันธุ์ปัญญา กระบวนการคิดหาเหตุผล ทำโครงงานฐานวิจัยนำไปใช้ปรับปรุงงานต่อไป เป้าหมายสูงสุดการพัฒนานักเรียน เกิดทักษะรอบด้านและสอดแทรกคุณธรรม ขยายเครือข่ายพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง” ครูคนแรกเริ่มบทสรุปของเธอ

ภาพใหม่ปรากฏขึ้นพร้อมเสียงสะท้อนคิดของครูตัวแทนกลุ่มสอง “ย้อนหลังไปวันที่มีการทำข้อตกลงทำโครงการร่วมกันที่โรงแรมแมนดาริน ผู้บริหารเป็นแม่ทัพที่สำคัญ ขุนทหาร ขุนศึกคือคุณครูของโรงเรียน ขอชื่นชม Q coach ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษา ช่วยเปิดใจผู้บริหารและครู โดยมี 5 มาตรการเป็นขุมทรัพย์ เป็นคัมภีร์นำให้เดินต่อ จะทำให้ดีที่สุดเพื่อพัฒนาต่อไป”

ตามด้วย โหนด 3 ครูนงลักษณ์จากลำปางเป็นตัวแทน เธอว่า “ได้เรียนรู้พัฒนาการบริหารที่ชัดเจน ระบบดูแลการทำงานโดยโค้ชภายใน ภายนอก ระบบหนุนเสริมที่ดี ได้วิธีการ PLC มีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียนเอาปราชญ์ชุมชนมาร่วมคิด ร่วมทำ การประเมินมีระบบชัดเจน ดูแลจริงจังและจริงใจจากจิตใจของครู พัฒนาการจัดการเรียนรู้มีคุณภาพด้วยตัวเอง ภายใต้บริบทของโรงเรียน การหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ ถ้าเดินถูกต้อง โรงเรียนมีคุณภาพแน่นอน” ครูมั่นใจ

ตัวแทนโหนด 4 จากสุรินทร์ “แนวทางของสควิป เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาผู้เรียนนั่นเอง เป็นโอกาสที่ดีมาก มาพบกันทั้ง 7 โหนด ได้แลกเปลี่ยนทำให้เติมเต็มมากขึ้น เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาไปใช้พัฒนาผู้เรียน แต่ละโหนดมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกัน มี PLC วงเล็ก วงใหญ่ มีเรื่องเล่า เช่น กิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน กิจกรรมลูกเสือนำมาใช้ เกิดวงสร้างสรรค์งาน พิชิตเรียน วงมหาสนุก ผลโอเน็ตเด็กเพิ่ม”

“ครูมีการ Re-Learn แต่เป็นการ “เรียนรู้เรื่องเดิมจากหัวใจดวงใหม่””

 

โหนดต่อไปจากกาญจนบุรี “ภาคีเครือข่ายมีความสำคัญมากในการจัดการศึกษา มีของดีๆ เช่น การสอนแบบประณีต จิตตปัญญาศึกษา ผู้บริหารตามต่อเนื่อง พัฒนาครูที่มีคุณภาพ ทำให้นักเรียนมีคุณภาพตามไปด้วย โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้บริหารต้องออกจากกรอบ ขณะที่ครูต้องเปิดใจกัน ลดความขัดแย้ง ก้าวต่อไป Next Step ต้องพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยไม่แยกส่วนออกจากสังคม บูรณาการทุกนโยบายให้กลมกลืน ลดเด็กที่หลุดจากระบบ ด้วยความเชื่อว่า “ไม่มีหินก้อนใดโง่” เราต้องดูแลเขา”

ผู้แทนห้องโหนดเพชรบุรีและชลบุรี สะท้อนบทสรุป “ใช้ PLC อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขับเคลื่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใช้ 5 Q อย่างเข้มแข็งกระตุ้นกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กปฏิบัติจริง สอนท่องจำบางทีทำจริงไม่ได้ ต้องเชื่อมความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ และดูแลนักเรียนรอบด้านทั่วถึงครบวงจร เรียนรู้ทั้งในเครือข่ายและข้ามเครือข่าย ทำงานเป็นทีม ไม่เป็นศิลปินเดี่ยว “ไปคนเดียวไปได้ไว จะไปได้ไกลต้องไปเป็นทีม””

ก้าวต่อไป ต้องทำให้ได้ 8 ข้อ เป้าหมายชัด มีวิธีการวัดประเมินผลชัดเจน มุ่งผลที่เกิดกับตัวผู้เรียนมากสุด ระบบดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง พัฒนาคุณภาพข้อมูลสารสนเทศ ไม่ปล่อยเด็กด้อยโอกาสให้ถูกมองข้ามไป ต้องดึงเด็กกลุ่มนั้นให้มีบทบาท เหมือนเด็กเก่ง มีความเท่าเทียม บูรณาการประกันคุณภาพภายในโดยไม่สร้างภาระให้ครู จัดกระบวนการเรียนรู้ มุ่งให้คิดวิเคราะห์ วัดความรู้ด้วยตัวเอง คิดนวัตกรรม

อย่างเพาะพันธุ์ปัญญาใช้คำถามให้นักเรียนหาคำตอบ ไม่มีถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตรองรับ

 

ครูกิตติวรรณ ตัวแทนโหนดเจ็ด สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต รับไมค์ต่อ “กระบวนการ PLC บ่งบอกว่าทุกคนมีความเก่งเป็นทีม ทำงานเป็นระบบ ทำให้งานก้าวหน้า เป้าหมายต้องชัด อย่าเหวี่ยงแห หาวิธีการทำไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องการอ่าน ใช้ข้อมูลสารสนเทศมาบริหารจัดการ ผู้บริหารอยู่คนเดียว เอาแต่สั่งการไม่ได้ ต้องให้โอกาสครูแบ่งปัน โมเดลทางการบริหารต้องเกิดจากทีมมีส่วนร่วม ผู้เรียนไม่ได้เน้นความรู้อย่างเดียว ต้องมีทัศนคติ มีนวัตกรรม ตามบริบทของเราเอง”

ผู้แทนห้องสควิปนำเสนอจบ เป็นคิวของห้องเพาะพันธุ์ปัญญาและศึกษานิเทศก์ “ที่เรามาเจอกันเป็นความลงตัว สควิปกับเพาะพันธุ์ปัญญามาคบกัน พาไปอยู่ในโรงเรียนจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ออกแบบโครงสร้างอย่างที่สควิปทำ ขณะที่เพาะพันธุ์ปัญญาพยายามสร้างกระบวนการคิดอย่างมีคุณภาพ เอาสองอย่างมาอยู่ด้วยกัน ทำให้เราแนะนำโรงเรียนได้ พัฒนาครูต่อเนื่อง ต้องใช้เวลา เร่งไม่ได้ คลังความรู้ที่เราบ่มเพาะลงไปไม่ใช่เน้นแต่เทคโนโลยี แต่เป็นการแก้ปัญหา ทำโครงงานต่างจากโครงงานวิทยาศาสตร์ทั่วไป เด็กออกแบบเอง คิดเองจากชีวิตจริง ภายใต้บริบทโรงเรียน บริบทชุมชน เอาไปต่อยอดได้ เชื่อมโยงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

“โครงการจบ แต่ครูจะใช้วิธีการนี้ต่อไป ครู ผู้เรียนเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการพัฒนาตัวผู้เรียนตลอดชีวิต”

ตัวแทนกลุ่มศึกษานิเทศก์สรุปปิดท้าย จะต่อยอดอย่างไร “ต้องมองเห็นคุณค่าทุกคนในโรงเรียน ดึงความดี ความเก่งของทุกคนออกมาแชร์ร่วมกัน เกิดทักษะกับตัวเอง พัฒนาอย่างเป็นกัลยาณมิตร นำความรู้ไปสู่ห้องเรียน ร่วมมือร่วมใจกันขยายผลสู่โรงเรียนอื่นได้อย่างแน่นอน”

การนำเสนอของทุกกลุ่มจบลง พิธีกรเชิญครูของครู ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเวที สะท้อนความเห็น ฟังแล้วได้อะไร และจะชี้แนะก้าวย่างต่อไปของโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องว่าอย่างไร ต้องติดตาม