ต่างประเทศ : อินเดีย กับความทะเยอทะยานสู่ดวงจันทร์

ความพยายามของประเทศอินเดียที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศ ประสบความสำเร็จในขั้นแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้ส่งยาน “จันทรายาน-2” ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ในภารกิจเพื่อส่งยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นประเทศที่ 4 ของโลก นอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกา จีน และอดีตสหภาพโซเวียต

ภารกิจยิงจรวดส่งจันทรายาน-2 ที่มีขึ้นที่ “ศูนย์อวกาศศตีศธวัน” บนเกาะนอกชายฝั่งรัฐอานธรประเทศ ต้องถูกยกเลิก 56 นาทีก่อนกำหนดปล่อยจรวดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลจากปัญหาเชื้อเพลิงรั่วไหล

ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ก่อนที่จรวดส่งจันทรายาน-2 จะทะยานขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในความพยายามยาวนานกว่า 50 ปีขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือไอเอสอาร์โอ

 

“จันทรายาน-2” มีน้ำหนัก 3.8 ตัน แยกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ออร์บิเตอร์ หรือยานโคจรรอบดวงจันทร์ 2.แลนเดอร์ ยานลงจอด และ 3.โรเวอร์ หรือรถขนาดเล็กสำหรับวิ่งสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ โดยชิ้นส่วนทั้งหมดนั้นผลิตขึ้นในประเทศอินเดียทั้งหมด

จันทรายาน-2 จะใช้เวลาเดินทางสู่วงโคจรของดวงจันทร์นาน 2 เดือน ก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งโคจรที่อยู่ห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ 100 กิโลเมตร จากจุดนี้ยานลงจอดที่มีชื่อว่า “วิกรม” ยานที่ตั้งชื่อตามผู้ริเริ่มโครงการสำรวจอวกาศของอินเดียอย่าง “วิกรม ศาราภัย” จะแยกตัวออกจากออร์บิเตอร์ ก่อนลดระดับลงจอดในพื้นที่ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์อย่างนิ่มนวล ช่วงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็น “ช่วงเวลาระทึกใจ” ที่สุดในภารกิจ

หลังจากนั้น รถสำรวจที่มีชื่อว่า “ปรัชญาณ” จะถูกส่งลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างและทดสอบธาตุและเคมีบนพื้นผิวผ่านการควบคุมระยะไกล โดยจะใช้เวลา 1 วันดวงจันทร์ หรือเทียบเท่ากับ 14 วันบนโลก

ส่วนออร์บิเตอร์นั้น จะทำงานในช่วงปี 2020 ในการสร้างแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์และศึกษาบรรยากาศชั้นนอกของดวงจันทร์ด้วย

 

โครงการอวกาศของอินเดียนั้นเป็นที่สนใจของโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงเวลาในการปล่อยยานจันทรายาน-2 ขึ้นสู่อวกาศนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการฉลองครบรอบ 50 ปีโครงการอพอลโล่ของสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ในขณะที่องค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซ่าของสหรัฐอเมริกาเองก็วางแผนที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ที่จะถึงนี้

อินเดียนั้นให้ความสำคัญกับโครงการอวกาศอย่างมาก โดยตั้งเป้าที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศให้ได้ภายในปี 2022

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนายนเรนทราโมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ขึ้นสู่ตำแหน่งก็แสดงให้เห็นถึงความต้องการให้อินเดียเป็นมหาอำนาจหลักด้านอวกาศ โดยหวังจะให้อินเดียเป็นมหาอำนาจในย่านอินโด-แปซิฟิกอย่างโดดเด่น

โครงการอวกาศของอินเดียประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้วในโครงการ “จันทรายาน-1” ที่มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์และส่งเครื่องมือตรวจสอบพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2008 สร้างผลงานค้นพบโมเลกุลของน้ำบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การส่ง “ยานวิกรม” ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ตามกำหนดในเดือนกันยายนนี้ มีความท้าทายมากกว่า “จันทรายาน-1” อยู่หลายเท่าตัว

ขณะที่อินเดียเตรียมร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (เจเอเอ็กซ์เอ) ส่งจันทรายาน-3 สำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2023-2024 นี้

 

ความทะเยอทะยานของอินเดียไม่ได้หยุดแต่แค่ดวงจันทร์เท่านั้น

ในอดีต เมื่อปี 2014 อินเดียกลายเป็นชาติเอเชียชาติแรกที่ส่งยานอวกาศไปไกลได้ถึงดาวอังคาร ด้วยการส่ง “มังคลายาน” โคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ โดยโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณเพียง 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่างบประมาณในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “กราวิตี้” ของฮอลลีวู้ดที่ใช้งบประมาณถึง 100 ล้านดอลาร์สหรัฐ

ขณะที่โครงการจันทรายาน-2 เองยังคงเอกลักษณ์ต้นทุนต่ำเอาไว้เช่นเคยด้วยงบประมาณเพียง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นงบฯ เพียง 0.14 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับงบประมาณของโครงการอพอลโล่ของสหรัฐ ที่ใช้เงินมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 50 ปีก่อน

ล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา อินเดียส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมากที่สุดจำนวนทั้งสิ้น 104 ดวงด้วยงบประมาณต่ำเช่นเคย ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโมดีแห่งอินเดีย ประกาศว่า อินเดียประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมตกลงสู่โลก กลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่มี “ระบบต่อต้านดาวเทียม” ใช้

โดยนอกจากการมีโครงการสำรวจอวกาศของตัวเองแล้ว อินเดียยังวางตัวเป็นผู้ส่งดาวเทียมให้กับนานาชาติด้วย โดยหน่วยงานอวกาศอินเดียระบุว่าอินเดียส่งดาวเทียมของต่างชาติขึ้นสู่อวกาศแล้วถึง 297 ดวง

 

แน่นอนว่าอินเดียจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ ล่าสุด ไอเอสอาร์โอประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า อินเดียวางแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศที่เป็นอิสระในปี 2030 นอกเหนือไปจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ที่เป็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ นอกจากนี้ อินเดียยังเตรียมที่จะส่งยานอวกาศโคจรรอบดาวศุกร์ ภายในปี 2023 ด้วย

หลังจากนี้เราจะได้เห็นการแข่งขันโครงการด้านอวกาศที่เข้มข้นขึ้นของบรรดาชาติในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” ที่เพิ่งส่งยาน “ฉางเอ๋อ-4” ไปลงจอดบนดวงจันทร์ด้านไกลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และวางแผนที่จะส่ง “ฉางเอ๋อ-5” ไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่างก่อนกลับสู่โลกในปีหน้านี้

นอกจากนี้ จีนยังตั้งเป้าที่จะส่งมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ในช่วงปี 2030 เป็นต้นไป ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นชาติที่สองของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จด้วย