บทความพิเศษ : ตั้งพญาสงฆ์ ย้อนเล่าเท่าที่รู้

หมายเหตุ : อาจารย์กริช ภูญียามา อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเด็นเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ก้องกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงสวดมนต์ข้ามปี เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติแก้ไขมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.25051 สาระคือต้องการตัดความในวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวออก

และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สองวรรคเจ้าปัญหานี้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เนื้อหาเกี่ยวด้วยอำนาจของมหาเถรสมาคมในกระบวนการเสนอชื่อว่าที่สมเด็จพระสังฆราช ตลอดจนคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอที่ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

ผลการพิจารณาแบบ 3 วาระรวดเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาคือทำให้ (ร่าง) บทบัญญัติมาตรา 7 ใหม่มีข้อความสั้นๆ ทำนองเดียวกับที่เป็นอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2535 คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

อนึ่ง สมาชิก สนช. ผู้เสนอ/สนับสนุนร่างกฎหมายข้างต้นชี้แจงถึงเหตุผลของการเสนอแก้กฎหมายในครั้งนี้ นัยว่าเพื่อให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตาม “โบราณราชประเพณี” อย่างที่มีมาในอดีต บางท่านยังกล่าวด้วยว่าแต่เดิมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชยึด “อาวุโสโดยพรรษา” เป็นเกณฑ์พิจารณา จนกระทั่งเมื่อกฎหมายคณะสงฆ์เปลี่ยนมาใช้หลัก “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” ในปี พ.ศ.2535 จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

เมื่อข้อสนับสนุนทั้งหลายต่างเอ่ยอ้างถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่เกิดขึ้นในอดีต จึงสมควรย้อนพินิจถึงกรณีต่างๆ เหล่านี้กันสักครั้ง

นอกจากเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของ “ข้ออ้าง” แล้ว การเหลียวมองอดีตยังอาจทำให้เราเข้าใจปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นด้วย

 

สมควรกล่าวในเบื้องต้นว่า ในยุครัตนโกสินทร์สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 การพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ให้แก่พระสงฆ์ พระมหากษัตริย์จะทรงพิจารณาวินิจฉัยด้วยพระองค์เองว่า พระสงฆ์รูปใดมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ประกอบศาสนกิจอันเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติ จากนั้นจึงทรงตั้งหรือเลื่อนให้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ ตามสมควรแก่ฐานานุรูปของพระสงฆ์แต่ละรูป

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดของฝ่ายสงฆ์ในยุคนี้จึงไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว หากแต่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์โดยแท้ โดยมักจะเลือกจากพระเถระที่เป็นพระอาจารย์หรือทรงนับถืออยู่

เช่น อาจเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ พระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมัยที่ทรงผนวชบ้าง หรือได้ถวายศาสโนวาทอยู่เป็นนิจบ้าง2

ภายหลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อ พ.ศ.2475 ทำให้การใช้พระราชอำนาจในเรื่องต่างๆ ของพระมหากษัตริย์โดยหลักแล้วจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำและยินยอมขององค์กรผู้มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนั้น

และบุคคลเช่นว่านี้จะต้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อรับผิดชอบในกิจนั้นๆ แทนองค์พระมหากษัตริย์

ว่าโดยเฉพาะเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชซึ่งกฎหมายคณะสงฆ์บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงถือปฏิบัติตามหลักการของ “ระบอบ” ดังที่กล่าวข้างต้นตลอดมา

เช่นเมื่อครั้งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 ในปี พ.ศ.2508 จะด้วยต้องการถวายพระเกียรติยศหรือเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ มหาเถรสมาคมและคณะรัฐมนตรีเพียงแต่ทูลเกล้าฯ “บัญชีรายชื่อ” สมเด็จพระราชาคณะทั้ง 4 รูปผู้อยู่ในข่ายจะได้รับการสถาปนาแสดงอาวุโสทั้งทางพรรษาและทางสมณศักดิ์ตามลำดับก่อนหลัง โดยมิได้ถวายความเห็นว่าสมควรตั้งผู้ใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ เพื่อให้ทรงสถาปนาตามพระราชอัธยาศัย

ไม่นานหลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแจ้งความมายังรัฐบาลให้ดำเนินการประสานขอทราบสังฆทัศนะในเรื่องนี้จากมหาเถรสมาคม3

สุดท้ายรัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเสนอชื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อุฏฐายี จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม ให้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช4

 

เมื่อตามหลักการของ “ระบอบ” คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องถวายความเห็นในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเช่นนี้

ถามต่อไปว่าแล้วหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่มีอยู่อย่างไร

ข้อสังเกตคือแม้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2535 จะมีบทบัญญัติว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็เขียนสั้นๆ เพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช” เท่านั้น มิได้มีกำหนดขั้นตอน วิธีการ ตลอดจน “คุณสมบัติ” ของพระภิกษุผู้จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชไว้

แต่แบบแผนที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอดคือ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบัน) จะประสานกับคณะสงฆ์ เสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการสถาปนาไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป

ประเด็นสำคัญคือเรื่องคุณสมบัติ หากไม่นับสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงตั้งขึ้นในสมัยราชาธิปไตยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นเรื่องอยู่ในพระราชอัธยาศัยโดยแท้แล้ว สมเด็จพระสังฆราชที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา (โดยการถวายความเห็นหรือคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี)

ในยุคประชาธิปไตยล้วนมาจากสมเด็จพระราชาคณะผู้มี “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ทั้งสิ้น

กล่าวให้เข้าใจง่ายคือได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อนรูปอื่นๆ นั่นเอง

ครั้งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 ที่ยกมาแล้วเป็นตัวอย่าง เหตุที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อุฏฐายี จวน) วัดมกุฏกษัตริยารามได้รับการเสนอชื่อ ก็เพราะท่านมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ก่อนสมเด็จรูปอื่นในขณะนั้นทั้งหมด

ซึ่งถ้าว่ากันตามอาวุโสโดยพรรษา (บวชก่อน/บวชหลัง) แล้ว ใน พ.ศ.2508 ที่ได้รับการสถาปนานั้นยังมีสมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงกว่าท่านอีกถึง 2 รูป5

คราวสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ในปี พ.ศ.2515 ขณะนั้นประเทศไทยปกครองโดยคณะปฏิวัติมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า ผู้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์จึงไม่ใช่คณะรัฐมนตรี หากแต่หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นคนเสนอ6

แม้องค์กรผู้เสนอจะเปลี่ยนไปแต่แบบแผนปฏิบัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ควรได้รับการสถาปนาก็ยังคงยึดถืออาวุโสโดยสมณศักดิ์เช่นเดิม

กล่าวคือ หัวหน้าคณะปฏิวัติเสนอชื่อสมเด็จพระวันรัต (ปุณฺณสิริ ปุ่น) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แม้พรรษาของท่านผู้นี้จะอาวุโสเพียงลำดับ 3 จากสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมด 4 รูปในเวลานั้น

เช่นเดียวกับเมื่อสถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสโน วาสน์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 ใน พ.ศ.2517 คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายนามสมเด็จฯ วัดราชบพิธฯ ให้ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเพราะท่านเป็นสมเด็จตั้งแต่ พ.ศ.2506 แม้มิใช่ผู้มีพรรษาสูงสุด แต่ว่าโดยสมณศักดิ์แล้วนับว่ามีอาวุโสกว่าสมเด็จพระราชาคณะรูปใด

ถึงตรงนี้มีเกร็ดอยากเล่าคือ สมเด็จฯ วาสน์ ได้เลื่อนจากชั้นเจ้าคณะรองที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2506 พร้อมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ฐิติญาโณ วน) วัดอรุณราชวราราม ที่เลื่อนจากพระธรรมปัญญาบดีเจ้าคณะรองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะในวันเดียวกัน

ดูเผินๆ เมื่อพระเถระสองรูปนี้ได้รับการสถาปนาในวันเดียวกันจึงน่าจะมีอาวุโสทางสมณศักดิ์เท่ากัน

แต่เหตุที่ต้องนับว่าสมเด็จฯ วาสน์ อาวุโสกว่าเป็นเพราะในการพระราชพิธีสถาปนาท่านเข้ารับพระราชทานพัดยศและสุพรรณบัฏก่อน7

อีกทั้งในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาก็จัดลำดับประกาศนามท่านไว้ก่อนด้วย8 อันถือเท่ากับท่านได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จก่อนมีอาวุโสทางสมณศักดิ์มากกว่าโดยประการฉะนี้

เหตุที่สมเด็จฯ วาสน์ ได้รับการสถาปนาก่อนก็เป็นเพราะท่านขึ้นชั้นเจ้าคณะรองก่อนสมเด็จฯ วน นั่นเอง

กล่าวคือ ได้รับสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชคณะที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ในปี พ.ศ.2500 ขณะที่อีกท่านนั้นได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ชั้นเดียวกันให้เป็นที่พระธรรมปัญญาบดี ในปี พ.ศ.2504

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ในการปกครองคณะสงฆ์นั้นอาวุโสโดยสมณศักดิ์เป็นเรื่องที่ยึดถือกันเคร่งครัดเพียงใด ซึ่งก็ไม่พึงตำหนิหาว่าพระท่าน “เจ้ายศ” เพราะในราชการฝ่ายบ้านเมืองยึดอาวุโสกันตามตำแหน่งที่ดำรงฉันใด

หากจะยอมรับให้มีราชการฝ่ายสงฆ์ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็คงต้องถืออาวุโสกันตามสมณศักดิ์ฐานันดรที่ท่านครองฉันนั้น (เว้นแต่จะเห็นว่าระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่พระมีสถานะอย่าง “ข้าราชการ” เช่นนี้เป็นสิ่งไม่พึงมีนั่นก็อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องแยกพิจารณาออกไปต่างหากจากบทความนี้) เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการปกครองพระท่านก็ว่าไปตามหลัก “อาวุโส-ภัณเต” ในพระธรรมวินัย เคารพกันตามความแก่อ่อนของพรรษาอยู่แล้ว

แม้กระทั่งการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 เมื่อ พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีก็ถวายความเห็นว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน เจริญ) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ สมควรได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช9

ทั้งที่ท่านมีอาวุโสโดยพรรษาน้อยที่สุดในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 6 รูปในขณะนั้น10

 

ที่เล่ามาทั้งหมดคงพอยืนยันได้ถึงการมีอยู่อย่างต่อเนื่องของแบบแผนเกี่ยวกับการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณสมบัติ” ของพระเถระผู้ถูกเสนอที่จะต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มี “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์”

แบบแผนเช่นว่านี้ถูกประพฤติอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีจนเรียกได้ว่าเป็น “ทางปฏิบัติ” (practice)

และบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง (opinio juris)

ตำรากฎหมายกล่าวไว้ เมื่อใดเกิดทางปฏิบัติที่ผู้คนเห็นว่าการปฏิบัติตาม “ทาง” ดังกล่าวเป็นสิ่งถูกและจำเป็นต้องทำแล้วไซร้ พึงรู้ไว้เถิดว่าทางปฏิบัติเช่นว่านั้นได้กลายเป็น “กฎหมายประเพณี” (Customary Law) อันมีผลผูกพันผู้เกี่ยวข้องให้ต้องยึดถือตาม

ซึ่งกรณีนี้จะเรียกชื่อให้ฟังดูเป็นไทยว่า “โบราณราชประเพณี” ก็ย่อมได้ เพราะเป็นกฎหมายประเพณีว่าด้วยหลักเกณฑ์การทูลเกล้าฯ ถวายนามสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาหลายทศวรรษแล้ว

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาตามวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 7 ที่เพิ่มเติมเข้ามาโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 อันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเสนอชื่อว่าที่สมเด็จพระสังฆราช ตลอดจนคุณสมบัติของสมเด็จพระราชาคณะที่จะได้รับการเสนอชื่อ จึงมิใช่สิ่งที่กระบวนการนิติบัญญัติในยุคนั้นประดิษฐ์คิดขึ้นอย่างไร้ที่มา

หากแต่เป็นการนำกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับอยู่แล้วในรูปของกฎหมายประเพณีมาบัญญัติเป็นตัวหนังสือให้ชัดเจนเท่านั้น

อนึ่ง การเอาประเพณีมาเขียนเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเช่นนี้หาได้ทำให้ประเพณีดังกล่าวคลายจาก “ความเป็นกฎหมาย” ที่มีผลผูกพันผู้เกี่ยวข้องให้ต้องปฏิบัติไม่

เพียงแต่เวลาจะยกกฎเกณฑ์ดังว่านี้ขึ้นปรับใช้ นักกฎหมายย่อมอ้างเอาจากที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือเพราะเห็นถนัดชัดเจน ซึ่งดีกว่าอ้างจากประเพณีที่เป็นเพียงทางปฏิบัติลอยๆ จับต้องไม่ได้ ก็เท่านั้น

 

และเมื่อมาตรา 7 ใหม่ตาม ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. ได้ตัดหลักการในวรรคสองและสามอันเขียนถึงระเบียบแบบแผนว่าด้วยการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทรง สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชออกไป

ถามว่าแล้วอย่างนี้สำหรับการเสนอชื่อว่าที่สมเด็จพระสังฆราชในอนาคตจะปฏิบัติกันอย่างไร

หลักการปรับบทกฎหมายสอนกันมาช้านานแล้วว่า “เมื่อสิ้นถ้อยกระทงความ ตามกฎใด ก็จงใช้ประเพณีที่มีมา”11 เมื่อกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงกรณีนี้ปลาสนาการไปแล้ว กฎหมายประเพณีเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันที่หมดบทบาทลงนับตั้งแต่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรใน พ.ศ.2535 ย่อมกลับมาทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อรับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาขึ้นเป็นประมุขแห่งสังฆมณฑล จึงยังคงต้องอาศัยการประสานกันระหว่างฝ่ายสงฆ์คือมหาเถรสมาคมกับฝ่ายบ้านเมืองคือคณะรัฐมนตรี

และแน่นอนว่าคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อก็ยังคง ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มี “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ตามประเพณีที่มีมา

หากจะมีผู้แย้งว่า ตีความอย่างนี้ย่อมทำให้ปฏิบัติการแก้มาตรา 7 ผ่าทางตัน ที่ สนช. สู้อุตส่าห์ช่วยกันผลักจนผ่าน 3 วาระรวดเป็นอันไร้ผล

ก็ขอเรียนโดยสัตย์จริงว่า “นิติวิธี” ในการใช้กฎหมายเป็นเช่นนี้

ถ้า สนช. เห็นว่า หลักการเสนอนามว่าที่สมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็นกฎหมายประเพณีและภายหลังถูกนำมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 7 วรรคสองและวรรคสาม เป็นเรื่องพ้นสมัยไม่สมแก่ “เทศกาลบ้านเมือง” ในปัจจุบัน ก็ต้องบัญญัติหลักการใหม่ลงไปให้ชัดในร่างมาตรา 7 ที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น หากเห็นว่าควรใช้ “อาวุโสโดยพรรษา” เป็นหลักในการพิจารณาทูลเกล้าฯ เสนอชื่อแทน “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” และกระบวนการควรเป็นเรื่องที่ฝ่ายบ้านเมืองดำเนินการไปเองไม่เกี่ยวกับฝ่ายสงฆ์ ก็อาจบัญญัติความในมาตรา 7 เสียใหม่ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยพรรษารองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

หรือหากประสงค์ให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์โดยแท้ กล่าวคือ ทรงริเริ่มใช้พระราชอำนาจนี้ได้ด้วยพระองค์เองโดยไม่ต้องมีผู้ใดกราบบังคมทูลถวายความเห็นหรือคำแนะนำ เช่นเดียวกับพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งองคมนตรีหรือบรรดาข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์แล้ว ควรบัญญัติลงไปว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”12

ปฏิบัติดังนี้กระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชย่อมจะชัดแจ้งแทงตลอด พลันพลิกดูตัวหนังสือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายก็รู้ได้ทันทีว่าตนต้องเดินอย่างไรตั้งแต่ต้นจนจบ

แต่ในเมื่อร่างมาตรา 7 ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. มิได้แถลงถึง “กระบวนการ” เสนอชื่อผู้สมควรได้รับสถาปนาเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ ตลอดจน “คุณสมบัติ” ของผู้ที่จะถูกเสนอไว้ให้ชัดเจนดังที่ทราบ กรณีจึงนับเป็นภาวะที่กฎหมายลายลักษณ์อักษร “สิ้นถ้อยกระทงความ” เกี่ยวแก่เรื่องนั้นแล้ว

ด้วยผลแห่งนิติวิธีย่อมทำให้ทั้ง “กระบวนการ” และ “คุณสมบัติ” อันปรากฏตามกฎหมายประเพณีที่มีมาต้องถูกนำมามาบังคับใช้โดยอัตโนมัติ

————————————————-

มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”.

2พระศากยวงศ์วิสุทธิ์, บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, (กรุงเทพมหานคร : วัดบวรนิเวศวิหาร, 2558), น.87.

3หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ก/ป7/2508/ศธ.4.8, กระทรวงศึกษาธิการ : กรมการศาสนา : สมเด็จพระสังฆราช, น.80, 84, 127.

4หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ สร.0504/13625 ลว. 22 พฤศจิกายน 2508 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อ้างถึงใน คณะศิษยานุศิษย์, พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 16, (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2509), น. 27-29.

5หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, น.78.

6หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ สร.0404/3537 ลว. 29 มิถุนายน 2515 เรื่อง การทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อ้างถึงใน ธนิต อยู่โพธิ์, ตำนานสมณศักดิ์พระวันรัต และสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระวันรัต ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพมหานคร : คณะศิษยานุศิษย์ จัดพิมพ์ถวาย ในงานฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, 2516), น.175-176, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ก/ป4/2515/2, พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ปุ่น ปุณฺณสิริ).

7ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยพระองค์เองในพระนิพนธ์เรื่อง “รางวัลในชีวิต” ความตอนหนึ่งว่า “…สมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รับสถาปนาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช (กล่าวคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทโย อยู่) วัดสระเกศ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 – ผู้เขียน)พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จก็มี 2 รูป เรา 1 กับท่านผู้แก่อาวุโสอีก 1 จะได้เลื่อนชั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะพร้อมในคราวสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เราเป็นผู้อ่อนอาวุโสทางอายุพรรษา แต่มีอาวุโสสูงในด้านสมณศักดิ์ชั้นรองสมเด็จฯ กว่า จึงได้เข้ารับสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ต่อจากสมเด็จพระสังฆราช ก่อนตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์…” ดู ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ), (กรุงเทพมหานคร : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, 2532), น.73.

8ดู พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และ สมเด็จพระราชาคณะ ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 80, ตอนที่ 45 ก ฉบับพิเศษ, 13 พฤษภาคม 2506, น.5-6.

9หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0204/4320 ลว. 28 มีนาคม 2532 เรื่อง การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อ้างถึงใน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2532, เล่ม 108, ตอนที่พิเศษ, 9 กันยายน 2534, น. 187-188.

10หนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ลับมาก ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0406/13647 ลว. 21 มีนาคม 2532 เรื่อง การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อ้างถึงใน เพิ่งอ้าง, น.184.

11ในทางวิชาการจึงอธิบายว่า กฎหมายประเพณีถือเป็น “บทสำรอง” (subsidial provision) ของกฎหมายลายลักษณ์อักษร กรณีใดที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรมิได้บัญญัติไว้ บทสำรองก็จะทำหน้าที่แทนทันที ดู สมยศ เชื้อไทย, คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 15 (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2551), น.95.

12การบัญญัติด้วยถ้อยคำที่ชัดแจ้งเช่นนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากในทางตำราอธิบายว่า ในกรณีที่มิได้ใช้คำว่า “ตามพระราชอัธยาศัย” หรือคำอื่นที่อาจแสดงว่ามีความหมายอย่างเดียวกันแล้ว ย่อมไม่อาจตีความได้ว่าเป็นพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย ดู วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร : นิติบรรณการ, 2530), น.377-378.