ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ซื้อรถถังจีน ต้องพิสูจน์ความคุ้มค่าและความคุ้มทุน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในยุคที่ไม่โปร่งใส อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะเดินหน้าบนความคลุมเครือไปทั้งหมด

ต้นปี 2560 หลังเวลาเดินทางข้ามปีเก่าสู่ปีใหม่ได้เพียงครั้งหนึ่ง ผู้บัญชาการทหารรบกแห่งประเทศไทยก็ออกมาเปิดเผยแบบเงียบๆ ว่ากองทัพบกเตรียมซื้อรถถังจีนรุ่น VT4 ป้อนทหาร 1 กองพันให้ครบ 49 คัน ในปี 2560 หลังจากเคยซื้อรถถังรุ่นนี้ไปแล้ว 28 คัน ในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านไป

ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 2 มกราคม ผู้สื่อข่าวเปิดเผยตัวเลขว่ากองทัพบกเซ็นสัญญาซื้อรถถังรุ่นนี้ครั้งแรกในวงเงิน 4.9 พันล้านบาท และลงนามซื้อรถถังล็อตที่สองในวงเงิน 2 พันล้านบาท โดยได้ทั้งรถถัง, รถกู้ซ่อม และเครื่องกระสุนไปพร้อมกัน

สรุปความจากข่าวชิ้นนี้คือกองทัพจ่ายเงินค่ารถถังชุดแรกเฉลี่ยคันละ 175 ล้านบาท ส่วนชุดที่สองคันละประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของกองทัพในการอธิบายว่าทำไมการจัดซื้อแต่ละครั้งจีงมีราคาเฉลี่ยของรถถังแต่ละคันแตกต่างกัน

และแน่นอนว่าคงต้องอธิบายต่อไปด้วยรายละเอียดในการจัดซื้อทั้งสองครั้งเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

หนึ่งในเหตุผลที่กองทัพใช้ในการซื้อรถถังจีนรุ่นนี้คือการนำมาใช้ทดแทนรถถังรุ่น M41 ซึ่งอเมริกาเป็นผู้ผลิตและส่งไปใช้ในงานอย่างเต็มที่ในสงครามเวียดนามปี 2508

และมีข้อมูลว่าประเทศผู้ผลิตให้ความสนับสนุนจนกองทัพไทยมีรถถังรุ่นนี้ไว้ใช้งานราว 200 คัน

ซึ่งถึงปัจจุบันก็แปลว่าใช้งานมาแล้วราว 50 ปี ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของรถถังรุ่นนี้, ความคุ้มค่า และความคุ้มทุน

ถ้ากองทัพบกยุคครึ่งศตวรรษที่แล้วเคยใช้มาตรฐานนี้ในการจัดซื้อรถถัง M41 กองทัพยุคนี้ก็ควรใช้มาตรฐานนี้ในการจัดหารถถังเพื่อทดแทน M41 ด้วยเหมือนกัน

คำถามคือแล้วกองทัพควรซื้อรถถังแทนของเก่าที่เสื่อมสภาพแล้วจำนวนกี่คันดี?

 

คําตอบแบบที่ง่ายที่สุดคือซื้อเท่าที่เมื่อก่อนเคยมี แต่คำตอบนี้มักง่ายเพราะลืมคิดไปว่าการมีรถถังมหาศาลเกิดในสถานการณ์ที่โลกมีสงครามเย็นและไทยระแวงเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมูนิสม์ ขณะที่สถานการณ์โลกและความเป็นไปได้ของภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านนั้นไม่มีในสมัยนี้ การซื้อรถถังปริมาณเท่าเดิมจึงไม่สมเหตุผล เว้นเแต่จะเอาความอยากได้รถถังเป็นตัวตั้งตลอดเวลา

หากเอาสถานการณ์และความจำเป็นเป็นตัวตั้ง คำตอบที่สมเหตุสมผลคือกองทัพควรซื้อรถถังทดแทน M41 ในปริมาณที่ลดลงเท่าที่มีการเปิดเผยออกมา

กองทัพดำเนินการหารถถังทดแทน M41 แล้วสองรอบ รอบแรกคือปี 2554 ซึ่งมีการสั่งซื้อรถถัง Oplot จากยูเครน 49 คัน ราคาเฉลี่ยคันละ 147 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,200 ล้านบาท หรือ 240 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งเมื่อรวมกับรถถัง VT4 ที่สั่งซื้อช่วง 2559-2560 จำนวน 49 คัน ก็แปลว่ากองทัพมีรถถังทดแทนรถถังที่หมดสภาพแล้ว 98 คัน

ทหารหัวหมอบางคนอ้างว่าไม่ควรนับว่ากองทัพมีรถถังยูเครนในครอบครอง เพราะยังไม่มีการส่งมอบตามกำหนด ภายในสามปีส่งให้เพียง 20 คัน ซ้ำยังมีแนวโน้มจะผิดสัญญาจนกองทัพต่อเวลาส่งมอบไปถึง พ.ศ.2561

แต่โดยหลักแล้วยูเครนก็ต้องส่งมอบรถถังให้ไทยอยู่ดี หาไม่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือนายพลที่ตัดสินใจซื้อ, นายพลผู้ขยายเวลาส่งมอบ และนายพลผู้อนุมัติงบประมาณ

เมื่อกองทัพมีคำสั่งซื้อรถถังจากยูเครนและจีนรวมกันแล้วเกือบ 100 คัน เท่ากับครึ่งหนึ่งของรถถัง M41 ที่เคยมี

คำถามที่ต้องถามต่อไปคือปริมาณแค่นี้พอแล้วหรือยัง?

 

ปัญหาของการซื้ออาวุธจีนคือคนไทยมองว่าสินค้าจีนมีคุณภาพไม่ดี และเมื่อได้ยินว่ากองทัพซื้ออาวุธจีน ความระแวงว่าภาษีประชาชนจะถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพย่อมเกิดขึ้นแน่

ถึงแม้อุตสาหกรรมอาวุธจีนจะเติบโตช่วง 2554-2558 จนเป็นผู้ส่งออกอันดับสามของโลก แต่อาวุธจีนก็มีสัดส่วนในตลาดส่งออกอาวุธโลกเพียงแค่ร้อยละ 5.9 เท่านั้นเอง

ตัวเลขการส่งออกอาวุธของจีนแบบนี้เทียบไม่ได้กับอเมริกาและรัสเซียที่ครอบครองตลาดนี้ร้อยละ 33 และ 25 จนสองประเทศนี้มีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกอาวุธโลกรวมกันเกือบร้อยละ 50 มานับสิบปี

และสิ่งที่ตัวเลขนี้บอกก็คือรัฐบาลของประเทศต่างๆ ไว้ใจอาวุธที่ผลิตโดยอเมริกาและรัสเซียยิ่งกว่าอาวุธจีนหลายเท่า

ต่อให้อุตสาหกรรมอาวุธจีนจะโตเร็วในระยะหลังแค่ไหนก็ตาม

นอกจากเรื่องของประเทศผู้ผลิตแล้ว การเลือกซื้อรถถังรุ่น VT4 ก็เป็นเรื่องที่มีประเด็นให้อภิปราย เพราะมีข้อมูลเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ไทยสนใจรถถังจีนเช่นเดียวกับรถถังรัสเซีย T-90S และรถถังเกาหลีใต้ K1A1

แต่ในที่สุดทางเลือกของไทยก็จบที่คำสั่งซื้อรถถังจีนซึ่งว่ากันว่าอาจมีเป้าหมายการสั่งซื้อรวมทั้งสิ้น 150 คัน ขณะที่ปัจจุบันซื้อไปแล้วราว 50 คัน

 

การที่ไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ซื้อ VT4 ขณะที่กองทัพของอีกหลายประเทศอย่างรัสเซีย, อินเดีย, ซีเรีย, อาร์เมเนีย, แอลจีเรีย ฯลฯ ตัดสินใจเลือกซื้อ T-90S สะท้อนว่ากองทัพไทยประเมินรถถังรุ่นนี้สูงกว่าที่ประเทศอื่นประเมินค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายที่ผู้เกี่ยวข้องฝั่งไทยจะให้คำอธิบาย เพราะกองทัพประเทศอื่นอาจประเมินผิด และกองทัพไทยอาจประเมินถูกได้เช่นกัน

ประเทศเดียวในโลกที่ตอนนี้มีข่าวว่าซื้อรถถังรุ่นนี้เหมือนไทยคือเปรู

แต่เรื่องนี้ก็ยังสับสนว่าตกลงเปรูซื้อรถถังนี้จริง หรือจีนแค่เสนอขายรถถังรุ่นนี้ให้เปรูกันแน่

เพราะรายงานข่าวช่วงต้นนั้นระบุว่ากองทัพเปรูตัดสินใจซื้อรถถังจีนไปแล้ว

ทว่า ต้นทางของข่าวนี้กลับมาจากจีนซึ่งเป็นผู้ขาย ไม่ใช่จากฝั่งรัฐบาลเปรูซึ่งเป็นผู้ซื้อ

จึงตอบได้ยากว่าเรื่องนี้มีมูล หรือจีนรายงานข่าวนี้ข้างเดียว

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเปรูเคยเกือบจะซื้อรถถังจีนรุ่น MBT2000 ซึ่งเป็นรุ่นก่อน VT4 แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเปรูให้สัมภาษณ์มีหลักฐานชัดเจนในวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 ว่ากองทัพเปรูตัดสินใจส่งคืนรถถังรุ่นนี้กลับไปยังโรงงานของรัฐบาลจีน ถึงแม้จะเคยถึงขั้นนำรถถังนี้มาแสดงในพิธีสวนสนามของกองทัพเปรูในปี 2552 ไปแล้วก็ตาม

ถ้ากองทัพเปรูมีประวัติไม่ดีกับรถถัง MBT2000 ระดับส่งกลับประเทศจีน การตกลงใจซื้อรถถัง VT4 ซึ่งอีกชื่อหนึ่งคือ MBT3000 ก็น่าจะเป็นการตัดสินใจที่พิสดารไม่น้อย

และถ้ากองทัพเปรูยังไม่ได้ซื้อ VT4 อย่างที่เป็นข่าว ก็เป็นไปได้ว่าไทยอาจเป็นประเทศแรกที่ซื้อรถถังรุ่นนี้

และอาจเป็นประเทศเดียวในปัจจุบัน ถ้าไม่นับปากีสถานที่การจัดซื้อมีลักษณะเฉพาะตัว

นอกจากรถถัง VT4 มีประเด็นให้ตั้งคำถามอย่างที่กล่าวไป ราคาก็เป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นด้วย เพราะงบประมาณที่กองทัพบกเปิดเผยนั้นบ่งชี้ว่าไทยจ่ายค่ารถถังงวดแรกเฉลี่ยคันละ 175 ล้านบาท ส่วนงวดที่สองคันละ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ที่คำสั่งซื้อต่างงวดอาจกำหนดคุณสมบัติต่างกันจนราคาไม่เท่ากัน หรือไม่ก็อาจเกิดจากการชี้แจงมีความคลาดเคลื่อนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าใจว่าการอธิบายเพื่อความโปร่งใสนั้นไม่เสียหาย เพราะสารัตถะของเรื่องนี้คือหลักการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนให้คุ้มค่าที่สุด และด้วยเหตุที่กองทัพไทยซื้อรถถังจากบริษัท Norinco ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีน

การเปรียบเทียบราคาที่รัฐบาลจีนเสนอขายประเทศอื่นจึงมีประโยชน์ในการประเมินว่าไทยได้รถถังในราคาที่ดีที่สุดหรือไม่โดยตรง

ปัญหาคือเว็บไซต์แห่งหนึ่งอ้างข่าวจากสำนักข่าว Bloomberg ว่ารัฐบาลจีนเสนอขายรถถัง VT4 ให้กองทัพเปรูคันละ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 140 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจีนขายรถถังรุ่นนี้ให้เปรูถูกกว่าที่กองทัพไทยจ่ายคันละ 35-40 ล้านบาท

และถ้ากองทัพซื้อรถถังรุ่นนี้ตามแผนที่กำหนด 150 คัน ประเทศไทยต้องเสียเงินมากกว่าเปรูราว 6,000 ล้านบาท

แน่นอนว่าการพัฒนาความเข้มแข็งกองทัพเป็นเรื่องจำเป็น

แต่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพต้องดำเนินไปโดยให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากยุทโธปกรณ์คุณภาพดีที่สุดในราคาที่ดีที่สุดด้วยเสมอ แต่การจัดซื้อรถถังจีนรอบนี้มีปัญหาอีกมากที่ผู้เกี่ยวข้องควรอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างสมบูรณ์

ความโปร่งใสในการใช้เงินของประชาชนไม่เคยเป็นเรื่องเสียหายในทุกกรณี