การศึกษา / จับตา ‘ณัฏฐพล’ กินรวบ ‘องค์กรหลัก’ หวังสร้างผลงาน?!?

การศึกษา

 

จับตา ‘ณัฏฐพล’ กินรวบ ‘องค์กรหลัก’

หวังสร้างผลงาน?!?

 

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือฤกษ์ 07.49 น. วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 แท็กทีม 2 รัฐมนตรีช่วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เข้ากระทรวงศึกษาฯ

พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารองค์กรหลักและองค์กรในกำกับ ศธ. โดยระบุว่า นโยบายการศึกษาเร่งด่วน มีหลายประเด็นทั้งเรื่องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะที่จะแข่งขันในศตวรรษที่ 21 โดยต้องพัฒนาให้มีความพร้อมในการปรับตัว มีความรู้พื้นฐาน และทักษะรองรับการแข่งขัน จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่าสากล

และขอให้ผู้บริหาร ศธ.นำนโยบายดังกล่าวไปต่อยอดบูรณาการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะนำข้อมูลของ ศธ.มาศึกษาว่าจะแก้ไขจุดอ่อน จะพัฒนาการศึกษาและต่อยอดการทำงานได้อย่างไรบ้าง แม้ขณะนี้การศึกษาไทยไม่ได้เป็นเลิศมากนัก แต่ถ้าผู้บริหารเปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นในการช่วยกันแก้ปัญหา จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าง่ายขึ้น

จะฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่และข้าราชการครูเป็นหลัก พร้อมดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนงานการศึกษา

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จะต้องพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทุกคนมีความรู้เบื้องต้น และเท่าเทียมกัน

แต่ยังมีเด็กหลายกลุ่มที่มีศักยภาพ และพร้อมรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ต้องหาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอ และพัฒนาสนับสนุนความสามารถให้เป็นช้างเผือก

ซึ่งเชื่อว่าเด็กเหล่านี้มีจำนวนมาก ถ้าวางแผนพัฒนาอย่างเหมาะสม จะกลายเป็นผู้นำประเทศ

 

นายณัฏฐพลระบุด้วยว่า จะพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการศึกษา

เด็กเหล่านี้จะแบกภาระในการพัฒนาประเทศ จึงต้องสร้างความพร้อมให้เด็กมีคุณภาพ เติบโตไปพัฒนาประเทศให้ได้

ส่วนครูเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเยาวชน ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพัฒนา จะพัฒนาครูให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องขอดูข้อมูลว่าอะไรที่ทำให้การพัฒนาครูติดขัด ก็ต้องสร้างเส้นทางพัฒนาครูให้กว้างและสะดวกต่อการพัฒนา จะต่อยอดความสามารถในการสอนของครู

รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงาน ต้องสร้างขวัญกำลังใจ ส่งเสริมให้ครูมีความพร้อมในการเป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ อย่างไรก็ตาม นโยบายการพัฒนาครูต่างๆ ต้องได้รับการตอบสนองจากครูด้วย ถึงจะเดินหน้าได้ และทุกอย่างต้องมีตัวชี้วัด มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน และต้องสามารถจับต้องได้ ต้องสร้างครูให้มีมาตรฐานเท่ากัน และภายใน 1 ปีนี้ จะต้องคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้เพิ่มมากขึ้น

ต้องปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัยต่อโลกยุคดิจิตอล นำเทคโนโลยีในยุคดิจิตอลเข้ามาผสมผสานพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสม ตั้งเป้าว่าภายใน 1 เดือน ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่วนจะทบทวนนโยบายเก่าหรือไม่ เช่น คูปองพัฒนาครู ที่มีเสียงสะท้อนจากพื้นที่ว่าเป็นภาระครู เป็นต้น เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้ามีอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู ต้องมาดูรายละเอียดที่มาที่ไป ดูว่าควรมีหรือไม่

ส่วนการทบทวนนโยบายเก่าหรือแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ นั้น ขอดูรายละเอียดก่อน เพราะการจะแก้ไขกฎระเบียบใดๆ ต้องมีการประเมิน ศึกษา และวางแผนอย่างรอบคอบ สำหรับปัญหาทุจริตในกระทรวง มีฝ่ายกฎหมายของตนที่จะดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงวิเคราะห์ภาพรวมการใช้งบประมาณของ ศธ. ว่ามีปัญหาที่ผูกพันกับการทุจริตอย่างไร

โดยคาดว่าก่อนสิ้นปี 2562 จะตรวจสอบแล้วเสร็จ

 

หลังมอบนโยบาย นายณัฏฐพลได้แบ่งงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วย

โดยนายณัฏฐพลกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

ส่วนคุณหญิงกัลยากำกับดูแลสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ส่วนนางกนกวรรณกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

การแบ่งงานดังกล่าว นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทำนองว่า นายณัฏฐพลกินรวบและเลือกหน่วยงานที่สามารถสร้างผลงานได้

แต่นายณัฏฐพลชี้แจงว่าได้มีการพูดคุยกับ 2 รัฐมนตรีช่วยและเข้าใจดี

“ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยซึ่งทั้งสองไม่มีปัญหา ผมได้อธิบายเหตุผลว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ดูแลนโยบายทั้งหมด ขออนุญาตรับทราบปัญหาใหญ่ๆ ก่อน ทั้ง สพฐ.และ สอศ. ซึ่งคงต้องใช้เวลาศึกษางาน คาดว่าประมาณ 6 เดือนแล้วจะมาประเมินปัญหาร่วมกัน และเกลี่ยงานกันอีกที ซึ่งรัฐมนตรีช่วยทั้งสองก็เข้าใจ และให้ความไว้วางใจในการตัดสินใจ แม้ผมจะดูแลหน่วยงานหลักของ ศธ. แต่เรื่องใดที่ทั้ง 2 คนถนัด ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือกันและกันได้”

นายณัฏฐพลระบุ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากมองทางการเมือง การแบ่งงานของนายณัฏฐพลอาจไม่ยุติธรรม

เพราะรัฐมนตรีมาจากต่างพรรค ก็ต้องการดูแลหน่วยงานที่สามารถสร้างผลงานให้กับตัวเองและพรรคได้

แต่หากมองในมุมการพัฒนาการศึกษา ถือว่าเหมาะสม เพราะ ศธ.มีปัญหาเรื่องการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่ไม่เข้าเป้ามาหลายปี การดูระบบส่งต่อนักเรียนจากขั้นพื้นฐานสู่อาชีวะ จึงเป็นเรื่องเหมาะสม

ส่วนคุณหญิงกัลยาซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในวิทยาลัยอาชีวศึกษานั้น ถือว่าตรงนโยบายพรรคมากที่สุด

และคุณหญิงกัลยาก็สามารถดูแลงานด้koวิทยาศาสตร์และการเกษตรได้ดี เพราะถือเป็นสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแล แต่เป็นงานสำคัญ

ส่วนนางกนกวรรณยอมรับว่างานที่ได้รับมอบหมาย ยังมองภาพการทำงานได้ไม่ค่อยชัด

ขณะที่นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ระบุว่า เห็นด้วยกับการแบ่งงานของนายณัฏฐพล

เพราะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องรับหน้าที่ดูแลงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา แต่หากมองทางการเมือง ก็ไม่ถือว่าไม่ยุติธรรมกับรัฐมนตรีช่วยทั้งสอง เพราะแม้ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานหลักใน ศธ. แต่ก็ถือว่าได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสำคัญ ทั้ง สช. กศน. เชื่อว่ารัฐมนตรีช่วยทั้งสองจะสามารถขับเคลื่อนงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

แม้ทั้งสามจะไม่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการศึกษา แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ฉะนั้น คงต้องติดตามผลงานกันยาวๆ ว่าจะฝากความหวังได้หรือไม่