สุจิตต์ วงษ์เทศ / ลิเกจากมลายู ‘ออกแขก’ แบบอินเดีย

ออกแขกลิเก (คณะรุ่งเรืองศิลป์) เล่นที่สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2494 (ภาพจากหนังสือ การละเล่นของไทย ของ มนตรี ตราโมท กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลิเกจากมลายู

‘ออกแขก’ แบบอินเดีย

 

ลิเก มีต้นทางจากดิเกร์ของมลายูปัตตานี เป็นการละเล่นสวดแขก (หมายถึงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าศาสนาอิสลาม) ผสมสวดไทย (หมายถึงสวดคฤหัสถ์) แล้วปรับเล่นเป็นละครชาวบ้าน (หมายถึงละครชาตรี) ร้องเองรำเองด้วยลักษณะสร้างสรรค์ใหม่

เมื่อเล่นเป็นละครไม่เหลือร่องรอยสวดแขกเหมือนตอนแรกเริ่ม แต่ลิเกยังรักษาออกแขกเป็นพยานว่ามีต้นตอจากแขก ซึ่งหมายถึงแขกมลายูปัตตานี

แต่ออกแขกลิเก ผู้เล่นแต่งตัวเลียนแบบ “อาบัง” แขกอินเดียขายถั่ว กับแปลงคำร้องเพี้ยนจากภาษาแขกอินเดีย “ขายผ้า” ทั้งนี้จะด้วยความไม่รู้จริงๆ ว่าลิเกมาจากแขกมลายู หรือเพราะมีอคติต่อมลายูมุสลิมก็ตามที แต่ได้ทำให้สิ่งคลาดเคลื่อนกลายเป็นขนบหรือจารีตที่ถูกต้องไปแล้ว และแก้ไขไม่ได้แล้วเพราะลิเกเลิกออกแขกเป็นส่วนมาก

ถ้าจะมีออกแขกบ้างก็ร้องส่งเสียงหลังม่านในโรง โดยไม่แต่งตัวเป็นแขกอาบังออกเล่นหน้าโรงเหมือนแต่ก่อนๆ

[ในวงสนทนาหน้าข้าวหน้าเหล้าหลังโรงละครแห่งชาติเมื่อหลายสิบปีมาแล้วของคนเล่นโขนละครลิเก ผมเคยได้ยินครูผู้ใหญ่ทางนาฏศิลป์พูดว่าพวกออกแขกลิเกสมัยก่อนทำเลียนแบบแขกอินเดียขายถั่วขายผ้าแถวพาหุรัด (เท็จจริงไม่ประจักษ์ พระพุทธเจ้าข้าเอย)]

ซักแขก (ภาพจากหนังสือ ลิเก ของ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522 หน้า 116)

 

แขกรดน้ำมนต์

 

ออกแขก มีต้นตอจากเล่นแขกรดน้ำมนต์ หมายถึง ผู้แสดงลิเกแต่งตัวเป็นแขกออกหน้าเวทีโรงแสดง เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวที่ลิเกจะแสดงต่อไป สุรพล วิรุฬห์รักษ์ (หรือเรียกกันในกลุ่มผู้เคารพนับถือว่า “ดร.ลิเก”) บอกไว้ในงานวิจัยเรื่องลิเก ดังนี้

“การออกแขกแต่เดิมเรียกว่าชุดแขกรดน้ำมนต์ แต่ไม่ได้มีการรดน้ำมนต์ เป็นแต่เพียงการออกมาร้องอวยพรและบอกวัตถุประสงค์ของการแสดงในคืนนั้นให้คนดูทราบ

แขกแต่งตัวเป็นชาติอินเดีย นุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อขาว สวมหมวกหนีบ ถือเทียนใหญ่ 1 เล่มในมือขวาออกมาร้องอวยพรด้วยเพลงทำนองต่างๆ เช่น เพลงซัมเซ และ บุหรันยาวา เป็นต้น (นายพร ภิรมย์ เล่าว่า เมื่อแขกเลิกถือเทียนก็ยังติดชูนิ้วหัวแม่โป้งตามลักษณะที่ถือเทียนอยู่ดี คนรุ่นหลังไม่รู้มักว่าเป็นท่าของแขก) จากนั้นก็เป็นการซักแขก มีนายโรงออกมาซักแขกถามว่าแขกมาทำไม แต่พูดกันไม่รู้เรื่องต้องเรียกตัวตลกออกมา 2 คน ช่วยกันซักแขกว่าเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เป็นการแสดงทางตลก

เมื่อซักถามกันจนได้ความว่าแขกจะเอาลิเกมาเล่นเรื่องอะไรในคืนนั้นแล้วก็จะพากันเข้าโรงไป ปล่อยให้แขกร้องอวยพรส่งท้ายอีกครั้งหนึ่งเป็นอันเสร็จขบวนการออกแขก ต่อจากนั้นก็ดำเนินการแสดงอย่างละคอนต่อไป”

 

เนื้อร้องออกแขก

 

เนื้อร้องออกแขกที่ได้รับยกย่องเป็นแบบฉบับ แล้วใช้ทั่วกันทุกคณะลิเกไปดัดแปลงบางตอนเป็นของตน ล้วนมาจากสำนวนแต่งโดย ฉลาด เค้ามูลคดี ลิเกคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ลิเกไทย ดังนี้

 

สลามมาน้า                    ฮัดช้าสาเก

ปลาดุกกระดุกกระดิก       เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ

ปลาไหลมันอยู่ในรู          ส่วนปลาทูอยู่ในทะเล

สุราแปลว่าเหล้า             กินแล้วเมาต้องเดินโซเซ

ฮั้ลเลวังกา                      ฉลาดเขามาเล่นลิเก

โดย ฉลาด เค้ามูลคดี [พ.ศ.2465-2522] แต่งหลัง พ.ศ.2487

 

[จากข้อเขียนเรื่อง “ฉลาด เค้ามูลคดี : ทศกัณฐ์คนแรกของโรงเรียนศิลปากร” โดย ดุษฎี เค้ามูลคดี พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร ปีที่ 62 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562) หน้า 69-77]

 

ซักแขก

เล่นออกแขกต้องมีซักแขก โดยเจรจาตอบโต้เน้นตลกสนุกสนานคาบลูกคาบดอก มีตัวอย่างจากสุรพล วิรุฬห์รักษ์ (ในหนังสือลิเก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522) จะคัดบางตอนมาดังนี้

 

ตัวตลก 1                       สวัสดี อาบัง

แขก                             กาโหน่าฮี

ตัวตลก 2                       เฮ้ว ไอ้แขกฉิบหาย เห็นหน้ากูเป็นสีไปแล้วมั้ยล่ะ

แขก                             ไม่ช่าย อีนี้กาโหน่าฮีเป็นภาษาแขกแปลว่าสวัสดี

ตัวตลก 2                       อ้าวใครจะไปรู้ นึกว่าจู่ๆ มาเห็นหน้ากูเป็นไอ้นั่น

ตัวตลก 1                       ดู๋ ดู แล้วดูซินั่นดันเสือกจุดเทียนออกมาด้วย ไอ้บังมึงจุดเทียนมาทำไม

ตัวตลก 2                       สงสัยจุดเทียนออกมากันหน้ามืดมั้ง

แขก                              อีนี้ไม่ได้ซินาย หน้ามืดก็ติดคุกซินาย

ตัวตลก 2                       โธ่โว้ย ไอ้บังบ้า กูหมายความว่าหน้ามืดมันดำต้องเอาเทียนส่อง—-

—-

นายโรง                           อ้าว แล้ววันนี้มาทำอะไรไม่ไปขายถั่ว

แขก                             วันนี้แขกจะเอาลิเกมาแสดง

นายโรง                          อ๋อ งั้นเรอะ วันนี้จะแสดงเรื่องอะไรล่ะ

แขก                           วันนี้จะแสดงเรื่อง—–

นายโรง                      เอ้า งั้นก็เริ่มแสดงกันเลย

(นายโรงและตัวตลกทั้งสองเข้าโรง)

แขก                        เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ

สะลามมานา      ฮัดชาซาเก

—–                  —-

 

(สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ดัดแปลงมาจากการออกแขกลิเกเรื่องจันทโครพ ณ โรงละครแห่งชาติ ในรายการศรีสุขนาฏกรรม วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2522)