วิเคราะห์ : มลพิษ “นำเข้า” เรื่องเร่งด่วนที่ไทยต้องแก้ไข

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพิษทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คน กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อเกิดการร้องเรียนจนเป็นที่มาของการปิดโรงงาน “รีไซเคิล” เถื่อนที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อเร็วๆ นี้

แคเทอรีน ดิสส์ แห่งเอบีซีนิวส์ของออสเตรเลีย หยิบเอากรณีดังกล่าวมาสะท้อนปัญหาโดยรวมที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

จนหลายๆ กรณีหวุดหวิดจวนเจียนจะกลายเป็นปัญหาทางการทูตระหว่างประเทศไปแล้ว

ดิสส์บันทึกเอาไว้ในรายงานเรื่องนี้ที่เผยแพร่ออกมาครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เรื่อยมา ตลาดขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกตกอยู่ในสภาพ “พลิกคว่ำคะมำหงาย” หลังจากที่ทางการจีนเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายใหม่ว่าด้วยการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเด็ดขาดแบบเข้มข้น

ผลก็คือ ขยะที่เคยเดินทางไปลงเอยที่โรงงานรีไซเคิลในจีนทั้งหมดต้องหาประเทศใหม่สำหรับใช้เป็น “ที่ทิ้งขยะ” ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการเหล่านั้น

ประเทศที่เคยส่งของเสีย เหลือใช้ไปยังจีน เปลี่ยนทิศทางใหม่ หันเหเรือขยะมุ่งหน้าไปยังประเทศอย่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสัมมาอาชีวะของผู้คนและชุมชนของพวกเขาในประเทศเหล่านั้น-ในทางลบ

 

รายงานของเอบีซีนิวส์บอกว่า ในกรณีของประเทศไทย เกิดบริษัทกำจัดและรีไซเคิลขยะใหม่ๆ ขึ้นมากมาย “ส่วนใหญ่” แล้วเกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเกิดขึ้นได้เพราะมีหุ้นส่วนชาวจีนร่วมอยู่ด้วย

ข้อสังเกตของแคเทอรีน ดิสส์ ก็คือ บริษัทเหล่านี้ผุดสะพรั่งขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ ที่รายล้อมอยู่โดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกหลักแห่งหนึ่งของประเทศ

ที่ตั้งโรงงานมักอยู่ติดหรือไม่ก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งใช้ในการทำเกษตรกรรม ฉะเชิงเทรา จังหวัดทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คือหนึ่งในจำนวนจังหวัด “เป้าหมาย” เหล่านั้น

เหมือนเช่นที่ตั้งโรงงานเถื่อนซึ่งเพิ่งถูกสั่งปิด ที่ตั้งอยู่ติดกับไร่มันสำปะหลังของพะเยา เจริญวงศ์ ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากการสูญเสียพืชไร่สำคัญไปพร้อมๆ กับสุขอนามัยของตัวเอง ในพื้นที่ที่เป็นเขตเกษตรกรรมของจังหวัด

ไร่มันสำปะหลังของพะเยาเริ่มได้รับผลกระทบตอนปลายปี 2017 เมื่อโรงงานติดกับไร่ซึ่งบริหารโดยชาวจีน เริ่มมีรถบรรทุกขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศจำพวกคอมพิวเตอร์ไม่ใช้แล้ว แผงวงจรและสายเคเบิลต่างๆ เข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า

ธุรกิจรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่ทำกำไรดี มีรายได้สูงจากการสกัดเอาโลหะมีค่าออกจากส่วนประกอบทั้งหลายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น ตั้งแต่ทองแดง, เงิน, ทองคำ เป็นอาทิ

และจะยิ่งมีกำไรมากมายยิ่งขึ้นหากไม่จำเป็นต้องลงทุนขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องติดตั้งระบบการจัดเก็บ คัดแยก สกัด ที่ถูกต้องเหมาะสม และไม่ต้องมีระบบกำจัดชิ้นส่วนที่หลงเหลือที่เป็นพิษเป็นภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากโลหะมีค่าแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นยังมีส่วนประกอบอื่นที่เป็นพิษถึงแก่ชีวิตและพิกลพิการได้ ตั้งแต่สารตะกั่ว, แคดเมียม และปรอท

นอกจากกลิ่นเหม็นที่เกิดจากกระบวนการแยกของมีค่าออกจากขยะอย่างไม่ถูกวิธีแล้ว ปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดฝนตก ขยะที่กองเกลื่อนถูกฝนชะ สารพิษทั้งหลายปนเปื้อนไปกับน้ำฝนแทรกซึมลงสู่พื้นดิน แหล่งน้ำ รวมทั้งระบบน้ำใต้ดิน เมื่อบุกตรวจค้นก็พบว่าไม่มีใบอนุญาตการจัดตั้งโรงงานที่ถูกต้อง และกระบวนการที่ใช้ก็เป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมาย

เมื่อนำน้ำจากบ่อในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบ ก็พบทั้งสารแร่เหล็ก, แมงกานีส, ตะกั่ว, นิกเกิล และบางส่วนมีสารหนูกับแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ด้วยในระดับที่เป็นพิษทั้งสิ้น

 

แคเทอรีน ดิสส์ อ้างข้อมูลจากเอิร์ธ กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในบรรดา 10 ประเทศที่ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาไทยมากที่สุด มีประเทศอย่างจีน, สหรัฐ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และออสเตรเลียอยู่ด้วย ดิสส์ตรวจสอบข้อมูลของกรมศุลกากรไทยแล้วพบว่า ปีที่ผ่านมาออสเตรเลียส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทยมามากถึง 250,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้นถึง 500 เท่า

กลุ่มเอิร์ธสืบเสาะตรวจสอบพบด้วยว่า จำนวนโรงงานทำนองนี้เพิ่มขึ้นมากในหลายจังหวัดในเวลานี้ ส่วนใหญ่โยกย้ายหาแหล่งทำธุรกิจใหม่หลังจากจีนประกาศใช้กฎหมายใหม่ดังกล่าว

รูปแบบของการดำเนินการ ดูเหมือนกับเป็นเครือข่ายใต้ดินที่ลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายมากขึ้นทุกทีแล้ว