จัตวา กลิ่นสุนทร : “รัฐธรรมนูญ” (2560) ถึงจะแก้ยาก แต่ (มัน) จำเป็น

หลังเหตุการณ์ 2535 เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งประชาชนในนาม “ม็อบมือถือ” ออกมาต่อต้านและขับไล่ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” (บิ๊กสุ) “นายกรัฐมนตรี” เพราะไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง”

ประธานสภาได้ทำการสลับสับเปลี่ยน “นายกรัฐมนตรี” ขึ้นมาแทนซึ่งไม่ใช่ทหารและนักการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารบ้านเมือง โดยไม่มีการ “ปฏิวัติรัฐ-ประหาร” ซ้ำซ้อน

ตรงนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งเกิด “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

การเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2535 กลุ่มแกนนำองค์กรประชาธิปไตยส่วนหนึ่งได้เล็งเห็นว่า เพื่อจะได้มาซึ่งระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่ดีก้าวหน้ามากกว่าเดิม จำเป็นต้องมีการทบทวนโครงสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเสียที

จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐสภา “ปฏิรูปการเมือง” และจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่โดยเร็ว

รัฐสภาขณะนั้นได้ตอบสนองโดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย” (คพป.) เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

ซึ่ง คพป.ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ นำเสนอต่อเป็นรายงานต่อรัฐสภา และประชาชนทั่วไป เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2538

 

การเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2538 พรรค “ชาติไทย” ได้เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก จึงจัดตั้งรัฐบาล (ผสม) ขึ้น นาย “บรรหาร ศิลปอาชา” (เสียชีวิต) ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 21) รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 26 กรกฎาคม 2538 ความว่า “จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันมาตรา 211 ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย”

รัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” (คปก.) ทำหน้าที่ศึกษาและนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาล เพื่อประชุมร่วมรัฐสภาจนเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เป็นผลงานโดดเด่นของรัฐบาลบรรหาร คือ ริเริ่มให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 ได้บัญญัติให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น

สภานี้ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมประเภทหนึ่งมาจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คน

และอีกประเภทหนึ่งให้มาจากการเสนอบัญชีรายชื่อโดยสถาบันอุดมศึกษา ที่มีการให้ปริญญาสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

วันที่ 26 ธันวาคม 2539 ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากบัญชีรายชื่อต่างๆ โดยลงคะแนนลับจำนวน 99 คน

ประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 76 คน สมาชิกสาขากฎหมายมหาชน 8 คน สมาชิกสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน สมาชิกผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน

ต่อมาสภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกท่าน “อุทัย พิมพ์ใจชน” เป็นประธาน

โดยเลือกท่าน “อานันท์ ปันยารชุน” เป็น “ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”

 

ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนในเรื่องของกฎหมาย การเมืองการปกครอง มีเพียงประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวข้องในเส้นทางสายนี้มาพอสมควร

เมื่อมีโอกาสจึงลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดบ้านเกิด ก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 1 ใน 99 คนด้วย

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 นับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ องค์กรมหาชน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางด้านการเมืองที่พยายามให้พรรคการเมืองลดน้อยลงเหลือเพียงพรรคใหญ่ๆ ที่มั่นคงแข็งแรง ยอมรับกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง

เมื่อพรรค “ไทยรักไทย” ชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2544 อยู่บริหารประเทศจนครบเทอม (4 ปี) มีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2548 ก็ชนะเลือกตั้งอีก สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ปี พ.ศ.2540 มีอายุแค่ 9 ปีจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2549 เมื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ทำการ “ยึดอำนาจ” และทำการร่างกันขึ้นใหม่ ตามแบบอย่างของประเทศเราเมื่อมีการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” จะต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไป โดยไม่มีคณะไหนจะนำเอาฉบับที่ดีๆ มาแก้ไขปรับปรุง

ว่ากันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศนี้ หรือประเทศไหนก็ตาม “ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์” คณะไหน “ยึดอำนาจ” การปกครองประเทศได้จะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ ที่เรียกขานกันว่า “ฉีกทิ้ง” ก่อนจัดทำขึ้นใหม่

เยาวชนคนรุ่นหลังๆ ที่ถือกำเนิดเกิดตามมาจึงไม่รู้ว่าจะสามารถอ้างอิงประวัติศาสตร์ฉบับไหน เพราะดูเหมือนว่าประเทศเราไม่เคยได้ทำการชำระประวัติศาสตร์กันครั้งใหญ่ๆ ให้ใกล้เคียงความถูกต้องจนสามารถนำเอาไปอ้างอิงได้ นักประวัติศาสตร์จึงต้องศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำเอามาวิเคราะห์เทียบเคียงให้ใกล้ความจริงที่สุด

 

จากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก่อนมีการรณรงค์กระทั่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้การตอบรับ สู่การเกิดใหม่ของ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มีการเลือกตั้งทั่วไป มี “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

แต่ในที่สุดบ้านเมืองก็เกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นอีก มีการปิดกรุงเทพฯ ขับไล่รัฐบาล ต่อต้านการเลือกตั้งเมื่อรัฐบาล “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่

ปลายปี พ.ศ.2557 “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ทำการรัฐประหาร “ยึดอำนาจ” โดยอ้างความไม่สงบ ประชาชนเกิดความแตกแยก แต่คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นการร่วมด้วยช่วยกันของพรรคการเมือง (บางพรรค) กับทหาร เพื่อดำเนินการคว่ำรัฐบาลขณะนั้นที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถูกฉีกทิ้งเหมือนเดิม หมดอายุลงด้วยเวลา 7 ปี คณะผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศตั้งคณะบุคคลเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยใช้เวลาถึง 3 ปี โดยจัดทำเสร็จในปี พ.ศ.2560 ก่อนใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยจัดให้มีการลงประชามติเพื่อความชอบธรรม ปรากฏว่าได้รับการเห็นชอบจากประชาชนมากกว่าไม่เห็นชอบ

พูดคุยกันเสมอในวงสนทนาว่าประชาชนทั่วไปคงไม่มีใครได้อ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยมาตราจากตัวแรกถึงตัวสุดท้ายจนจบ โดยเฉพาะจำนวนประชาชนที่ลงประชามตินั่นแหละ คนที่จะอ่านรัฐธรรมนูญจนละเอียดน่าจะเป็นผู้มีอาชีพที่ต้องทำมาหากินเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย หรือเหล่าครู อาอาจารย์ ที่สอนสั่งลูกศิษย์ด้านกฎหมายต่างๆ นักการเมือง ผู้แทนราษฎร ทนายความ ประมาณนี้แหละ

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 คือฉบับที่ใช้ในการปกครองประเทศปัจจุบัน รวมทั้งการเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) ครั้งที่ผ่าน ซึ่งดูว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนให้ความนิยม แต่เรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ขณะเดียวกันได้วางกลเกมปิดกั้นพรรคการเมืองไม่ให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว

เป็นการจัดทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ตอบสนองการ “สืบทอดอำนาจ” มากกว่า

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ได้วางกฎเกณฑ์ปิดประตูไว้อย่างยุ่งยากแน่นหนาในการแก้ไข โดยจะต้องได้เสียงของสมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก และเงื่อนไขอื่นๆ อีก ประมาณนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พ่นพิษเยอะแยะมากมายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา จนกระทั่งนักการเมืองทั้งหลายต่างจารึก “คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” 2560 ไว้เป็นที่เรียบร้อยอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค” ประชาธิปัตย์” ซึ่งฟังดูหล่อเหลาถูกใจเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนทั่วไปต่างเฝ้ารอคอยว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเปิดช่อง จะผลักดันอย่างไร? กระทั่งให้พรรค “พลังประชารัฐ” พรรคซีกรัฐบาลยินยอม ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องยากเกิน

ทางพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค โดยทั้ง “เพื่อไทย+อนาคตใหม่+ประชาชาติ+เสรีรวมไทย” และ ฯลฯ นั้นตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจนแม่นมั่นนานก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำไปว่า จะต้องเดินงานแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ฉบับปัจจุบัน (2560) ให้สำเร็จ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการวางหมากกลปิดประตูแน่นหนาอย่างยากยิ่ง กว่าจะผ่านการเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา

แต่ยังเชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” จะต้องแก้ไขได้โดยเสียงส่วนใหญ่ และ (พลัง) “ประชาชน”