สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ร้องลิเก ‘รานิเกลิง’ แหกคอก นอกขนบเพลง ‘ผู้ดี’

(ซ้าย) นายดอกดิน เสือสง่า [ประมาณ พ.ศ.2407-2477] ผู้สร้างสรรค์ทํานองร้องลิเกรานิเกลิง (ขวา) นายหอมหวล นาคศิริ [ประมาณ พ.ศ.2442-2521] พัฒนาร้องด้นทํานองรานิเกลิง จากร้องลิเกอย่างสั้นๆ เป็นยาวๆ หลายคํา (ภาพเมื่ออายุ 28 ปี แต่งชุดอิเหนาเล่นลิเก)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ร้องลิเก ‘รานิเกลิง’

แหกคอก นอกขนบเพลง ‘ผู้ดี’

กลอนลิเก ร้องเองโดยคนเล่นลิเก เป็นกลอนเพลงทำนองง่ายๆ และแสดงออกอย่างเสรีสลัดทิ้งสิ่งรุ่มร่าม คือลดเอื้อนจนถึงไม่เอื้อน ซึ่งเป็นไปตามวิถีชาวบ้านในวัฒนธรรมประชาชน แต่แหกคอก นอกขนบของเพลง “ผู้ดี” ที่ร้อง “เอื้อนมาก ลากยาว”

“เตรง-เตร่ง-เตร๊ง—” ปี่พาทย์บรรเลงรับเพลงร้องลิเกด้วยทํานองอย่างหนึ่งซึ่งคนทั่วไปได้ยินก็รู้ตรงกันว่าลิเก เพราะไม่มีในการแสดงอื่น ร้องอย่างนี้คนลิเกต่างรู้ชื่อว่ารานิเกลิง แต่บางทีเรียกเพี้ยนเป็น “ราดนิเกลิง”

รานิเกลิง ทํานองร้องที่เป็นลักษณะเฉพาะของลิเก เกิดขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ของนายดอกดิน เสือสง่า ต่อมานายหอมหวล นาคศิริ เอาทํานองรานิเกลิงร้องด้นด้วยกลอนลิเกอย่างยาวหลายคํากลอน ทําให้ลิเกเป็นที่นิยมชมชอบแพร่หลายมากขึ้น

นายดอกดิน เสือสง่า และนายหอมหวล นาคศิริ ทั้งสองเป็นคน “บ้านนอก” อยู่นอกวัฒนธรรมผู้ดี

 

ดอกดิน เสือสง่า

 

นายดอกดิน เสือสง่า (อายุ 70 ปี) เป็นชาวนครชัยศรี จ.นครปฐม เกิดประมาณ พ.ศ.2407 ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ.2477

เป็นผู้สร้างสรรค์เพลงร้องลิเกทํานองรานิเกลิง เป็นที่รู้กันทั่วไปจนเรียกสมัยหลังว่า “ทํานองดอกดิน” โดยแปลงจากเพลงมอญครวญ ซึ่งลิเกบันตนใช้ร้องมาก่อนเมื่อถึงบทโศก มีลูกคู่ร้องรับว่า

 

“รานิเกลิงเอ๋ย     นิเกลิงจะกระอํา

กระสอดแชวํา    จะกระอํามวยเกลิง”

 

นายดอกดินได้แปลงเสียงตกเป็นอารมณ์รักใช้ร้องเกี้ยวพาราสี แล้วเรียกเพลงรานิเกลิงตามคําร้องของลูกคู่เพลงมอญครวญ

เพลงรานิเกลิง ตามแบบนายดอกดิน เสือสง่า (หน้าทับสดายง) ร้องคํากลอนเดียวก็ลง (ปี่พาทย์รับ) ดังนี้

 

“น้องเป็นจานฝรั่ง

พี่เป็นชามกะละมัง          มันไม่เสมอหน้า

ขอเชิญน้องลองชน         แล้วใครจะทนกว่า”

 

ปี่พาทย์บรรเลงรับนอกจากทํานองตรงๆ แล้วยังเปลี่ยนเป็น “ทาง” ต่างๆ ซึ่งถือเป็นแบบแผนมาจนทุกวันนี้

[จากข้อเขียนเรื่อง “รานิเกลิง” ของ มนตรี ตราโมท พิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ พระอธิการหอมหวล คนฺธสิริ มีนาคม พ.ศ.2522 หน้า 73-76]

รานิเกลิง กลายจากภาษามอญ ว่า แลฺ/แรฺหฺนิฮเกฺลิง หมายถึง อ้อนวอน, เชิญชวนให้คนมาดู หรือกริยาที่แสดงอาการอ้อน เช่น อ้อนแม่ยกลิเก

แลฺ (ออกเสียงกึ่งสระ แ- และ -า) แปลว่า บอก, กล่าว, เล่า รา (ออกเสียงเป็น แรฺ) แปลว่า วิงวอน, อ้อนวอน, เชิญชวน หฺนิฮ แปลว่า คน เกฺลิง แปลว่า มา

[พระมหาจรูญ ญาณจารี ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ แห่งวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ อธิบายคํามอญ เมื่อตุลาคม 2559]

 

กลอนลิเก

 

กลอนลิเกร้องรานิเกลิงนายดอกดิน เสือสง่า พัฒนาขึ้นจาก “กลอนหัวเดียว” ของเพลงโต้ตอบแก้กัน (หรือเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง) ซึ่งเป็นรากเหง้ากลอนเพลง หรือกลอนแปด (บางทีเรียกกลอนสุนทรภู่)

ความโดดเด่นแล้วโดนใจคนทั่วไปในกลอนลิเกของนายดอกดิน เสือสง่า อยู่ที่คําง่าย กระชับ ฉับไว ได้ใจความ แล้วจบทันที มีตัวอย่างที่รู้กัน ว่า

 

“ได้ยินเสียงแจ้วแจ้ว

ดอกดินมาแล้ว    นะหล่อนจ๋า

ลูกเขาเมียใคร     ใครจะไปก็มา”

 

[ปี่พาทย์รับ เตร๊ง-เตรง ฯลฯ]

กลอนลิเกขนาดสั้นที่ยกมานี้ เรียก “ร้องคําเดียว แล้วลงให้ปี่พาทย์รับ”

“คําเดียว” หมายถึงคํากลอนลิเกชุดหนึ่งมีอย่างที่จัดแบ่งวรรคตามจังหวะร้องลิเก

ที่ยกมานี้

[กลอนลิเกของนายดอกดิน เสือสง่า ที่ยกมาเป็นความทรงจําของขุนวิจิตรมาตรา อ้างไว้ในหนังสือ ลิเก ของ ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522]

 

หอมหวล นาคศิริ

 

นายหอมหวล นาคศิริ (อายุ 79 ปี) เกิด พ.ศ.2442 บ้านห้วยทราย ต.โพธิ์ลาว อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา (เขตติดต่อ จ.อ่างทอง, จ.ลพบุรี) ถึงแก่กรรม พ.ศ.2521 จ.นนทบุรี

เป็นผู้สร้างสรรค์ลิเกกลอนด้น และแสดงเรื่องราวความทันสมัยจากหนังสือนิยายร่วมสมัยซึ่งเป็นที่นิยมครั้งนั้น

เมื่อวัยเด็กเริ่มหัดลิเกกับครูในหมู่บ้าน ต่อมาเข้ากรุงเทพฯ เป็นศิษย์เรียนลิเกกับครูดอกดิน เสือสง่า หลังจากนั้นดัดแปลงกลอนลิเกรานิเกลิงอย่างสั้นให้ร้องด้นอย่างยาวพรรณนาความได้มากกว่าเดิม มีคำอธิบายของนักปราชญ์ทางดนตรีและนาฏศิลป์ ดังนี้

“เพลงรานิเกลิงซึ่งนายดอกดินได้ทำขึ้นไว้เดิมนั้น ร้องคำเดียวก็ลงให้ปี่พาทย์รับ นายหอมหวลจึงได้แก้ไขดัดแปลงวิธีร้องขึ้นใหม่ โดยใช้กลอนแบบลำตัดผสม ทำให้ร้องด้นติดต่อไปหลายๆ คำกลอน จึงจะลงให้ปี่พาทย์รับทีหนึ่ง ซึ่งทำให้น่าฟังยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างบทร้องเพลงรานิเกลิงของนายหอมหวล ต่อไปนี้

 

โอ้แม่สาวแสนสวย                      พี่อยากจะขอปราศรัย

พี่สุดแสนรักใคร่                          อย่าเสือกไสไล่ส่ง

แม่นุ่งผ้าสีใส่สายสร้อย                 ทำให้พี่เสียวไส้

แม่สวยสิ้นไปทั้งนิสัย                    ช่างถูกใจประสงค์

แม่เนื้อท้วมน่วมนิ่ม                     ทั้งเนื้อหนังก็อ่อนนุ่ม

มันยั่วใจหนุ่มหนุ่ม                      สวยจริงแม่นวลอนงค์

ถ้าได้น้องหน้านวล                      จะพาไปเที่ยวเขาน้อย

เดินทิ้งน่องหน่อยหน่อย                ร้องนอระนอยโหนงหน่ง

แม่ผมแหวกหว่างหวี                    จะทำให้พี่ไหวหวั่น

แม่การะเวกเสียงหวาน                 ทำให้หัวใจพี่โว่ง

(ลง) เสียงกังวานหวามแว่ว           สวยจริงแม่แววแหวนวง…”

 

[จากข้อเขียนเรื่อง “รานิเกลิง” โดย มนตรี ตราโมท พิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระอธิการหอมหวล คนฺธสิริ พ.ศ.2522 หน้า 76]

กลอนลิเกของนายหอมหวล นาคศิริ ที่ยกเป็นตัวอย่าง แสดงเชิงกวีฝีมือเป็นเลิศ ที่ทำได้ไม่ง่ายๆ ในทางเล่นอักษร หรือแพรวพราวด้วยสัมผัสอักษร ลักษณะเล่นอักษรในกลอนลิเกร้องรานิเกลิงยังอวดสืบเนื่องถึงลิเกปัจจุบัน