หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘น้ำตา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - เมื่อต้นผลไม้ที่เป็นอาหารอย่างต้นไทรออกลูกสุก ชะนีไม่พลาดในการมากิน และทำหน้าที่นำเมล็ดไปกระจาย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘น้ำตา’

ผมเขียนถึง “น้ำตา” บ่อย

เพราะมีสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอยู่ในป่าเสมอๆ ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือพบเจอได้ยากสักหน่อย

สิ่งนั้นคือ น้ำตา

ผมจะบอกว่า คนทำงานในป่าที่ผมรู้จักส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเจ้าน้ำตา

ทุกๆ ครั้งที่พบเจอซากสัตว์ป่าที่ไม่ได้ตายเพราะคมเขี้ยว เน่าอืด หนอนรุมตอม ส่วนหัวถูกตัดไป มีรอยลูกกระสุน หรือร่องรอยกระเสือกกระสนก่อนสิ้นใจเพราะยาพิษ

ผู้ชายในชุดลายพราง ขะมุกขะมอมเหล่านี้ จะยืนนิ่งซึม หลบหน้าซ่อนน้ำตา บางคนสะอึกสะอื้นอย่างไม่อายใคร

 

ในป่า ดูเหมือนว่าการร้องไห้คือเรื่องปกติ แม้แต่ในเวลาที่ควรสนุกสนานอย่างอยู่ในวงเหล้า

บางคนพูดถึงประวัติตัวเอง และชีวิตอันยากลำบากก่อนมาทำงานในป่า บางคนคุยถึงลูกที่เกเร

บางคนพูดถึงวันใกล้เกษียณก็น้ำตาซึม

หลายคนคร่ำครวญเพราะโดนแฟนทิ้ง

ปกติเรื่องเหล่านี้จะซ้ำๆ และต่างคนต่างพูด ไม่ค่อยมีใครฟังใคร คนอยู่ใกล้ๆ ที่ไม่ได้ร่วมวงด้วยจึงต้องรับบทหนัก ฟังเรื่องเศร้าซ้ำๆ เหล่านี้เสมอ

เรื่องราวของหลายคน เมื่อฟังกี่ครั้ง ก็รู้สึกเศร้า

เรื่องของบางคน ฟังแล้วเฉยๆ

แต่บางคนเมื่อเขาร้องไห้ ทุกคนจะหัวเราะ…

 

ถึงวันนี้ ลุงนม เกษียณจากงานในป่าทุ่งใหญ่ตะวันตกแล้ว

ตอนที่ผมพบเขา เหลือเวลาอีก 3-4 ปี

ทุกคนเรียกเขาว่าลุงนม จากชื่อจริงว่า พนม เขาทำงานในป่าทุ่งใหญ่มานาน อยู่มาแล้วเกือบทุกหน่วยพิทักษ์ป่า ปีท้ายๆ ของการทำงาน ลุงนมประจำที่หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช

ลุงนมเป็นชายร่างสันทัด ผมบาง เวลายิ้มอวดฟันหลอ

ผมคิดว่า นี่คือชายเจ้าน้ำตาตัวจริง ที่คนจะหัวเราะ เวลาเขาร้องไห้

บุคลิกร่าเริง และตลกโดยธรรมชาติ เมื่อเล่าเรื่องหรือหยอดมุขต่างๆ เรียกเสียงฮาได้ทั่ว

“ไม่ใช่ว่าอยากตลกอะไรมากนักหรอกครับ” ลุงนมคุยกับผม ขณะเรากำลังช่วยกันขุดทางเพื่อให้รถผ่านได้

ผมค่อนข้างสนิทสนมกับเขา ชอบฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเล่า

และเรื่องเคร่งเครียดอย่างเรื่องการปะทะกับผู้ต้องหา เขาก็เล่าเป็นเรื่องขำให้เราหัวเราะได้

“ที่นี่ หัวหน้าจิตติทำงานจริงจัง ฝนตกแดดออกค่ำมืด ถ้างานไม่เสร็จก็ไม่เลิก กลัวเด็กๆ มันท้อ ผมเลยหาเรื่องขำมาเล่า เด็กๆ จะได้ไม่เครียด”   นับเป็นเหตุผลที่ดีในการตลกของลุงนม

เรื่องเขาเคยมีเมียเป็นนางไม้นั่น ผมเคยเอามาเขียนถึง

แต่เรื่องที่เขามาพบคณะเจ้าสัวไร้สติ ตั้งแคมป์ริมห้วยปะชิ และฆาตกรรมเก้ง ไก่ฟ้า และเสือดำ

เรื่องนี้ไม่มีเสียงหัวเราะ

ตอนที่เราคุยกันภายหลังลุงนมยังพูดปนเสียงสะอื้น

ไม่เห็นหน้า ผมก็รู้ว่าเขามีน้ำตา

 

ความสามารถอีกอย่างของลุงนม นอกเหนือจากเล่าเรื่องตลก รวมถึงการกินเหล้า คือ การเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสาร รับ-ส่งวิทยุ เขาเคยไปอบรมฝึกฝนการเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารมาแล้ว

กลับมามีเรื่องขำๆ มากมายมาเล่าให้น้องๆ ฟัง

หน้าที่พนักงานรับ-ส่งวิทยุสำคัญ การลาดตระเวนในป่า ที่เรียกว่า ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่เริ่มใช้ในป่าด้านตะวันตก และขยายไปทุกป่าทั่วประเทศ ต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียด เส้นทางเดินมีจุดหมาย และมีการหาข่าวล่วงหน้า

การติดต่อสื่อสารถึงหน่วยเพื่อแจ้งเหตุ หรือให้นำเสบียงไปเพิ่ม ในกรณีที่ต้องเดินต่อเนื่อง ไม่สามารถกลับตามกำหนด คนรับข่าวต้องรู้เรื่องและประสานงานได้

ลุงนมทำหน้าที่นี้ได้ดี

 

บางครั้งลุงนมขอออกไปเดินลาดตระเวนด้วย

“อยู่แต่ในหน่วย เบื่อครับ” เขาเคยบอกผม

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ จะต้องนำเสนองานในที่ประชุมประจำเดือน แต่ละชุดจะส่งคนไปนำเสนอว่า ไปไหนมา พบปัจจัยคุกคามอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลของหัวหน้าในการวางแผนจัดการ

ชุดหน่วยมหาราช เดือนไหนมีลุงนมเป็นผู้นำเสนอ เสียงฮาในห้องประชุมคือเรื่องปกติ

ลุงนมคือผู้ชายผู้เรียกเสียงหัวเราะ

และก็ไม่แปลกที่ทุกคนจะเห็นเขานั่งซึมเช็ดน้ำตา

 

การทำงานในป่ายุคนี้

ไม่ใช่เรื่องของการอยู่ “หลังเขา” อีกต่อไปแล้ว

พลังงานไฟฟ้า แสงอาทิตย์ รวมทั้งจานดาวเทียม ทำให้หน่วยพิทักษ์ป่า ไม่ว่าจะทุรกันดาร เดินทางเข้าถึงยากลำบากเพียงใด มีสภาพที่ดีพอควร

สัญญาณอินเตอร์เน็ต, ทีวี ทำให้คนในป่า “ท่องโลก” รวมทั้งติดตามข่าวสาร ร่วมเชียร์กีฬา การประกวดร้องเพลง ละคร ก่อน-หลังข่าว ได้ราวกับคนในเมือง

นอกจากฟุตบอล, มวย และวอลเลย์บอลหญิง ที่จะมีเสียงเฮๆ หน้าจอ

ละครก็เป็นอีกอย่างที่หลายคนติด

ช่วงละครออนแอร์ นี่แหละเราจะพบลุงนมนอนบนเปลสีเขียวซีดๆ หมอนยับๆ น่าจะเคยเป็นสีขาว เช็ดน้ำตาด้วยท่าทาง “อินจัด”

“สงสารนางเอกน่ะ ชีวิตเธอเศร้าเหลือเกิน” ลุงนมพูดเสียงเครือ

เรียกเสียงฮาจากคนอื่นๆ ได้อีก

 

บ่ายๆ วันหนึ่ง ผมเดินไปโรงครัวริมน้ำ พบลุงนมนอนดูละครอยู่บนเปล เช็ดน้ำตาป้อยๆ อีกตามเคย

ผมนั่งบนเก้าอี้ข้างๆ

“ผมก็เคยดูทีวีแล้วร้องไห้” ผมพูดเบาๆ ลุงนมหันมามองหน้า

ผมเล่าให้เขาฟังว่า นานแล้ว ผมดูข่าวเสือดาวตัวหนึ่งหลุดจากกรง คนจำนวนมากไล่ล่า มันเข้าไปหลบใต้ท้องรถ ผู้ชายคนหนึ่งใช้ปืนยิงหลายนัด

“เสือมันเอาขาปัดๆ หน้า แผลที่ถูกยิง ผมเห็นแววตามัน แสดงความสงสัยมากว่า คนยิงมันทำไม” ผมเล่า

ลุงนมฟังอย่างตั้งใจ

ข่าวนั้นจบลงด้วยภาพสตรีผู้ที่เลี้ยงเสือดาวตัวนั้น ยืนกางร่มร้องไห้กลางสายฝน

 

ในป่ายังมีเสียงปืน

ยังมีซากสัตว์นอนตายขึ้นอืด อวัยวะโดนตัดไปเพียงบางส่วน

ผู้ชายในชุดเสื้อผ้าขะมุกขะมอม ยืนมองหลายคนสะอื้นไห้

ว่าไปแล้ว “น้ำตา” ไม่ได้ช่วยให้สัตว์ฟื้นคืนชีพ รวมทั้งไม่ได้ช่วยให้ขบวนการค้าสัตว์ป่า ที่ต้องการอวัยวะสัตว์ป่า ยุติได้หรอก

แต่ “น้ำตา”

ทำให้รู้ว่า ผู้ที่ปล่อยให้ไหลออกมา

มีหัวใจ