เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ บัลลังก์เมฆ 2019

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

บัลลังก์เมฆ 2019

 

ละครเวทีเรื่องล่าสุดที่ลงโรงแสดงอยู่ที่รัชดาลัย เธียเตอร์ ในเวลานี้ก็คือเรื่อง “บัลลังก์เมฆ 2019” ที่เปิดการแสดงไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ละคร “บัลลังก์เมฆ” เคยจัดการแสดงไปแล้วเมื่อราว 18 ปีก่อน ตอนนั้นผู้รับบท “ปานรุ้ง” ศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดคือ สินจัย เปล่งพานิช ซึ่งก็ได้รับความชื่นชมจากผู้ชมอย่างมาก ด้วยสามารถแบกละครทั้งเรื่องได้อย่างดี

มาปีนี้ บัลลังก์เมฆได้กลับมาแสดงใหม่โดยการตีความใหม่  จึงเป็นละครเรื่องเดิมที่เหมือนเป็นละครเรื่องใหม่

…งงไหมครับ?

 

ที่พะท้ายด้วยเลข 2019 นอกจากจะบอกว่าเล่นในปีนี้แล้ว ยังบอกอีกว่าเป็นการตีความให้เหมาะสมกับยุคสมัยของสังคมไทยในปี 2019 อีกด้วย นั่นก็คือ ตัวละครแต่ละตัวมีความนึกคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่าสังคมยุคที่ผ่านมา

การตีความของบัลลังก์เมฆใหม่นี้ จึงไม่ได้แสดงถึงมุมมองของ “ปานรุ้ง” ที่เป็น “เมีย” และ “แม่” เป็นหลัก แต่ได้เพิ่มเติมมุมมองของ “ลูกทั้ง 4” เข้ามา ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน และมีพื้นฐานมาจากการเลี้ยงดูและมาจากค่านิยมของสังคมในปีปัจจุบัน

ดังนั้น ละครครั้งนี้จึงเปิดเรื่องด้วยลูกทั้ง 4 ของปานรุ้ง และเล่าย้อนไปถึงสมัยที่แม่ของพวกเขายังเป็นนักเรียนนอก และได้พบกับสามีคนแรก

และตลอดเวลาที่ละครเดินเรื่องด้วยเรื่องราวของปานรุ้ง ก็จะมีการแสดงที่สะท้อนมุมมองของลูกแทรกอยู่เป็นระยะ นี่คือความใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาจากการตีความใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งก็นับว่าเพิ่มมิติให้กับละครมากขึ้น

 

สําหรับเรื่องบัลลังก์เมฆจากบทประพันธ์ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ และยุทธนา มุกดาสนิทนั้น มีผู้ที่เคยสวมบท “ปานรุ้ง” หลายคนทีเดียว ไล่เรียงตั้งแต่ “ภัทราวดี มีชูธน” ภาคละครโทรทัศน์ในปี 2536 แล้วก็เป็น “สินจัย เปล่งพานิช” กับภาคละครเวทีในปี 2544, 2545 และ 2550 ตามมาด้วย “พิยดา จุฑารัตนกุล” ในภาคละครโทรทัศน์อีกครั้งในปี 2557

มาในปีนี้กับภาคละครเวทีอีกครั้ง ผู้ที่รับบท “ปานรุ้ง” คือผู้ที่เคยรับบทลูกสาวของปานรุ้ง คือ “ปานวาท” มาก่อนเมื่อ 18 ปีที่แล้ว นั่นคือ “แพ็ท-สุธาสินี พุทธินันทน์” ลูกสาวของเต๋อ เรวัติ นั่นเอง

18 ปีผ่านไป ชีวิตจริงที่เติบโตขึ้นของแพ็ทจนมีครอบครัวแต่งงานมีลูกของตนเอง ทำให้แพ็ทสามารถสวมบทของปานรุ้งได้อย่างน่าเชื่อไม่น้อย หากเธอไม่มีลูก จะไม่มีทางถ่ายทอดความรู้สึกของคนเป็น “แม่” ได้ชัดเจนเช่นนี้

เหมือนกับ “ชาย ชาตโยดม” ที่รับบท “เกื้อ” สามีคนขับรถของปานรุ้ง ที่มีฉากสำคัญคือ ฉากที่เขาต้องถูกพรากลูกชายวัย 6-7 ขวบไปจากอก เมื่อปานรุ้งพบคนใหม่ที่รวยกว่าสมบูรณ์กว่าเกื้อ

ชายบอกว่าเขาเคยดู “กบ ทรงสิทธิ์” เล่นบทนี้มาก่อน และตนเองก็ใฝ่ฝันอยากได้เล่นบทนี้บ้าง 26 ปีต่อมาเขาก็สมหวัง แต่โอกาสที่มาถึงนี้จะไม่ดีพอหากเขาไม่มีประสบการณ์ของการเป็น “พ่อ” จริงๆ นั่นจึงทำให้เขาแสดงออกถึงความรักของคนเป็น “พ่อ” ได้เนียนใจ เหมือนที่แพ็ทแสดงออกถึงความเป็น “แม่” ดังที่กล่าวไปแล้ว

บางครั้งกาลเวลาจะช่วยให้บางอย่างลงตัว สมบูรณ์ขึ้นด้วยตัวมันเอง

ประโยคบางประโยค เมื่อคนที่อายุน้อยไป 10 ปีพูดจะขาดน้ำหนักทันที ตรงกันข้าม ประโยคเดียวกันนี้จะน่าเชื่อถือเมื่อคนพูดมีวัยวุฒิที่สมกับบริบทนั้น

 

ผมเองเมื่อดูฉากที่ว่านี้ของเกื้อที่แสดงโดยกบ-ทรงสิทธิ์ในครั้งแรกก็อดน้ำตาซึมไม่ได้ เพราะตอนนั้นผมก็มีลูกแล้ว จึงซาบซึ้งตามไปด้วย และเมื่อมาดูชายเล่นครั้งนี้ก็สามารถเรียกความรู้สึกกลับมาได้เช่นเดิม แต่ด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป

นอกจาก “ปานรุ้ง” แล้วยังมีตัวละคร 2 กลุ่มที่เดินเรื่องไปคู่กันคือ “สามีทั้ง 3” และ “ลูกทั้ง 4 ที่เกิดจากสามี 3 คน” สามีทั้ง 3 คราวนี้นอกจากชายที่รับบท “เกื้อ” แล้ว ยังมี “ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง” ที่รับบท “ชูนาม” สามีคนแรกที่เป็นเพลย์บอย และ “จิ๊บ วสุ” ที่รับบทสามีทหารเรือชื่อ “วาสุเทพ”

ที่ดูจะโดดเด่นหน่อยคือ “ทัช” ซึ่งเป็นตัวละครที่มีสีสันให้ได้แสดงออกมากหน่อย ทัชมีฉากที่เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ลั่นโรง เมื่อเขาได้ใช้ทักษะการเต้นชนิด “เท้าไฟ” ของเขา มาเต้นประชันกับเท้าไฟรุ่นหลังอย่าง “ชิน ชินวุฒิ” ที่เล่นเป็นลูก เป็นฉากที่ลงตัวทั้งการเต้น ดนตรี คำร้อง และเป็นฉากจำฉากหนึ่งของละครครั้งนี้

โดยเฉพาะคำร้องที่บอกให้ “คิดบวก” จะต่อเนื่องไปเล่นมุขให้ได้หัวเราะกันต่อในตอนหลังด้วย ฮามาก…

นอกจาก “ชิน ชินวุฒิ” ที่เล่นเป็นลูกชายคนโตที่เกิดกับชูนามแล้ว ก็มี “ตั้ม วราวุธ” รับบท “ปรก” ลูกคนที่ 2 ที่เกิดจากเกื้อ ส่วนลูกอีก 2 คนนั้นเกิดจาก “วาสุเทพ” คือ “ปานวาท” และ “ปกรณ์” ที่รับบทโดยเด็กปั้นจากเวทีรัชดาลัยคือ “พินต้า ณัฐนิช” ที่เคยรับบท “พลอย” วัยเด็กจากละครสี่แผ่นดิน และ “พันวา” ที่เคยฝากผลงานเป็นตัวนำจากละคร “แฟนจ๋า”

 

ส่วนงานทางด้านโปรดักชั่นนั้นได้มาตรฐานดีตามแบบรัชดาลัย เธียเตอร์อยู่แล้ว ทั้งฉาก อุปกรณ์ เสื้อผ้า แสง ระบบเสียง และดนตรี

แต่ที่โดดเด่นมากคืองานภาคดนตรี ที่แม้จะเป็นละครรีเมก แต่ก็ได้มีการแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาหลายเพลง รวมทั้งการเรียบเรียงใหม่ในเพลงเดิมที่ลงตัวอย่างมาก โดยมีเพลง “บัลลังก์เมฆ” ที่ทำหน้าที่เพลงนำละครได้อย่างมีพลัง

ยิ่งเมื่อได้นักแสดงที่มีพื้นฐานการร้องดีอย่างแพ็ทด้วยแล้ว เพลงนี้ทั้งกังวานและกรีดลึกเข้าไปในใจผู้ชมได้เลย

และเพลงนี้เมื่อถูกนำมาใช้กับการร้องประสานเสียงหมู่ในฉากเมรุเผาศพด้วยแล้ว ก็ยิ่งบีบคั้นถึงชะตากรรมของปานรุ้งที่ต้องพบเจอกับเรื่องเลวร้ายจริงๆ

ดูละครแล้วย้อนดูตัว สิ่งที่ละครเรื่องนี้ได้บอกไว้คือ “อย่ายึดติด” อย่าเอาความคิดความรู้สึกของตนไปครอบครองผู้อื่น แม้แต่คนที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคือลูกก็ตาม เพราะแท้ที่สุดแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกและกำหนดชีวิตเองทั้งสิ้น

ความรักของปานรุ้งนั้นไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับใครๆ นั้น “มากเกินไป” จนส่งผลเสียต่อชีวิตที่ไม่เคยมีความสุขแท้จริงสักที ทุกอย่างจึงเข้ามาเหมือนหมอกควันจางๆ ที่ระเหยผ่านไปในที่สุด

“ทางสายกลาง” ยังเป็นจริงเสมอสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ละคร “บัลลังก์เมฆ 2019” นี้ก็ยังบอกย้ำอย่างนั้นอีกและอีก

หาโอกาสไปชมกันนะครับ เห็นว่าเหลือการแสดงอีกไม่กี่รอบแล้ว

รัฐบาลก็จัดตั้งไปเรียบร้อยแล้ว ทิ้งเรื่องปวดหัวของละครการเมืองไปหาความสุขจากละครเวทีกันดีกว่าครับผม