ต่างประเทศ : “นิวเคลียร์” ไพ่ต่อรองของอิหร่าน

กลับมาเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลกอีกครั้งกรณีข้อพิพาทนิวเคลียร์อิหร่าน ท่ามกลางคำถามที่สะท้อนความห่วงวิตกกันว่าอิหร่านจะกลับมามีความสามารถในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์อีกเมื่อใด

หลังจากเมื่อต้นสัปดาห์นี้อิหร่านประกาศว่าได้เสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์เข้มข้นถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงเกินกว่าเพดานกำหนดภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านลงนามทำความตกลงไว้กับชาติภาคีในปี ค.ศ.2015 โดยมีสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นหัวหอกนำ

แต่ก่อนหน้านี้อิหร่านได้แสดงความท้าทายโลกด้วยการกลับมาสะสมยูเรเนียมสมรรถนะต่ำ ในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมาแล้ว ซึ่งการละเมิดพันธสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงดังกล่าวนี้มีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศในอ่าวเปอร์เซียที่ตึงเครียดหนักจากการเผชิญหน้ากันระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร

โดยมีขึ้นหลังจากในต้นปีที่แล้วรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอีกต่อไป และในเวลาต่อมารัฐบาลทรัมป์ก็ได้ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรกลับมาเล่นงานอิหร่านใหม่ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรการค้าน้ำมันที่ถือเป็นเสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจของอิหร่าน

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลอิหร่านยังประกาศกร้าวว่าจะลดทอนการปฏิบัติตามพันธกรณีสำคัญที่อิหร่านมีผูกพันอยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านลงไปเรื่อยๆ ในทุกๆ 60 วัน จนกว่าชาติภาคีที่เกี่ยวข้องในข้อตกลงนี้จะลุกขึ้นมาช่วยปกป้องอิหร่านให้พ้นจากการถูกสหรัฐอเมริกาข่มเหงรังแกด้วยการแซงก์ชั่น!

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเด็น “นิวเคลียร์” ถูกนำมาใช้เป็นไพ่ต่อรองใบสำคัญของอิหร่านอีกครั้ง ในการต่อสู้กับแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับเกาหลีเหนือ อีกคู่ขัดแย้งสำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่ใช้ไพ่ใบเดียวกันนี้ในการต่อกรกับสหรัฐอเมริกาเพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง

ที่ผ่านมาแม้อิหร่านจะยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนเป็นไปเพื่อสันติ โดยมีขึ้นเพื่อการผลิตไฟฟ้าและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ แต่นานาชาติก็ไม่ไว้วางใจ หากอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาก่อภัยคุกคาม

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านจึงบังเกิดขึ้นในปี 2015 ในการลงนามเห็นชอบเป็นภาคีร่วมกันของ 7 ชาติ

อันประกอบด้วย อิหร่าน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย

ภายใต้ความมุ่งหมายของชาติมหาอำนาจที่จะจำกัดควบคุมป้องกันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ส่วนอิหร่านก็ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับคืนมาจากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านของนานาชาติ

 

ภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนี้ที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการร่วมโดยสมบูรณ์ (เจซีพีโอเอ) กำหนดเงื่อนไขครอบคลุมในหลายเรื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

หนึ่งในสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ระดับความเข้มข้นได้ไม่เกิน 3.67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ส่วนการใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์จะมีระดับความเข้มข้นสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

การจำกัดให้อิหร่านสะสมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในคลังเก็บได้ไม่เกิน 300 กิโลกรัมไปจนถึงปี 2031 และการจำกัดให้อิหร่านมีเครื่องหมุนเหวี่ยงได้ไม่เกิน 5,060 เครื่องไปจนถึงปี 2026 หรือ 15 ปีหลังจากที่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปี 2016

ทั้งนี้ จากข้อมูลของรัฐบาลโอบามาอ้างว่าจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2015 อิหร่านมีเครื่องหมุนเหวี่ยงอยู่เกือบ 20,000 เครื่อง ซึ่งมากเพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้จำนวน 8-10 ลูก

นอกจากนี้ ในข้อตกลงนี้ยังจำกัดควบคุมการวิจัยและการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านไว้จนถึงปี 2024 ด้วย

ซึ่งที่ผ่านมาอิหร่านได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้เพื่อแลกกับการยกเลิกการแซงก์ชั่นอิหร่าน โดยอยู่ภายใต้การตรวจสอบและกำกับดูแลของคณะผู้ตรวจสอบของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ)

 

โรเบิร์ต เคลลี อดีตผู้ตรวจสอบของไอเออีเอ ออกมากล่าวเตือนในกรณีที่อิหร่านละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์จากการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสูงกว่าเพดานที่กำหนดว่า แม้จะดูเกินไปเพียงเล็กน้อย แต่การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้มีความเข้มข้นที่สูงขึ้นไปได้แล้ว ก็จะทำให้การเพิ่มดีกรีความรุนแรงเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะมีการทุ่มความพยายามตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ระดับความเข้มข้น 3.67- 5 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าอิหร่านยังไม่ได้ก้าวไปไกลถึงขั้นที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และที่สำคัญคือ เรื่องนี้อยู่ภายใต้สายตาการจับจ้องของผู้นำสหรัฐอเมริกาอยู่

ขณะที่โอลลี เฮโนเน อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันของไอเออีเอมองว่า ณ เวลานี้ การละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านยังไม่ได้มีสิ่งใดที่น่าวิตกกังวลยิ่งใหญ่นัก เพราะยังพอมีเวลาที่จะดึงอิหร่านกลับสู่โต๊ะเจรจาได้ แต่หากไม่มีการลงมือทำสิ่งใด และอิหร่านยังคงสะสมยูเรเนียมเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ภายใน 1 ปีนับจากนี้อิหร่านก็จะสามารถกลับมาผลิตนิวเคลียร์ในเกรดใช้เป็นอาวุธได้ไม่ยากและในเวลาไม่นาน

จากนี้คงต้องรอดูท่าทีของหลายชาติที่เกี่ยวข้อง ที่ตามข่าวมีรายงานว่าผู้นำฝรั่งเศสส่งคนไปเจรจากับอิหร่านอยู่ โดยยังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่าอิหร่านจะยอมผ่อนท่าทีท้าทายอันแข็งกร้าวลงจากการใช้นิวเคลียร์มาเป็นอาวุธต่อรองอีกครั้ง!