‘วันอาสาฬหบูชา’ ที่มา จากวันไหว้ครูโบราณของอินเดีย ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในบรรดาวันพระใหญ่ทั้ง 4 วันของไทยนั้น นับได้ว่า “วันอาสาฬหบูชา” เป็นน้องนุชคนสุดท้องเลยทีเดียวนะครับ

เพราะว่าในขณะที่วันเข้าพรรษา มีหลักฐานเก่าแก่ไปถึงยุคตั้งต้นของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏความอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงว่า “เดือน 8 เข้าพระวษา”

วันวิสาขบูชา เพิ่งมีหลักฐานว่า เริ่มจัดให้มีครั้งแรกในประเทศไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2360 (และแม้ในงานพระราชพิธีคราวนั้นจะอ้างว่า กษัตริย์ในสมัยโบราณเคยกระทำพระราชพิธีนี้มาก่อน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถระบุพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นได้เลย เผลอๆ จะไม่ใช่กษัตริย์อยุธยา แต่หมายถึงกษัตริย์ลังกาเสียด้วยซ้ำ)

วันมาฆบูชา ก็เพิ่งถูกรัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น ส่วนวันอาสาฬหบูชานั้น เพิ่งจะถูกสถาปนาขึ้นมาหมาดๆ เมื่อ พ.ศ.2501 หรือ 60 ปีเศษนี้เอง

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี, ซึ่งต่อมาจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม) มีดำริว่า วันขึ้น 15 เดือน 8 นั้นเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา (คือ แสดงธรรมเป็นครั้งแรก) ให้กับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 (โกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ) ที่เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาก่อนเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จนโกณฑัญญะบรรลุโสดาบัน และขอบวช จึงทำให้เกิดแก้วทั้งสามประการที่เรียกกันว่า “พระรัตนตรัย” คือ พระพุทธ, พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์ประชุมเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น จึงแนะนำให้คณะสังฆมนตรีกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

แน่นอนว่า คณะสังฆมนตรีนั้นก็มีมติเห็นชอบ และกำหนดให้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปีเป็น “วันอาสาฬหบูชา” นั่นเอง

ผมไม่แน่ใจนักว่า พระธรรมโกศาจารย์ใช้หลักฐานจากตรงไหนมาระบุว่า พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เพราะเท่าที่สืบค้นดูคร่าวๆ จากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะส่วนที่เล่าถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนตรัสรู้ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการปฐมเทศนาโดยละเอียดคือ ปาสราสิสูตร ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ก็ไม่ได้เอ่ยเอาไว้เลยสักนิดว่า พระพุทธองค์ทรงปฐมเทศนาในวันไหน?

แต่พระธรรมโกศาจารย์ท่านก็คงจะไม่อุปโลกน์เรื่องนี้ขึ้นมาเองหรอกนะครับ คงจะมีหลักฐานอยู่ตรงอื่นที่ผมสืบค้นไปไม่ถึง

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ คำว่า “อาสาฬหะ” ที่ถูกนำมาเป็นชื่อวันนั้น คือชื่อของเดือนในระบบปฏิทินจันทรคติของอินเดีย ซึ่งก็จะตรงอยู่กับช่วงเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย หรือช่วงราวๆ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ตามระบบปฏิทินสุริยคติที่ใช้กันในปัจจุบันนี่แหละ

คำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” ที่หมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ”

ซึ่งสำหรับชาวพุทธในไทยก็ย่อมหมายถึง การระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าปฐมเทศนา จนมีพระรัตนตรัยครบ 3 ประการ

แต่ในอินเดียนั้น ก็มีการบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะมาแต่เดิมเช่นกัน โดยเป็นการบูชาของพวกพราหมณ์-ฮินดู ที่เรียกเดือนนี้ด้วยภาษาสันสกฤตว่า “อาศาทหะ” (อ่านว่า อา-สาด-หะ, ส่วน อาสาฬหะ นั้นเป็นการเรียกด้วยสำเนียงภาษาบาลี) และแน่นอนว่า พวกพราหมณ์ก็ไม่ได้จะมาระลึกอะไรถึงพระพุทธเจ้าอย่างชาวพุทธในไทยด้วย

ทุกวันเพ็ญเดือนอาศาทหะในแต่ละปี พวกพราหมณ์จะประกอบพิธีที่เรียกว่า “คุรุ ปุรณิมา” แน่นอนว่า “ปุรณิมา” หมายถึง “วันเพ็ญ” ส่วน “คุรุ” นั้นก็แปลมันตรงตัวว่า “ครู” นั่นแหละ

ถูกต้องแล้วนะครับ พิธี “คุรุ ปุรณิมา” นั้นก็คือ พิธีบูชาครูประจำปีของพ่อพราหมณ์เขา หรือจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ “วันไหว้ครู” นั่นเอง

 

โดยส่วนใหญ่แล้วพวกพราหมณ์-ฮินดู จะถือว่า วันเพ็ญเดือนอาศาทหะ (หรืออาสาฬหะ) คือวันคล้ายวันเกิดของ “ฤๅษีกฤษณะ ทไวปยาณะ วยาสะ” (หรือที่คนไทยเรียกว่า ฤๅษีวยาส) ผู้แต่งมหากาพย์ของชมพูทวีปอย่างมหาภารตะ

และก็แน่นอนด้วยว่า นี่แหละคือ “ครู” ที่พวกพราหมณ์ไหว้ โทษฐานที่ประพันธ์ทั้งมหาภารตะ แถมยังถูกยกย่องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในพระเวท ขนาดที่แบ่งพระเวทออกเป็น 4 ส่วน อย่างที่เป็นในทุกวันนี้อีกต่างหาก ถ้าไม่ไหว้ฤๅษีตนนี้เป็นครูแล้ว จะให้ไปไหว้แมวที่ไหน?

แต่พราหมณ์บางพวกก็เชื่อว่า วันเพ็ญเดือนอาศาทหะนั้น คือวันที่พระอิศวร (องค์เดียวกันกับพระศิวะ) ได้เนรมิตพระองค์เป็น “อาทิคุรุ” คือ “ครูคนแรก” ของพวกโยคี เมื่อ 15,000 ปีที่แล้ว และนี่ก็คือ “ครู” ที่พราหมณ์พวกนี้ไหว้

ดังนั้น “ครู” คนที่ไหว้กันในพิธี “คุรุ ปุรณิมา” จะเป็นใครนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า คนที่ไหว้นับถือใครเป็นครู?

อันที่จริงแล้ว อีกหนึ่งศาสนาใหญ่ในอินเดียอย่างศาสนาเชน ก็มีพิธีบูชา “พระมหาวีระ” ผู้เป็นตีรถังกร (คำเรียกศาสดาของพวกเชน) องค์ที่ 24 ในชื่อ “ตรีนก คูหะ ปุรณิมา” (Treenok Guha Purnima) ในฐานะที่เป็นวันที่พระองค์ทรงมีสาวกองค์แรก ไม่ต่างอะไรไปจากศาสนาพุทธ ในขณะที่ศาสนาซิกข์ในอินเดียนั้นก็ถือว่า วันเดียวกันนี้เป็นของศาสดาทั้ง 10 ของพวกเขา ซึ่งก็ล้วนแต่มีคำหน้าชื่อว่า “คุรุ” เหมือนกันทั้งหมด

โดยนัยยะหนึ่ง การปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า นอกจากจะทำให้พระรัตนตรัยทั้ง 3 ครบองค์ประชุมแล้ว ก็ยังทำให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเป็น “ครู” ผู้สั่งสอนพระธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย ในทัศนะของผู้เขียนพระไตรปิฎกแล้ว (ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในวัฒนธรรมของชมพูทวีปแน่) จึงไม่มีวันไหนเข้มขลัง และเหมาะสมที่จะเป็นวันแสดงปฐมเทศนาเท่ากับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรืออาศาทหะ ซึ่งเป็น “วันไหว้ครู” ของอินเดียเขาไปได้หรอกครับ

น่าสังเกตว่า ในคติดั้งเดิม “ครู” ที่ชาวอินเดียไหว้เหล่านี้ ล้วนแต่เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า ศาสดาผู้เผยแผ่ศาสนา ฤๅษี (แน่นอนว่า ฤๅษีวยาสศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะถูกมองเป็นมนุษย์ปุถุชน) ไม่ใช่ครูที่เป็น “มนุษย์”

ในทำนองเดียวกันคติการไหว้ครูแต่ดั้งเดิมของไทยเรา ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ “ความทรงจำ” ของท่านว่า การเรียนหนังสือของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 จะต้องใช้สมุดไทยดำ ลงเส้นบันทึกเนื้อหาที่จะเรียนด้วยหรดาล ใส่พานรองนำไปในวันแรกเข้าเรียน ซึ่งต้องเป็นช่วงเช้าของทุกๆ วันพฤหัสบดี (คือวันครู ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์)

นอกจากนี้ยังต้องมีพานเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยธูป เทียน ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก (เพื่อให้ปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้เร็วฉับไวเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครูให้ยกพานเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชา “หนังสือ”

หนังสือที่ถูกกราบไหว้นั้นคือ สมุดไทยดำลงเส้นหรดาลนั่นเอง

และขอให้สังเกตว่า ที่เขาไหว้คือตัวของหนังสือเอง ไม่ใช่ครูมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการไหว้ครูโขน ละคร หรือดนตรีไทย ที่มีเศียรพ่อแก่ เทริดโนรา เป็นอุปกรณ์สำคัญ เพราะ “ครู” ในที่นี้หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่ผู้สอนในห้องเรียน ซึ่งอินเดียแสดงออกในรูปของ “เทพเจ้า” แต่ไทยแสดงออกในรูปของ “ผี” คือพลังที่อยู่ในสมุดไทยดำ หรือเศียรพ่อแก่

แน่นอนด้วยว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ครู” ในความหมายโบราณ (ในกรณีของพุทธศาสนาคือ พระพุทธเจ้า) นั้นชวนให้ไหว้ มากกว่าครู ในความหมายแบบพิธีไหว้ครูตามสถานศึกษาต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นอย่างมากเลยทีเดียว