Gustave Courbet จิตรกรทรงอิทธิพลคนสำคัญ ผู้ใฝ่หาความเป็นจริงแห่งเสรีภาพ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ลงเรื่องนิทรรศการศิลปะมาติดๆ กันหลายตอนแล้ว ในตอนนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องศิลปินคนสำคัญในอดีตอีกคนที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะร่วมสมัยกันดีกว่า ศิลปินคนนั้นมีชื่อว่า

กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) (1819-1877)

จิตรกรชาวฝรั่งเศสแห่งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้เป็นหัวหอกของศิลปะสัจนิยม (Realism) ขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นในฝรั่งเศสยุคหลังการปฏิวัติในปี 1805

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดเหมือนจริงอันสมจริงและอื้อฉาวท้าทายผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง

กูร์แบเป็นศิลปินที่รังเกียจในความคับแคบของสถาบันศิลปวิทยาการของฝรั่งเศส

เขาปฏิเสธแนวทางศิลปะแบบคลาสสิค (Classicism) และโรแมนติก (Romanticism) ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานโดยสถาบัน และครอบครองวงการศิลปะและวรรณกรรมของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18

กูร์แบปฏิเสธรูปแบบการเล่าเรื่องที่ขับเน้นอารมณ์อันท่วมท้นล้นหลั่ง ฟูมฟาย ดราม่าเกินจริงของศิลปะแบบโรแมนติกอย่างสิ้นเชิง

Self-portrait (The Desperate Man) (1843–45)

และแทนที่จะวาดภาพเรื่องราววีรกรรมของชนชั้นสูงหรือเรื่องราวจากเทวตำนานและนิยายปรัมปรา ที่ศิลปินทั่วไปในยุคนั้นทำกัน เขากลับนำเสนอภาพของบุคคลและเหตุการณ์จริงที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนทุกชนชั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตอันเรียบง่ายสมถะของผู้คนในชนบท ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไปโดยศิลปินในยุคนั้น

กูร์แบไม่หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอด้านไม่พึงประสงค์หรือไม่น่าโสภาของชีวิต และมักจะสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ

ซึ่งงานในลักษณะนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการมาถึงของการถ่ายภาพซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำเสนอความเป็นจริงอย่างไม่ผิดเพี้ยน อันเป็นผลจากการมาถึงของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 19

เขามุ่งมั่นในการวาดภาพแต่ในสิ่งที่เขาเห็นเท่านั้น และปฏิเสธรูปแบบและเทคนิคการวาดภาพในแบบที่สอนในสถาบันศิลปะ อย่างแนวทางศิลปะแบบคลาสสิคและโรแมนติกในยุคก่อนหน้า ที่เน้นความหรูหราประณีตฝีแปรงที่เรียบเนียนละมุนละไม

เขาผสมผสานความหยาบกระด้างเข้ากับความละเอียดอ่อน ด้วยการใช้เทคนิคการวาดภาพเหมือนจริง ที่ละทิ้งความประณีตหรูหรา และใช้ฝีแปรงหยาบหนาและทิ้งร่องรอยหยาบกระด้างไว้ให้เห็น

สไตล์การวาดภาพอันแปลกใหม่เช่นนี้กลายเป็นที่ยกย่องและส่งอิทธิพลต่อศิลปินโมเดิร์นนิสต์ในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) อย่างเอดูอาร์ มาเนต์ (?douard Manet) และโคล้ด โมเน่ต์ (Claude Monet)

เขาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินคนสำคัญของฝรั่งเศสและของโลก ในฐานะนักบุกเบิกผู้มาก่อนกาลและศิลปินผู้แสดงออกถึงประเด็นทางสังคมอย่างกล้าหาญตรงไปตรงมาผ่านผลงานของเขา

ภาพวาดของกูร์แบในช่วงปลายยุค 1840s และต้นยุค 1850s สร้างชื่อเสียงให้เขา ในฐานะที่มันท้าทายขนบธรรมเนียมเก่าๆ ทางศิลปะด้วยการวาดภาพชนชั้นล่างของสังคมที่ไม่ได้อยู่ในอุดมคติของงานจิตรกรรมแบบแผน อย่างชาวไร่ชาวนาและกรรมกร

Self-Portrait (Man with Leather Belt) (1845–1877)

เพราะโดยตามแบบแผนแล้ว งานจิตรกรรมนั้นสงวนไว้สำหรับเรื่องราวทางศาสนาและประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูงเท่านั้น

เขามักจะวาดภาพธรรมดาๆ ของคนธรรมดาสามัญ อย่างท้องทุ่งนา ทิวทัศน์ทะเล การล่าสัตว์ ภาพหุ่นนิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเปลือย

ผลงานภาพเปลือยของเขาที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือภาพวาด L”Origine du monde (1866) หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) (ซึ่งเราเคยพูดถึงเมื่อนานมาแล้ว)

ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ กูร์แบวาดภาพ “โยนี” ในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภาพเปลือยที่ไม่ปรากฏหน้าตาของนางแบบ หากแต่โคลสอัพไปที่หว่างขาที่อ้าออกกว้าง เปิดเผยอวัยวะซ่อนเร้นเบื้องล่างของเธอให้เห็นอย่างจะแจ้งและแสดงความยั่วยวนทางเพศอย่างเต็มที่จนแทบจะน่าขัน

เขาปฏิวัติธรรมเนียมโบร่ำโบราณในการวาดภาพเปลือยที่คนสมัยนั้นยอมรับได้ก็แต่ภาพของเทพธิดาในเทพปกรณัมและนางในเทพนิยายเท่านั้น และหันมาวาดภาพเปลือยของคนธรรมดาสามัญที่มีตัวตนอยู่จริงแทน

ว่ากันว่าเดิมทีภาพนี้ถูกว่าจ้างโดยนักการทูตชาวอียิปต์-ตุรกี ผู้มีรสนิยมทางศิลปะเฉพาะทางเพื่อเก็บเอาไว้ดูเป็นส่วนตัวในหมู่พวกพ้องคอเดียวกัน

แต่ภายหลังจากที่เขาล้มละลายจากหนี้การพนัน ภาพนี้ก็ถูกขายผ่านมือนักสะสมศิลปะหลายต่อหลายคน

จนในปัจจุบันมันถูกแขวนให้ชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musee d”orsay) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

และถึงแม้เวลาจะล่วงผ่านไปนาน ผลงานชิ้นนี้ก็ยังคงอื้อฉาว และส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นมาร์แซล ดูชองป์ หรือเจฟฟ์ คูนส์

รวมถึงศิลปินร่วมสมัยในแขนงต่างๆ อีกมากมาย (ซึ่งเราก็เคยเล่าให้ฟังมาบ้างแล้วน่ะนะ)

โดยปกติ ศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นับหน้าถือตาในยุคนั้นจะเข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการแสดงศิลปะแห่งชาติของฝรั่งเศส หรือซาลง (Salon) ที่จัดโดยภาครัฐ

แต่กูร์แบกลับปฏิเสธระบบที่ว่านี้อย่างสิ้นเชิง

The Stone Breakers (1849)

เขาเป็นผู้บุกเบิกการแสดงงานนิทรรศการเดี่ยวด้วยตัวเอง โดยร่วมมือกับองค์กรธุรกิจเอกชนแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิเสธขนบธรรมเนียมเก่าๆ ของวงการศิลปะที่ถูกอุ้มชูโดยรัฐบาลแล้ว เขายังกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ศิลปินหัวขบถรุ่นหลังๆ ทำตามอีกด้วย

นอกจากบทบาททางศิลปะแล้ว กูร์แบยังมีบทบาททางด้านการเมือง ถึงแม้ผลงานของเขาจะไม่แสดงออกถึงเนื้อหาทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง แต่ด้วยบริบทของยุคสมัยนั้น ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันแสดงออกถึงแนวคิดของความเท่าเทียมและความเสมอภาค ด้วยการเชิดชูความธรรมดาสามัญของปัจเจกชน และวาดภาพคนเหล่านั้นออกมาในขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร และวาดออกมาตามความเป็นจริง โดยไม่ซ่อนความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบเอาไว้

A Burial At Ornans (1849–50)

ในช่วงปี 1871 เขาก็ยุติบทบาทจิตรกรชั่วคราว เพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเข้าร่วมในกลุ่มคอมมูนปารีส ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายสังคมนิยมที่ต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ก่อนที่กลุ่มจะถูกปราบปราม

ส่งผลให้เขาถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปยังสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1873 และอาศัยอยู่ที่นั่นจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

 

หนึ่งในภาพวาดชุดหุ่นนิ่งที่เขาวาดขึ้นในขณะที่ถูกจับกุมจากบทบาทการเข้าร่วมในกลุ่มคอมมูนปารีสในปี1871โดยเขาอนุญาตให้ใช้ขาหยั่งและสีวาดรูป แต่ไม่มีใครมาเป็นแบบให้เขาจึงวาดภาพหุ่นนิ่งของอาหารและผลไม้เหล่านี้แทน
The Trout (1871)

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขากล่าวว่า

“ฉันอายุ 50 กว่าปี และฉันมักจะมีชีวิตอยู่อย่างมีอิสระและเสรีภาพ; ปล่อยให้ฉันจบชีวิตอย่างอิสระเถิด; เมื่อฉันตาย ปล่อยให้ผู้คนพูดถึงฉันว่า : “เขาไม่เคยเป็นนักเรียนของโรงเรียนใด, ไม่เคยเป็นศาสนิกชนของโบสถ์ไหน, ไม่เคยเป็นคนของสถาบัน หรือวิทยสถานใด ท้ายที่สุด ไม่ใช่ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองใด ยกเว้นระบอบการปกครองแห่งเสรีภาพ”

ภาพและข้อมูลจาก https://bit.ly/1MV375w, https://bit.ly/2XBW4eU, https://bit.ly/2L4LR3I, https://bit.ly/31UVY1h