ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มกราคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ผมชนะมาตลอดชีวิต ผมไม่ค่อยแพ้ และผมเกือบจะไม่เคยแพ้เลย”
-โดนัลด์ ทรัมป์-
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกในช่วงปลายปี ค.ศ.2016 ก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งชัยชนะเป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ทั้งๆ ที่หลายๆ ฝ่ายในขณะนั้นดูจะเชื่อมั่นอย่างมากว่าชัยชนะจะตกเป็นของ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต
ผลจากโพลก่อนการเลือกตั้งก็ดูจะมีทิศทางคล้ายๆ กันว่านางคลินตันจะเป็นผู้ชนะ
แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะกลายเป็นนายทรัมป์
แม้นว่าชัยชนะของทรัมป์จะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งในอเมริกา แต่ด้วยสถานะของความเป็นรัฐมหาอำนาจ ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นย่อมจะกระทบต่อความเป็นไปในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้ส่งสัญญาณโดยตรงถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับระบบระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐนั้น ย่อมจะมีผลอย่างมากต่ออนาคตของระเบียบระหว่างประเทศ
และบางครั้งเราอาจจะต้องยอมรับความจริงในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า รัฐมหาอำนาจเป็นผู้กำหนด “วาระ” (agenda) ในเวทีระหว่างประเทศ
และการกำหนดเช่นนี้ก็เป็นผลโดยตรงจากทัศนะในตัวผู้นำนั่นเอง
อีกทั้งเราคงจะต้องตระหนักในความเป็นจริงอีกประการด้วยว่า รัฐเล็กๆ ไม่ใช่ผู้กำหนดวาระเช่นนี้
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ นโยบายของรัฐใหญ่และ/หรือรัฐมหาอำนาจจะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางและแนวโน้มของโลก
ดังนั้น ชัยชนะของทรัมป์จึงเป็นดังสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศนั่นเอง
ชัยชนะของทรัมป์
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 บ่งบอกถึงความแตกต่างของผู้สมัครทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ถ้านางคลินตันเป็นตัวแทนของความเป็นสากลในแบบของคนที่เป็น “นักสากลนิยม” (Internationalist) แล้ว
เราก็อาจกล่าวได้ว่านายทรัมป์เป็นตัวแทนของ “นักชาตินิยม” (nationalist) และเป็นการผสมผสานอีกส่วนก็คือความเป็น “นักประชานิยม” (populist) ที่มาพร้อมกับข้อเสนอในลักษณะของการหาเสียงที่เอาใจประชาชนที่เป็นคนผิวขาว และโดยเฉพาะเป็นคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นล่าง
ฉะนั้น หากนางคลินตันหาเสียงพร้อมกับข้อเสนอในรูปลักษณ์ที่เป็นแบบโลกาภิวัตน์ นายทรัมป์ก็พร้อมที่จะแสดงออกถึงการ “ชน” กับโลกาภิวัตน์ด้วยข้อเสนอในการหาเสียงที่แทบจะนึกไม่ถึงว่าเมื่อถูกแปลงเป็นนโยบายแล้ว นโยบายใหม่ของสหรัฐจะมีลักษณะเป็นเช่นไร
ซึ่งก็ดูจะเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ “แคร์” กับโลกภายนอกและกฎกติกาของระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นเสรีนิยม
ซึ่งว่าที่จริงแล้ว liberal world order เป็นกระแสหลัก หรืออย่างน้อยก็เป็นทิศทางใหญ่ของระเบียบโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา
หรือบางทีเราอาจจะย้อนกลับไปถึงระเบียบแบบเสรีนิยมนี้กำเนิดคู่ขนานกับการกำเนิดของ “คอนเสิร์ตแห่งยุโรป” (Concert of Europe) หลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้สงครามวอเตอร์ลูใน ค.ศ.1815 แล้ว
แม้คอนเสิร์ตแห่งยุโรปหรือ “คองเกรสแห่งเวียนนา” จะดูเป็นการรวมศูนย์ของกลุ่มผู้นำรัฐที่ชนะสงครามนโปเลียนทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย และอังกฤษ ซึ่งอาจจะดูทิศทางไปในแบบอนุรักษนิยม
แต่ก็มีกระแสเสรีนิยมแทรกซ้อนอยู่
ไม่ว่าจะเป็นกระแสของการค้าเสรีในเวทีระหว่างประเทศ
การต่อต้านการค้าทาส และการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เป็นต้น
และกระแสเช่นนี้ปรากฏชัดอีกครั้งในช่วงสมัยของประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน แห่งสหรัฐ ที่มาพร้อมกับการเมืองแบบเสรีนิยม เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และการค้าเสรีระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะจากช่วงเวลาของประธานาธิบดีวิลสันหรือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา กระแสในลักษณะของ “ลัทธิเสรีนิยมระหว่างประเทศ” (liberal internationalism) ได้รับการยอมรับว่าเป็นทิศทางหลักของกระแสโลก
และยิ่งเมื่อโลกก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ก็ยิ่งตอกย้ำถึงทิศทางของโลกที่เป็นกระแสเสรีนิยม
แต่ทิศทางเช่นนี้ได้รับการท้าทายอย่างมากจากคำประกาศและข้อเสนอของทรัมป์ในช่วงของการรณรงค์หาเสียง ซึ่งมีทิศทางไปในแบบอนุรักษนิยม
หรือบางทีอาจจะต้องเรียกว่าเป็นแบบ “ประชานิยมปีกขวา” (Right-wing Populism)
ว่าที่จริงแล้ว ทรัมป์แสดงตัวไม่แตกต่างจากกลุ่มการเมืองปีกขวาในยุโรปที่มีท่าทีต่อต้านโลกาภิวัตน์ และผสานเข้ากับปัญหาในปัจจุบันที่รวมถึงการต่อต้านผู้อพยพ
ซึ่งในบริบทนี้ก็อาจรวมถึงการต่อต้านคนมุสลิมภายใต้กระแส “กลัวอิสลาม” เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปหลายประเทศหลังจากการก่อตัวของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (กลุ่ม IS) ที่ขยายปฏิบัติการมาสู่ยุโรป
อีกทั้งยังรวมถึงการเหยียดเพศและเหยียดผิวคู่ขนานกันไปด้วย
ซึ่งแน่นอนว่าทิศทางโดยรวมแล้วก็คือการหวนคืนของกระแสขวาในโลกปัจจุบัน แต่การจะนิยาม “ซ้าย” หรือ “ขวา” ในแบบยุคสงครามเย็นอาจจะไม่เหมาะสม เพราะความแตกต่างของบริบททางการเมือง
ดังนั้น นักวิชาการอีกส่วนอาจจะหันกลับไปใช้คำเดิมที่เคยเรียกช่วงเวลาของการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน หรือนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ว่าเป็นยุค “ประชาอำนาจนิยม” (authoritarian populism)
อันเป็นการผสมผสานระหว่างอำนาจนิยมกับประชานิยม
การสนธิของอุดมการณ์ 2 ชุดนี้ อาจเรียกว่าเป็น “ประชานิยมปีกขวา” ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก “ความกลัวเสรีภาพ”
ทิศทางเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ ได้แก่ การขึ้นสู่อำนาจของ เบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลีใน ค.ศ.1922 และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนีใน ค.ศ.1933
การเปรียบเช่นนี้มิได้มีนัยว่าผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ เป็นผู้นิยม “ลัทธิฟาสซิสต์” (Fascism) หากแต่การแสดงออกในการรณรงค์หาเสียงนั้น
สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงทิศทางการเมืองในลักษณะที่ต่อต้านเสรีนิยม และต่อต้านสากลนิยม
ดังนั้น การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของทรัมป์จึงเป็นความท้าทายต่อระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นเสรีนิยมอย่างมาก
อีกทั้งคำถามสำคัญก็คือ หากระเบียบเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปจริงในอนาคต อันเป็นผลจากนโยบายใหม่ของผู้นำสหรัฐแล้ว รูปลักษณ์ของระเบียบโลกในอนาคตจะเป็นเช่นไร?
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นในอีกด้านหนึ่งถึงการต่อสู้ของกระแสความคิดระหว่าง “โลกาภิวัตน์” กับ “การต่อต้านโลกาภิวัตน์” ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต
อันทำให้เกิดคำถามถึงรูปลักษณ์ของกระแสโลกาภิวัตน์ในอนาคตอีกด้วย
ชัยชนะของเบร็กซิท
อีกเหตุการณ์สำคัญของโลกที่เกิดขึ้นช่วงกลางปี 2016 ก็คือการลงประชามติของชาวอังกฤษเพื่อที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่รู้จักกันในชื่อกรณี “เบร็กซิท” (Brexit หรือ British Exit)
การลงประชามติเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2016 และมีผู้ออกเสียงร้อยละ 51.9 ให้อังกฤษออกจากอียู
ผลของประชามติเช่นนี้ทำให้รัฐบาลลอนดอนจะต้องดำเนินกระบวนการถอนตัวอย่างเป็นทางการให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2017
และกระบวนการนี้จะทำให้สมาชิกภาพของอังกฤษในสหภาพยุโรปสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2019
ผลของการแพ้ประชามติของรัฐบาลนายกฯ เดวิด คาเมรอน ทำให้เขาต้องลาออก และเปิดโอกาสให้ นางเทเรซา เมย์ ผู้นำสายอนุรักษนิยม ขึ้นเป็นนายกฯ แทน
ซึ่งความพ่ายแพ้ของความต้องการให้อังกฤษอยู่ในสหภาพนั้น ก็เป็นภาพสะท้อนของกระแส “ประชานิยมปีกขวา” ที่กำลังขยายตัวมากขึ้นในการเมืองยุโรป
กระแสชุดนี้เป็นตัวแทนของความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวผู้อพยพ… กลัวตกงาน… กลัวก่อการร้าย… กลัวคนมุสลิม และกระแสเช่นนี้กำลังพัดพาไปทั่วทั้งยุโรป
แน่นอนว่าอังกฤษไม่ใช่รัฐไวมาร์ (Weimar) ของเยอรมนีที่เปิดทางให้แก่การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ เพราะผลจากการสำรวจนั้น คนที่มีทัศนะแบบ “ขวาจัด” ในอังกฤษมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น
และคนที่มีทัศนะแบบ “ซ้ายเสรีนิยม” หรือพวก “ซ้ายสายกลาง” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพวก “สากลนิยม” และมีทิศทางสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพนั้นมีถึงร้อยละ 37
ดังนั้น พวกที่เป็นประชานิยมปีกขวาจึงอาจเป็นพวกกลางๆ โดยทั่วไปที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของความกลัวเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้น
กล่าวคือ คนที่เป็นกลางบางส่วนพร้อมที่จะเปลี่ยนจุดยืนไปเป็นพวกขวา อันเป็นผลจากการขยายตัวของปัญหาใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญหาผู้อพยพ และปัญหาการก่อการร้าย เป็นต้น
ว่าที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะคล้ายกับยุโรปในทศวรรษ 1930 ที่ผู้คนเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยความหวาดกลัว
ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น
ในสภาวะเช่นนี้ ผู้คนจึงมักจะเรียกร้องหา “ผู้นำที่เข้มแข็ง” (คือผู้นำแบบ charismatic leadership) ผู้นำเช่นนี้เป็นดัง “ผู้วิเศษ” หรือเป็น “magic helper” ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ให้
และขณะเดียวกันก็ร้องหาการชุมนุมใหญ่ หรือกล่าวในสำนวนภาษาอังกฤษได้ว่า คนเหล่านี้รักและชื่นชม “the theatre of the mass rally” ซึ่งลักษณะเช่นนี้ได้รับการตีความว่าเป็น “ความเข้มแข็ง” อันทำให้ผู้สนับสนุนประชานิยมปีกขวาเชื่อว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวทีโลกเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ความเข้มแข็ง vs. ความอ่อนแอ”
และในสภาวะเช่นนี้พวกเขาจึงต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและไม่ต้องการนโยบายเสรีนิยมที่ถูกมองว่าอ่อนแอ เพราะลัทธิเสรีนิยมนำมาซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกลัว
เช่น นโยบายเสรีที่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่การอพยพของผู้ลี้ภัย ดังกรณีของนโยบายของรัฐบาลเยอรมนีปัจจุบัน
ผลเช่นนี้ทำให้พวกเขามีท่าทีที่ไม่ใส่ใจต่อปัญหาเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
กระแสขวายุโรปขยายตัว
ถ้ามองปี 2016 จากเบร็กซิทสู่การเลือกตั้งสหรัฐแล้ว การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารทำเนียบขาวของทรัมป์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสอดประสานกันของกระแส “ประชานิยมปีกขวา” ซึ่งอีกส่วนก็เห็นได้ชัดบนภาคพื้นทวีปยุโรป
ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มประชานิยมปีกขวาในหลายประเทศของยุโรปเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเปิดการลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป
พวกเขาถือเอาชัยชนะของ “เบร็กซิท” ในอังกฤษเป็นแม่แบบ เช่น กลุ่มขวาในเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็อาจอธิบายได้ว่ายุโรปในปี 2015 เผชิญกับวิกฤตการณ์ของผู้อพยพจากตะวันออกกลางอย่างหนัก
การทะลักของผู้อพยพชาวมุสลิมที่ฝ่าข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือเดินทางทางบกผ่านเส้นทางยุโรปตะวันออก จากต้นปี 2016 จนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นมีผู้อพยพทางทะเลมากถึง 290,000 คน
และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึง 3,200 คน
หรือสภาพของการอพยพนี้ทำให้อิตาลีกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเดินทางทางเรือ เพราะอิตาลีมีภูมิรัฐศาสตร์เป็นดัง “พรมแดนทิศใต้” ของสหภาพยุโรป
เมื่อการเดินทางผ่านเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลางดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด อิตาลีจึงกลายเป็น “หน้าด่าน” ของการแบกรับภาระผู้ลี้ภัยไปโดยปริยาย แน่นอนว่ารัฐบาลและผู้คนโดยทั่วไปไม่พึงพอใจกับการต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้
อีกทั้งในปี 2015 ต่อเนื่องปี 2016 ประเทศหลักในสหภาพยุโรปเองก็ต้องเผชิญกับการก่อการร้าย
ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี
ผลเช่นนี้ทำให้ความกลัวผู้อพยพขยายจนเป็นความกลัวผู้ก่อการร้ายไปด้วย
ผลของการสำรวจประชามติในเดือนกรกฎาคมพบว่า ชาวยุโรปร้อยละ 58 มองว่าการรับผู้อพยพเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการก่อการร้ายในประเทศตน (ผลสำรวจจาก Pew Research Center)
ดังนั้น ผลจากสภาพเช่นนี้จึงไม่แปลกนักที่มีคนสนับสนุนผู้นำประชานิยมปีกขวาอย่าง มารีน เลอ แปง ซึ่งประกาศนโยบายชัดเจนว่า “ไม่มีการศึกษาฟรีสำหรับลูกหลานผู้อพยพ” ตลอดรวมถึงกระแสประชานิยมปีกขวาในการเลือกตั้งในออสเตรีย เป็นต้น
ดังนั้น การปรากฏตัวของกระแสเบร็กซิท โดนัลด์ ทรัมป์ และ มารีน เลอ แปง ล้วนแต่ตอกย้ำว่าโลกในปี 2017 กำลังกลายเป็นเวทีของ “ประชานิยมปีกขวา”
อันเป็นกระแสขวาใหม่ แต่ไม่ใช่กระแสขวาเก่า ซึ่งล้าหลังเกินไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน!