การศึกษา / ถึงเวลามหา’ลัยต้องปรับ ‘วิธีคิด’ ได้เวลา ‘ทปอ.’ ยกเครื่อง ‘ทีแคส’??

การศึกษา

 

ถึงเวลามหา’ลัยต้องปรับ ‘วิธีคิด’

ได้เวลา ‘ทปอ.’ ยกเครื่อง ‘ทีแคส’??

 

ทําเอาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถึงกับ “อึ้ง” กันเป็นทิวแถว หลังการรับสมัคร “ทีแคส” หรือการสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 ทั้ง 5 รอบเสร็จสิ้นลง

เพราะนอกจาก “ผู้สมัคร” จะน้อยกว่าจำนวน “ที่นั่ง” ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งประกาศรับรวมกันจากปีที่ผ่านมาแล้ว

ยังมีที่นั่ง “เหลือ” มากกว่า 2 แสนที่นั่ง!!

ทั้งๆ ที่ทำใจกันเอาไว้บ้างแล้ว แต่เมื่อเห็นตัวเลขที่นั่งที่เหลือจริงๆ ก็ทำเอาผู้บริหารต้องกุมขมับกันไปตามๆ กัน

ลางบอกเหตุเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่การรับสมัครทีแคสเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะที่นั่งเหลือบานเบอะเช่นกัน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเลขการรับสมัครกันใหม่ในปีนี้

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรมากมายนัก

โดยเฉพาะการรับสมัครทีแคสรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งหมด 62 แห่ง จำนวน 72,852 ที่นั่ง แต่มีผู้ยื่นสมัครเพียง 59,723 ราย มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 21,207 ราย ในจำนวนนี้ 16,393 ราย ยืนยันสิทธิ อีก 4,494 ราย ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และเลือกไม่ใช้สิทธิ 320 ราย

เท่ากับที่นั่งในรอบที่ 5 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของการรับสมัครทีแคสในปีการศึกษา 2562 มีเหลือมากถึง 56,459 ที่นั่ง

ฉะนั้น ถ้า ทปอ.และมหาวิทยาลัยยังไม่ปรับแผนรับมือกันใหม่ การรับสมัครทีแคสในปีการศึกษา 2563 อาจจะต้อง “ช็อก” กันอีกรอบ!!

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม ทปอ.ซึ่งมีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ. นั่งหัวโต๊ะเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สรุปปัญหาและอุปสรรคของการรับสมัครทีแคสทั้ง 5 รอบของปีนี้

เริ่มจากจำนวนผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยทั้งหมดเปิดรับถึง 13% ทำให้มีที่นั่งเหลือในมหาวิทยาลัยมากกว่า 2 แสนที่นั่ง

เรื่องนี้ ทปอ.ได้เตรียมพูดคุยกันถึงแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวอย่างแรง เพื่อให้อยู่รอด…

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ทปอ.มองว่าได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า ที่เพิ่งรวบรวมเป็นครั้งแรก ทำให้สังเกตได้ถึง “พฤติกรรม” ของเด็กยุคใหม่ในการสมัครทีแคส อาทิ พฤติกรรมการสละสิทธิ์เป็นอย่างไร คณะ หรือสาขาวิชาใดที่เด็กยุคนี้สนใจ หรือสละสิทธิ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นยังพบว่าการรับทีแคสในแต่ละรอบ มีจุดเด่น และความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป

อย่างทีแคส รอบที่ 1 พอร์ตฟอลิโอ หรือแฟ้มสะสมผลงาน มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุด

ทีแคส รอบที่ 2 โควต้า มีผู้ยืนยันสิทธิการเข้าเรียนมากที่สุด

ส่วนรอบที่ 5 รับตรงอิสระ มีผู้สละสิทธิ์น้อยที่สุด เนื่องจากเป็นการรับสมัครในรอบสุดท้าย

แต่ปัญหาที่พบก็ยังมีหลากหลาย เช่น ผู้สมัครบางส่วน ยื่นสมัครทีแคสรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จำนวนหลายที่ โดยเฉพาะรอบแรกที่ไม่จำกัดสาขาวิชา ทำให้สมัครได้หลายที่ แต่ท้ายที่สุดต้องเลือกได้เพียงที่เดียว ทำให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าสมัครจำนวนมาก และยังไปกันสิทธิที่นั่งของคนอื่นด้วย

แสดงว่า ทปอ.ให้โอกาสกับผู้สมัคร “มากเกิน” ไปหรือไม่…

ซึ่งขณะนี้ ทปอ.เตรียมระดมความเห็นจากนักวิชาการของ ทปอ.เอง รวมถึงมหาวิทยาลัย และทีมวิชาการที่มีอยู่ มาร่วมถกกันครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดการ “ตกผลึก” แนวคิดในด้านต่างๆ

ทั้งแนวทางการลด “วิชาสอบ” ที่มีมากมาย และซ้ำซ้อน…

และการลด “รอบ” ทีแคสในอนาคต ซึ่งปัจจุบันใช้เวลาค่อนข้างมาราธอนในการรับสมัครถึง 5 รอบ!!

 

แต่เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น นางเพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รองเลขาธิการ ทปอ.ได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวเลขที่นั่งในมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกกล่าวถึงว่ายังว่างมากกว่า 2 แสนที่นั่ง โดยนางเพ็ญรัตน์ระบุว่า ไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่ว่านี้ว่าถูกต้อง เพราะจำนวนรับที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งส่งให้ ทปอ.กับที่นั่งที่มหาวิทยาลัยเปิดรับจริงๆ แตกต่างกัน

เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะแจ้งที่นั่ง “เผื่อ” รับเอาไว้ เพราะกลัวว่าจะรับนิสิตนักศึกษาไม่ได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้น ในปีการศึกษา 2563 ทปอ.จะขอให้มหาวิทยาลัยแจ้งจำนวนที่นั่งที่รับ “จริง” เพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น

ซึ่งภาพรวมเบื้องต้นของการดำเนินงานทีแคส 5 รอบ ที่ ทปอ.รวบรวมไว้ มีดังนี้

รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 67 แห่ง รับ 4,019 สาขาวิชา 130,140 ที่นั่ง สมัคร 134,723 คน ผ่านการคัดเลือก 86,760 คน มีสิทธิเข้าเรียน 58,161 คน คิดเป็น 28.3%

รอบ 2 โควต้า เข้าร่วม 67 แห่ง รับ 5,005 สาขาวิชา 99,033 ที่นั่ง สมัคร 143,474 คน ผ่านการคัดเลือก 73,675 คน มีสิทธิเข้าเรียน 51,043 คน คิดเป็น 24.8%

รอบ 3 รับตรงร่วมกัน เข้าร่วม 62 แห่ง รับ 4,014 สาขาวิชา 134,142 ที่นั่ง สมัคร 108,121 คน ผ่านการคัดเลือก 66,480 คน มีสิทธิเข้าเรียน 41,775 คน คิดเป็น 20.3%

รอบ 4 แอดมิสชั่นส์ เข้าร่วม 70 แห่ง รับ 4,048 สาขาวิชา 122,523 ที่นั่ง สมัคร 69,440 คน ผ่านการคัดเลือก 52,315 คน มีสิทธิเข้าเรียน 38,414 คน คิดเป็น 18.7%

และรอบ 5 รับตรงอิสระ 62 แห่ง รับ 3,582 สาขาวิชา 57,248 ที่นั่ง สมัคร 29,498 คน ผ่านการคัดเลือก 21,207 คน มีสิทธิเข้าเรียน 16,402 คน คิดเป็น 8%

สำหรับข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับทีแคสทั้ง 5 รอบ ทปอ.จะสรุปผลการดำเนินงาน สถิติ ผู้ผ่านการคัดเลือก ผู้มีสิทธิเข้าเรียน และข้อมูลสถิติอื่นๆ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้!!

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาที่นั่งในมหาวิทยาลัยเหลือบานเบอะแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ ทปอ.ต้องปรับเกี่ยวกับระบบทีแคส

ทั้งการปรับ “เล็ก” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ในปีการศึกษา 2563

และการปรับ “ใหญ่” ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือประมาณปีการศึกษา 2565 เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

ไม่ว่าจะเป็น “ลด” รอบการสมัครทีแคสให้น้อยกว่า 5 รอบ ปรับรวมทีแคสรอบ 3 และรอบ 4 ปรับขั้นตอนการรับสมัครในรอบ 1 และรอบ 2 โดยให้ยืนยันสิทธิพร้อมกันในครั้งเดียว เพื่อลดปัญหาการสละสิทธิ์ และให้นักเรียนได้คณะที่ต้องการเรียนจริงๆ

รวมถึงปัญหาเรื่องการบริหารจัดการสิทธิ เพราะผู้สมัครจะสละสิทธิ์ตอนไหนก็ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการได้ค่อนข้างลำบาก

ประเด็นเหล่านี้ คณะกรรมการดำเนินการรับสมัครทีแคสของ ทปอ.จะหารือกันช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อวางแนวทางการดำเนินการทีแคส ประจำปีการศึกษา 2563 ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เห็นว่าการปรับระบบทีแคส จะต้องแก้ที่ปัญหาต้นทางด้วย โดยมหาวิทยาลัยเองต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เนื่องจากนักศึกษาลดลง จึงต้องปรับลดหลักสูตร และพัฒนาหลักสูตรที่มีคุณภาพ รวมถึง เปิดหลักสูตรเพื่อรองรับกลุ่มบุคลลที่หลากหลาย และเตรียมเปิดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่งเอง ก็ “ตกใจ” เช่นกัน เมื่อรู้ว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัยเหลือมากกว่า 2 แสนที่นั่ง ซึ่งอาจมาจากหลายๆ ปัจจัย

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) มีมติสนับสนุนแนวทางการลดรอบการสมัครในระบบทีแคสลงให้น้อยกว่า 5 รอบ

ส่วนที่นั่งที่เหลือจำนวนมาก เพราะมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า “ปริญญา” ไม่สำคัญอีกแล้ว เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ และหันไปมุ่งสายอาชีพมากขึ้น

ดังนั้น ถ้า ทปอ.และมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ “คิดใหม่” หรือ “คิดต่าง”

ยังต่างคนต่างแข่งกันรับแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือรับเผื่อเลือก

     การรับสมัครทีแคสในปีการศึกษา 2563 คงได้เห็นความโกลาหลกันอีก!!