สมหมาย ปาริจฉัตต์ : 4 คุณป้ามหาภัย สะท้อนคิดการศึกษาไทย (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังจบรายการ 3 นักคิด นักปฏิรูปการศึกษาถ่ายทอดแนวคิด กระบวนการปฏิบัติ 3 นวัตกรรมการศึกษาจบลง เวทีเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน” เริ่มขึ้น

เปิดเวทีให้ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทำหน้าที่กำกับ ติดตามการดำเนินงานสะท้อนความคิดถึงสิ่งที่พบ นำโดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานกรรมการกำกับทิศทางโครงการ SQip

ครูกษมาเริ่มด้วยการสร้างบรรยากาศเบาๆ ชวนแฟนพันธุ์แท้นึกถึงฉากในละครโทรทัศน์เรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด” คุณภาพสะท้อนความคิด แนวทางจัดการศึกษาเพื่อดูแลเด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติ บทบาทของครู พ่อ-แม่ผู้ปกครอง ครอบครัว ได้อย่างน่าชื่นชม

ก่อนเล่าต่อถึงประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างติดตามโครงการ SQip พบว่าปรับตัวอยู่ตลอด แสดงถึง 1.ความมั่นใจ กล้าหาญ 2.เป็นทิศทางของอนาคต ที่ให้บทเรียนกับคนทำงานปฏิรูปการศึกษารอบต่อไป ออกแบบทีมงานตัวช่วยจากประสบการณ์จริงของผู้ทำงานด้านการศึกษามาแล้วทั้งสิ้น 3.มีระบบติดตามดูแลใกล้ชิดมาก

“ยังมีทีมคุณป้ามหาภัยสมัครใจมาช่วยติดตาม ไม่ต้องให้เงิน ไม่มีอำนาจสั่งการ ไม่มีบารมีให้ใครต้องเกรงใจ เลยพูดได้เต็มปาก ไม่สงวนสิทธิ์ว่าเป็นโครงการของฉัน ความคิด แนวทางต่างๆ ต้องมาจากฉัน พบหลายโมเดลมีทั้งที่ดีแล้ว ปานกลาง ยังต้องพัฒนาอีกก็มี สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้สะท้อนความล้มเหลว แต่เป็นประสบการณ์ของเรา”

“ดำเนินงานมา 4 ภาคเรียนทำให้มองเห็นโจทย์ เห็นสภาพจริง ความยากลำบาก สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ปัญหาอยู่ไหน ยังไม่มีคำตอบจากปัญหาเหล่านี้ จะได้ฟังจากระดับผู้ปฏิบัติในโรงเรียน ซึ่งพบว่าแต่ละทีมกล้าพูด น่าภาคภูมิใจ ทีมงานรุ่นใหม่ ครูแกนนำเก่งมาก ตัวอย่างที่ภูเก็ต ผู้บริหารทำงานโดยมีข้อมูลเป็นฐานทำให้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เริ่มมีคำตอบ ทั้ง ผอ.โรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่ มีระบบบบริหารที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ จะเป็นผู้นำเขตนวัตกรรมการศึกษาของท่าน”

 

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับไมค์ต่อ

“จากการติดตามโครงการมีอะไรที่ สพฐ.ต้องรับไป ผู้นำโครงการมีประสบการณ์ปฏิบัติหลากหลาย จึงเป็นอีกครั้งที่มีความหวังว่าจะยกระดับคุณภาพ สพฐ.และร้อยรัดกับ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ 5Q ของโครงการ SQip มีความสำคัญในการผลักดัน ตัวอย่าง Q information ทำให้ฝ่ายแผนได้เข้ามารับรู้ Q Coach ศึกษานิเทศก์มีบทบาทสนับสนุน การนำแนวทางปฏิบัติของโครงการเข้าสู่ระบบกการศึกษา ต้องฝากทุกคนในห้อง จริงๆ มีการถอดบทเรียน ระดับนโยบายต้องลงไป”

“ตัวอย่างกระบวนการจัดการเรียนการสอน วิชาโครงงาน IS การทำโครงงาน ทำอย่างไรให้มีคุณภาพได้ผล ที่ผ่านมาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท. หรือ IPST) สนับสนุน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ สำคัญในการพัฒนาหลักสูตร จะเปลี่ยนอย่างไรให้ดีที่สุด นำสู่การขยับของ สพฐ.ต่อไป”

 

ต่อไปเป็นคิวของ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ หนึ่งใน “คุณป้ามหาภัย” กรรมการกำกับทิศทางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สะท้อนคิดว่า ได้ติดตามโครงการของวิทยากรทั้งสามเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ดีมาก โดยเฉพาะการบริหารจัดการองค์กร พยายามทำให้การสร้างชุมชนวิชาชีพ (PLC) เป็นวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร พบว่า 1 ใน 3 ก้าวหน้ามาก 1 ใน 3 กลางๆ อีกส่วนท้าทายต้องปรับปรุง ต้องช่วยมากขึ้น ซึ่งก็มีความหวัง โรงเรียนมีหลายเจเนอเรชั่น ถ้ากระบวนการดี ตัวชี้วัดชัด เพียงแต่ผลยังลงไม่ถึงชั้นเรียนนัก

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ทำในระดับที่ลงลึก สร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ เน้นตัวผู้เรียน หากขยายเต็มรูปแบบจากระดับห้องไปสู่ทั้งโรงเรียนจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ตัวอย่างโรงเรียนบุญวาทวิทยาลัย ลำปาง ขยายผลทำทั้งโรงเรียน ผู้บริหารรับลูก ต่อไปการวัดผลคุณภาพนักเรียน ผ่าน Pisa คงกระโดดถึงแถวหน้า”

“ส่วนแนวทางโค้ชครูสู่ผู้เรียน Teacher Coaching จะอยู่กับตัวครูต่อไป ครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียนของตัวเอง ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการต้องผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งงบประมาณให้เกิดการสนับสนุนมากขึ้น

 

ผู้ทรงคุณวุฒิท่านสุดท้าย รศ.ทิศนา แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครูเริ่มด้วยแสดงความดีใจที่ได้เห็นกระบวนการสร้างชุมชนวิชาชีพนำไปสู่การปฏิบัติจริง PLC in Action ไปได้ดี ได้ผลระดับหนึ่งแล้ว กำลังจะงอกงามช่วงนี้ สอดรับกับ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ มุ่งเน้นที่ความสามารถ สมรรถนะของผู้เรียน

“โครงงานฐานวิจัย เน้นเรื่องความเข้าใจการเรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมาก การเรียนรู้ใดถ้าไม่เข้าใจอย่างแท้จริงก็ผ่านการทดสอบไปไม่ได้ ที่ผ่านมาเด็กไทยถูกประเมินว่าไม่เข้าใจอย่างแท้จริง การเรียนรู้อย่างเข้าใจ มีหลากหลายวิธีเลือกสรรได้ เมื่อเข้าใจแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่พบเป็นประจำทุกวัน”

“การเรียนการสอนมุ่งหวังให้ผู้เรียนเข้าใจ เอาไปใช้ได้ ครูใช้กระบวนการ PLC เข้าใจการสอน การเรียนรู้ของผู้เรียน ครูมีพฤติกรรมการสอนอย่างไร ข้อมูลพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างไร ครูต้องศึกษาผู้เรียนให้มากขึ้น” ฟังแล้วผมคิดถึงโครงการวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียนที่มีความหลากหลายของ นพ.ก้องเกียรติ เกษเพชร์ เลขาฯ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สอดคล้องกับสิ่งที่ครูทิศนาพูด

“หลักสูตรการเรียนการสอนต้องวิจัยและพัฒนาเป็นวงรอบ เราไม่มีระบบเก็บข้อมูลตรงนี้ ถ้าทำโรงเรียนจะมีข้อมูลเป็นคลังความรู้” เธอว่า ก่อนย้ำ “จิตวิญญาณความเป็นครู ทำอย่างไรให้มีจริงๆ อาจมีตอนเริ่มต้นเป็นครูแล้วเสื่อมไป จนบางคนมีน้อยมีมาก ทำอย่างไรให้คงอยู่ได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ต้องมีการให้รางวัล โดยเฉพาะทางใจสำคัญมาก”

“เสียงของเด็ก ฟังเด็กเยอะๆ เด็กคิดถึงเหตุการณ์อะไรที่ประทับใจครูของเขา เด็กเขียนเล่า เราอ่านแล้ว เข้าถึงความคิด ความรู้สึกของเขา เด็กคิดอย่างนี้ เด็กรักครู ซึ้งมาก ขณะเดียวกันที่เด็กเกลียดครู อะไรจะถึงขนาดนี้ เด็กเปิดเผยความคิดต่อการกระทำของครู เราไม่เคยรู้ หากครูเปิดรับความคิด ความรู้สึก ด้วยข้อมูล จะทำให้เข้าใจเด็กมากขึ้น อาจช่วยสนับสนุนให้ครูมีกำลังใจ เอาไปปรับปรุงตัวเอง”

สะท้อนคิดจากมุมของครูทิศนา ประเด็นจิตวิญญาณของความเป็นครู รับฟังเสียงสะท้อนของเด็กที่มีต่อครู สะกดผู้ฟังทั้งห้อง นิ่งเงียบกริบ ก่อนปรบมือด้วยความประทับใจ