คำ ผกา | คิดต่างหรือคิดผิด

คำ ผกา

สิ่งที่ดาราชื่อปั้นจั่นโพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาความว่า

“คสช.อยู่มา 4-5 ปี บอกสืบทอดอำนาจ ได้อยู่ต่ออีก 3 ปี ก็ยังบอกว่าสืบทอดอำนาจ แล้วไอ้ที่สืบๆ กันมาจนลูกจบนอกขับซุปเปอร์คาร์นี่มันยังไง ตรูไม่เห็นจะมีนักการเมืองใช้ชีวิตธรรมดาสักคน ต้นทุนบางคนที่ได้มาพ่อ-แม่ก็เอามาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าบ่นมาก ทำมาหากินไป มีเยอะก็เอาไปช่วยคนอื่นละกัน ทำบุญเยอะๆ ไม่ใช่แดกเหล้าปาร์ตี้มันทุกคืน”

มันอาจจะไม่เป็นธรรมกับปั้นจั่นนักที่จะวิจารณ์โพสต์นี้ของเขา เพราะเขาตั้งค่าไว้ให้อ่านกันเฉพาะเพื่อน ไม่ได้ตั้งค่าเป็นสาธารณะ

แต่เมื่อมันเป็นสาธารณะไปแล้วเพราะกลายเป็นข่าวในสื่อและแพร่หลายไปทั่ว ไม่ได้อ่านกันเฉพาะเพื่อนไม่กี่คน

ฉันคิดว่าข้อความนี้พึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

ฉันพยายามจะทำความเข้าใจความหมายของโพสต์นี้จากภาษาไทยที่เขียนขึ้นมาอย่างไม่ค่อยจะได้ความนักว่า คนเขียนคงพยายามจะบอกว่า คสช.เพิ่งอยู่ในอำนาจแค่ 4-5 ปี แล้วจะอยู่ต่ออีกสัก 3 ปี (?) จะบ่นอะไรกันนักกันหนา

ในขณะที่นักการเมืองอยู่ในอำนาจกันมาตั้งหลายสิบปี ร่ำรวยอยู่บนภาษีประชาชน (หรือแปลว่านักการเมืองโกง) เพราะฉะนั้น จะมาเดือดร้อนอะไรกับ คสช. เลิกบ่นแล้วเอาเวลาไปทำมาหากินเสีย แทนที่จะปาร์ตี้ กินเหล้า

ปั้นจั่นคะ – ไม่เนียนไปเรียนมาใหม่นะคะลูก – ที่คนเขาบอกว่า คสช.สืบทอดอำนาจ เพราะ คสช.เข้ามาอยู่ในอำนาจจากการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนเขาเลือกมา จะดีจะชั่ว นี่คือเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน อันพึงได้รับการเคารพ

ถ้ารัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมา และชนะการเลือกตั้ง มันชั่วช้านัก ก็ต้องล้มรัฐบาลนั้นด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ตั้งแต่รอครบเทอม 4 ปี เลือกตั้งใหม่, ออกไปประท้วงจนรัฐบาลอาจต้องยุบสภา, ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนรัฐบาลแพ้โหวตในสภา มีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลใหม่

วงจรของระบอบประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ออกมาทำรัฐประหาร แล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง จากนั้นมีกฎหมายพิเศษแบบมาตรา 44 อันมีอำนาจไร้ขีดจำกัด ปกครอง กำราบประชาชนด้วยความกลัวโดยการอ้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

และที่คนเขามาวิจารณ์เรื่องสืบทอดอำนาจนั้น ปั้นจั่นรู้จักคำว่ารัฐธรรมนูญไหม?

ปั้นจั่นรู้ไหมว่าใครร่างใครเขียนรัฐธรรมนูญ ปั้นจั่นรู้เรื่องที่มาขององค์กรอิสระ รู้เรื่องที่มาของ กกต. รู้เรื่องการตั้ง ส.ว. อะไรต่อมิอะไรไหม?

ปั้นจั่นอ่านข่าวก็ต้องรู้เรื่องการตั้งพรรคพลังประชารัฐ และการมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในขณะที่เป็นนายกฯ ผู้มีมาตรา 44 อยู่ในมือ – ถ้าใส่ใจอ่านข่าวสักนิดก็คงเข้าใจว่า ทำไมคนเขาวิจารณ์กันเรื่องสืบทอดอำนาจ

ส่วนเรื่องนักการเมืองสืบทอดอำนาจนั้น ไม่รู้ว่าปั้นจั่นหมายถึงใครอย่างไร?

แต่ถ้าหมายถึงพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาลมาต่อเนื่อง ก็อยากจะอธิบายหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นให้ทราบว่า การได้เป็นรัฐบาลของเขานั้น ได้เป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 อันทุกคนยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแล้ว

และทักษิณ หรือพรรคไทยรักไทยก็ไม่ได้ให้เนติบริกรมาร่างรัฐธรรมนูญเอื้อให้ตนเองอยู่ในอำนาจนะ รัฐธรรมนูญก็ร่างมาโดย สสร.ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

ที่เขาได้เป็นรัฐบาลต่อเนื่องก็เพราะประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลถล่มทลาย 19 ล้านเสียง

ปั้นจั่นเคยได้ยินเรื่องนี้ใช่ไหม?

ดังนั้น สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการได้อยู่ในอำนาจเพราะประชาชน 19 ล้านเขาโหวตให้อยู่ในอำนาจน่ะค่ะ

แม้ว่าปั้นจั่นและเพื่อนจะไม่เป็น 1 ใน 19 ล้านที่โหวต แต่นี่คือประชาธิปไตยไงคะ เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่

ถ้าเราอยากให้พรรคการเมืองที่เรารัก เราชอบ เราเชียร์ เราเห็นว่าเก่ง ชนะการเลือกตั้ง เราในฐานะประชาชนก็ทำแคมเปญ วิจารณ์รัฐบาลเก่า ด่าสาดเสียเทเสีย ด่าได้หมดนะ ไม่มีใครจับไปเข้าค่ายปรับทัศนคติที่ไหน

แล้วก็พยายามโน้มน้าวสังคมให้เห็นว่า อีกพรรคเก่งกว่าดีกว่า

แล้วสู้กันในสนามเลือกตั้ง

ไม่ใช่แพ้แล้วเอาพรมแดงไปปูแล้วเป่านกหวีดขอทหารเข้ามาทำรัฐประหาร

ทีนี้นักการเมือง ลูกนักการเมืองเขาจะขับรถอะไรก็เรื่องของเขา ตราบเท่าที่เขาเป็นนักการเมืองในสภาที่เราตรวจสอบได้ และองค์กรอิสระเป็นอิสระจริงๆ ไม่ใช่แถไปแถมาว่านากาต่างๆ เป็นของยืมเพื่อน อะไรแบบนั้น

เราไม่แคร์ว่านักการเมืองจะรวยจะจน

แต่สิ่งที่เราแคร์คือ การเมืองที่ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ทั้งจากในสภา, จากภาคประชาสังคม จากประชาชน และสื่อไม่ถูกปิดปากห้ามวิจารณ์ ตรวจสอบรัฐบาล – อะไรอย่างนี้น่าจะเคยได้เรียนมาบ้างสมัยมัธยมต้นใช่ไหม?

ทีนี้จะมาห้ามไม่ให้คนเขาบ่นไม่ได้ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี และรัฐบาลใช้ภาษีของเราในรูปของงบประมาณบริหารประเทศ

อันดับแรกเลยคือ คนจะมาใช้งบฯ นี้ต้องเป็นคนที่เราเลือกไปเป็นตัวแทนของเรา ไม่ใช่คนที่ปล้นอำนาจเราไป แล้วสั่งให้เราหุบปาก จากนั้นจะเอางบฯ นี้ไปใช้อะไรก็เปิดเผยบ้างไม่เปิดเผยบ้าง หรือไปซื้อในสิ่งที่ประชาชนไม่อยากได้

เช่น ประชาชนอยากได้รถเมล์ดีๆ แต่เขาอยากได้เรือดำน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงต้อง “บ่น”

เวลาที่เราทำมาหากินได้เงินมา เราไม่จำเป็นต้องเอาไปช่วยคนที่ลำบากนะคะปั้นจั่น เพราะเราเสียภาษีแล้ว รัฐบาลที่เก่งที่ดี ที่รักประชาชน มีหน้าที่บริหารเงิน บริหารงบฯ ไปดูแลคนที่ “ลำบาก” คนที่ “อ่อนแอ”

เขาเรียกว่า ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน แก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการ empower เขา สร้างโอกาสให้พวกเขา

ไม่ใช่เอาเงินไปให้เขาแบบให้ขอทาน

ประเทศที่อารยะแล้วเขาไม่ช่วยใครแบบสังคมสงเคราะห์ แต่การช่วยคนที่ยากจน อ่อนแอในมิติต่างๆ ต้องทำผ่านนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากร ความรู้ เพิ่มต้นทุนในชีวิต เพื่อให้คนพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นมาได้

เรื่องการทำบุญนั้นเป็นรสนิยมและความเชื่อทางศาสนาของปัจเจกบุคคล คนที่อารยะก็ย่อมไม่ไปสั่งสอนหรือไปบอกใครให้ไปทำบุญ

อันนี้เป็นมารยาทพื้นฐานที่พึงทราบ

การกินเหล้าปาร์ตี้ก็เป็นรสนิยม เป็นเรื่องส่วนตัว ภาษาชาวบ้านเขาว่าอย่าเสือก – นะคะ

เมื่อโพสต์อะไรแบบนี้ออกไปแล้ว ถูกโจมตี หรือถูกบอยคอต ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา

มีคนบอกว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทำไมเราไม่ยอมรับคน “คิดต่าง” ทำไมต้องไปทำลายอาชีพการงานกันด้วย

ก็ขอตอบว่า ใช่ นายเอ (นามสมมุติ) มีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว มีสิทธิในการแสดงความเห็น และรสนิยมทางการเมืองของตน และถ้าหากนายบี (นามสมมุติ) ไม่ชอบความเห็นของนายเอ นายบีก็มีสิทธิจะวิจารณ์และเลิกไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านนายเอได้เช่นกัน

นายบีอาจจะไปคุยกับนายซี ให้เลิกอุดหนุนนายเอ อย่างไรก็ตาม นายซีอาจจะบอกว่า เออ ไม่เห็นด้วยกับมัน แต่ก๋วยเตี๋ยวมันอร่อย ยังไงก็คงเลิกไปกินไม่ได้หรอก ขอแยกสองเรื่องนี้ออกจากกันนะ – นั่นก็เป็นสิทธิของนายซี ซึ่งนายบีก็ไม่มีสิทธิไปต่อว่าด่าทอ โกรธเคืองใดๆ นายซี

สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีวุฒิภาวะควรเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ? การเลิกอุดหนุนสินค้าของเขา ไม่ใช่การคุกคาม แต่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเป็นคนคนไป

ตรงกันข้าม ถ้านายเอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง แล้วนายบีซึ่งเป็นลูกน้องนายเอไปแสดงความเห็นคัดค้านว่าสิ่งที่นายเอพูดนั้นไม่ถูกต้อง นายเอได้ใช้ความเป็นหัวหน้างาน ไล่นายบีออกจากงาน – อันนี้แหละ ถึงจะเรียกว่าคุกคาม กลั่นแกล้ง

ในแวดวงดารานักแสดงไทยเขาก็ลือกันว่า ใครแสดงตัวว่าโปรประชาธิปไตยอย่างออกนอกหน้ามักจะอยู่ “ไม่รอด” มีสภาพเป็นจัณฑาลในวงการ เป็นข้าวนอกนา เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์

จริงหรือไม่ ไม่ทราบ ก็คงมีแต่คนในวงการแสดงบันเทิงด้วยกันเองเท่านั้นที่จะรู้

ตอนนี้มีการขุดภาพดาราเป่านกหวีดอะไรต่อมิอะไรออกมา ก็มีการโวยวายว่าล่าแม่มด ทำลายคนคิดต่าง

ฉันก็ขอบอกสั้นๆ ว่า คอนเซ็ปต์ของการยอมรับเปิดกว้างรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายนั้นเป็นฐานคิดในระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อใน Free speech

ในสังคมประชาธิปไตยถ้าคุณออกมาพูดว่าคุณรักเผด็จการ ไม่มีใครจับคุณเข้าคุก คนอาจไม่เห็นด้วยกับคุณ วิจารณ์คุณ เย้ยหยันคุณ แต่จะไม่มีใครเดินไปชกหน้าคุณ หรือออกกฎหมายมาปิดปากไม่ให้คุณพูด

สิ่งเดียวที่เขาจะทำคือจะบอกว่า คุณรู้จักเผด็จการดีแค่ไหน แล้วแน่ใจหรือว่าคุณอยากอยู่ภายใต้ระบอบนั้น?

พูดง่ายๆ สังคมประชาธิปไตยจะไม่จับใครเข้าคุกเพียงเพราะเขาชื่นชมเผด็จการ แต่เขาจะพยายามสร้างบทสนทนากับคุณเพราะเราเชื่อในเรื่องการเรียนรู้

ความน่าขันที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตอนนี้คือ ในภาวะที่ ณ ขณะนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้เป็นฝ่ายกุมอำนาจนำ เรียกได้ว่าเป็นไก่รองบ่อนอย่างชัดเจน อ่อนแอทั้งอำนาจและทรัพยากร กลับถูกเรียกร้องให้ยอมรับคนที่สนับสนุนเผด็จการที่ถือครองอำนาจนำอยู่แล้วว่า “พวกแกใจแคบจัง ทำไมไม่รู้จักยอมรับคนที่คิดต่าง แค่เขาเชียร์เผด็จการ ทำไมต้องด่าเขาขนาดนั้น”

เดี๋ยวถ้าสังคมนี้มีภาวะที่ประชาธิปไตยถือครองอำนาจนำอยู่แล้วมีคนบ้าๆ บอๆ สอง-สามคนที่สติไม่ได้ ออกมาเชียร์นาซี เชียร์เผด็จการใส่เสื้อสวัสติกะ เออ… เราจะบอกว่า เฮ้ย ต้องมีขันติธรรมกับเขา ต้องให้เขามีที่อยู่ที่ยืนนะ

แต่นี่เราอยู่ในสังคมที่นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยยืนอยู่บนความเสี่ยงในทุกรูปแบบ

เผชิญกับภาวะสองมาตรฐานในทุกมิติ เป็นฝ่ายแพ้พ่ายในทุกสมรภูมิ แล้วยังจะมีหน้าให้ฝ่ายนี้รับรองความเห็นคนเชียร์เผด็จการในนามของการยอมรับความคิดต่าง – ตลกที่สุด

และที่สำคัญคือฝ่ายเชียร์เผด็จการไม่เคยมีที่ทางสำหรับความคิดต่างในทุกเรื่อง ถึงเวลาตัวเองจะได้ประโยชน์จากคอนเซ็ปต์เรื่องความคิดต่าง ก็เลือกจะสมาทานแนวคิดนี้ขึ้นมาซะอย่างนั้น ไม่ต้องมีปี่มีขลุ่ย selective แบบเลือกเอาแต่ที่กูได้ประโยชน์ นี่สมกับฝ่ายเชียร์เผด็จการจริงๆ

สำหรับฉัน การเชียร์เผด็จการไม่ใช่การคิดต่าง แต่เป็นการคิดผิด เพราะในสังคมเผด็จการไม่มีเรื่องการ “คิดต่าง” ให้เคลมนะจ๊ะ