ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : นางเงือกในพระอภัยมณี สุนทรภู่นำมาจากเรื่องเล่า ของชาวเรือในเกาะลังกา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในพระอภัยมณีของ “สุนทรภู่” มีตัวละครพิเศษซึ่งไม่มีอยู่ในปรัมปราคติของอินเดีย (เช่น นาค ครุฑ กินรี หรืออีกสารพัดสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นต้น) อย่าง “เงือก” อยู่ด้วย

และก็น่าสังเกตนะครับว่า คำว่า “เงือก” แต่ดั้งเดิมนั้น ไม่ได้หมายถึงอะไรที่มีตัวเป็นมนุษย์ แล้วมีหางเป็นปลา ตามอย่างที่เข้าใจกันในทุกวันนี้ แต่หมายถึง “งู” หลักฐานมีอยู่ในวรรณกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา คือ โองการแช่งน้ำ

ดังความที่พรรณนาถึงพระอิศวรว่า “เอาเงือกเกี้ยวข้าง” คือการที่พระอิศวรเอาพญานาควาสุกรี (พราหมณ์อินเดียเรียกวาสุกิ) มาเป็นสังวาลย์คล้องพระองค์ไว้

ดังนั้น “เงือก” ในความหมายที่ไม่ใช่งู แต่เป็นมนุษย์ที่มีหางเป็นปลานี่ คงต้องเป็นอะไรที่เข้ามาใหม่ ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเห็นตรงกันว่า มาจาก “mermaid” (ถ้าเป็นตัวผู้เรียก “merman”) ของฝรั่ง

โดยเฉพาะเมื่อเทพนิยาย (fairy tale) อย่าง “The Little Mermaid” ฉบับโด่งดังของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น (Hans Christian Andersen) กวี นักเขียน และนักรวบรวมเทพนิยายชาวเดนมาร์ก ได้ตีพิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ.2379

อันเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับที่สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี เพราะมีผู้สันนิษฐานเอาไว้ว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งพระอภัยมณีค้างทิ้งเอาไว้เมื่อเรือน พ.ศ.2376 และได้เริ่มแต่งส่วนที่ค้างไว้อีกครั้งใน พ.ศ.2380

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าพี่ไทยเราจะมาเพิ่งรู้จักเงือกเอาในสมัยของสุนทรภู่หรอกนะครับ (และพวกฝรั่งเองก็ไม่ได้เพิ่งจะมีเงือกเอาเมื่อแอนเดอร์เซ่นตีพิมพ์เทพนิยายเรื่องที่ว่าออกมา) เพราะมีรูปเขียนของเงือกอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว

แถมรูปร่างหน้าตาของเงือกในสมุดภาพพวกนี้ ก็ยังเหมือนกับเงือกของฝรั่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะมีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างนั้นเป็นปลาจริงๆ คือไม่มีขา

เงือกของสุนทรภู่ต่างหากที่แตกต่างออกไปจากเงือกของฝรั่ง เพราะว่าในพระอภัยมณีเล่าถึงตอนที่นางผีเสื้อสมุทรจับพ่อแม่เงือกกินว่า

 

“แล้วนางยักษ์ฉีกสองแขน ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่”

 

เช่นเดียวกับตอนจบของพระอภัยมณีที่พระอินทร์มาตัดหางปลาให้กับนางเงือก เพื่อที่จะได้ไปอยู่กินกับพระอภัยมณีบนบก ไม่ต้องมาติดแหง็กอยู่แต่ในน้ำได้ ก็มีแต่การพร่ำพรรณนาถึงการตัดหาง ไม่เห็นมีว่าจะเสกขาให้เหมือนมนุษย์ที่ตรงไหน ดังนั้น เงือกของสุนทรภู่จึงมีทั้งแขน มีทั้งขา ไม่ต่างจากมนุษย์ เพียงแต่มีหางเป็นปลาเท่านั้นเอง

และเมื่อเงือกของสุนทรภู่ออกจะต่างไปจากเงือกของฝรั่งแล้ว เงือกสาวคนรักของพระอภัยมณีตนนี้จะยังน่าจะมีที่มาจากเงือกของฝรั่งอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า?

 

นอกเหนือจากนางเงือกในพระอภัยมณีแล้ว ในวรรณกรรมเก่าของไทยก็ยังมีอะไรที่คล้ายๆ กับเงือกอยู่อีกตนหนึ่งคือ “นางสุพรรณมัจฉา” ในรามเกียรติ์

ความในรามเกียรติ์ระบุว่า นางสุพรรณมัจฉาเป็นลูกสาวของทศกัณฐ์ มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ และท่อนล่างเป็นปลา แต่ไม่ได้มีรายละเอียดระบุไว้ว่ามีขาหรือเปล่า?

ในตอนที่เรียกกันว่า “จองถนน” คือฉากที่พระรามสั่งให้พลลิงทั้งหลายขนหินมาถมทะเลเพื่อสร้างเป็นสะพานข้ามไปเกาะลงกานั้น ทศกัณฐ์ได้สั่งให้นางสุพรรณมัจฉานำฝูงปลาออกขัดขวาง จนนางได้พบกับหนุมาน แล้วก็ได้เสียกันจนเกิดเป็น “มัจฉานุ”

มัจฉานุนั้น ถึงจะมีหางเป็นปลาเหมือนนางสุพรรณมัจฉา แต่ก็มีขาเหมือนลิง ตามอย่างหนุมานผู้เป็นพ่อ ซึ่งก็ชวนให้คิดถึงเงือกในพระอภัยมณีอยู่ไม่น้อย แต่ความตอนนี้คือ เรื่องของแม่ลูก สุพรรณมัจฉา กับมัจฉานุนั้น ไม่มีในรามายณะต้นฉบับในอินเดียเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนไหนๆ เรียกได้ว่า เป็นเรื่องที่มีเฉพาะในรามายณะเวอร์ชั่นของอุษาคเนย์เท่านั้น (ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่มีเงือกในจักรวาลของปรัมปราคติอินเดีย)

ที่มาของนางสุพรรณมัจฉา หรือเงือกในรามเกียรติ์นั้น ก็จึงเป็นเช่นเดียวกับเงือกในพระอภัยมณี คือมีแรงบันดาลใจมาจากที่อื่น แต่ก็ไม่ได้เหมือนเงือกของฝรั่งเสียทีเดียว แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรื่องของนางสุพรรณมัจฉา เพิ่งปรากฏในรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ไม่ได้มีในฉบับก่อนหน้า ทั้งฉบับที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยา และกรุงธนบุรี อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับยุคสมัยของสุนทรภู่

 

อันที่จริงแล้ว สุนทรภู่ก็เรียก “นางเงือก” ว่า “สุพรรณมัจฉา” ด้วยเหมือนกัน ดังปรากฏอยู่ในตอน “ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง” ดังความที่ว่า

 

“อันบทเบื้องเรื่องมนุษย์ขอหยุดไว้ จะกล่าวไปถึงสุพรรณมัจฉา”

 

คำว่า “สุพรรณมัจฉา” ในที่นี้ ไม่ควรจะเป็นชื่อของนางเงือก เพราะตลอดทั้งเรื่องสุนทรภู่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อของนางเงือกเลย (จนกระทั่งมาสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง นางจึงได้มีชื่อกับเขาเสียที)

ดังนั้น จึงพอจะเห็นร่องรอยอะไรบางอย่างระหว่างรามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1 กับพระอภัยมณีของสุนทรภู่

และประเด็นสำคัญก็คือ ทำไมรามเกียรติ์สมัยรัชกาลที่ 1 จึงได้เติมเรื่องของนางสุพรรณมัจฉาเข้ามาในฉากจองถนน?

ในจดหมายส่วนตัวฉบับหนึ่ง ซึ่งนายแพทย์ชาวสเปนที่ชื่อ ดิมาร์ บอสเก้ (Dimas Bosque) ได้เขียนขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2108 ได้บอกเล่าประสบการณ์ของเขาเองที่พบบนชายฝั่งเมืองมันนาร์ (Mannar) บนเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาปัจจุบัน เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นให้กับเพื่อนของเขาว่า เขาได้พบเข้ากับปลา ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ที่ติดอวนของชาวประมงขึ้นมา เป็นตัวเมีย 9 ตัว และตัวผู้อีก 7 ตัว

เขาประหลาดใจมากกับสิ่งที่เห็น และด้วยความเป็นหมอ เขาจึงจัดการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกายของเจ้าปลาประหลาดที่ว่านี้ โดยได้ชำแหละดูอวัยวะภายในด้วย ก่อนที่เขาจะสรุปว่า เจ้าปลาประหลาดนี่ทำให้เขานึกถึงตัวไซเรน (Siren) ตามตำนานของเมืองซิซิลี ในประเทศอิตาลี

ตัวไซเรนเป็นสัตว์ประหลาดในเทพนิยายที่มีมาตั้งแต่ในยุคกรีกเรืองอำนาจ มันมีเสียงอันไพเราะที่จะหลอกลวงลูกเรือเข้าไปเชือด แต่ในสมัยกรีกและโรมันนั้น มันมีรูปร่างเหมือนกับนกมากกว่าที่จะเป็นปลา แต่พอมาในสมัยของคุณหมอบอสเก้คนที่ว่านี่ รูปร่างหน้าตาของตัวไซเรนก็ค่อยๆ กลายเป็นคนครึ่งปลา โดยไม่เหลือคราบนกอีกเลย เพราะไปปนเข้ากับเงือกนี่แหละครับ (สังเกตง่ายๆ ได้อีกอย่างจากความเชื่อเรื่องเสียงอันไพเราะของเงือกใน The Little Mermaid)

พูดง่ายๆ ว่า คุณหมอคนนี้บอกว่าเขาได้เจอเข้ากับเงือกบนเกาะลังกานั่นเอง

 

จดหมายฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ทางคริสต์ศาสนา เพราะข้อความที่คุณหมอพูดถึงเจ้าปลาประหลาด โดยเกี่ยวโยงไปถึงความมหัศจรรย์ของพระเจ้า ซึ่งก็มีการถกเถียงอยู่เป็นระยะว่า เจ้าปลาที่ว่านี่มันคือพะยูนหรือเปล่า?

(แน่นอนว่า ก็มีคนที่สงสัยเช่นกันว่า จะมีใครตื่นเต้นว่าพะยูน มีรูปร่างร่างกายคล้ายคน เหมือนคุณหมอบอสเก้จริงหรือ?)

แต่ไม่ว่าเจ้าปลาเหล่านี้จะเป็นอะไรก็ตาม ก็ไม่สำคัญเท่ากับที่คุณหมอได้บอกเอาไว้ว่า ชาวประมงพื้นเมืองเรียกเจ้าปลาพวกนี้ ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า “คนทะเล” (sea man/sea woman)

น่าเสียดายที่คุณหมอท่านนี้ไม่ได้บอกไว้ในจดหมายว่า คำพื้นเมืองที่ว่าคืออะไร? (บางทีคุณหมออาจจะลืม เพราะจดหมายเขียนหลังเหตุการณ์ 5 ปี) แต่นี่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อของชาวประมงที่เมืองมันนาร์ บนเกาะลังกา เกี่ยวกับอะไรที่คล้ายๆ เงือก เพราะในจดหมายก็เล่าว่าชาวประมงพวกนี้ตื่นเต้นมากพอดู

และเมืองมันนาร์ที่ว่านี้ ก็คือบริเวณแหลมที่ยื่นออกจากเกาะลังกา ตรงกันกับแนวของแหลมที่คนอินเดียเรียกว่า “สะพานพระราม” บริเวณเมืองราเมศวรัม ทางใต้ของอินเดีย

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรียกแค่ชื่อ แต่ยังเชื่อกันอีกด้วยว่า แหลมนี้เกิดขึ้นจากพระรามสร้างสะพานไปเกาะลังกา ตรงที่หนุมานได้เสียกับนางสุพรรณมัจฉานั่นแหละ

ถ้าสุนทรภู่เคยเดินทางไปเกาะลังกาจริงตามที่ปราชญ์หลายท่านได้สันนิษฐานไว้ ก็คงไม่แปลกอะไรที่ท่านจะประทับใจตำนานเรื่องนางเงือกของชาวเกาะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับ “นางสุพรรณมัจฉา” ในรามเกียรติ์ (ซึ่งกวีอย่างท่านย่อมเคยอ่านแน่) จนได้ใช้คำเรียกนางเงือกในพระอภัยมณีว่า สุพรรณมัจฉา นั่นแหละครับ