จากเหตุยกพวกถล่มอริแย่ง “ที่ทำกิน” สู่ ผบช.น.ลุยจัดระเบียบวิน จยย. ตีทะเบียน-กวาดล้าง “วินเถื่อน”

ปัญหาความขัดแย้งของผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง สาเหตุหลักเกิดจากการขัดผลประโยชน์ที่อีกฝ่ายเกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะการตั้งวินจักรยานยนต์ทับกันในพื้นที่

ภาพจากคลิปวินจักรยานยนต์ 2 แห่งยกพวกตีกันจนเหตุบานปลายที่ ซอยสุขุมวิท 103/1 (อุดมสุข) โดยมีทั้งไม้ เหล็ก ปืน เหมือนสงครามกลางเมือง

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาระงับเหตุก็ยังเอาไม่อยู่ ก่อนจะวิ่งไล่ตีกันเข้าไปในชุมชนรุ่งเรือง 1 สุดท้ายมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย

ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวินจักรยานยนต์รับจ้าง คนมองว่าเป็นมาเฟียอันธพาล

สําหรับสาเหตุวินจักรยานยนต์ 2 แห่งวิ่งไล่ทำร้ายกันจนมีผู้เสียชีวิต เกิดจากกลุ่มอิทธิพลที่คุมวินจักรยานยนต์วินหนึ่ง เรียกรับผลประโยชน์คนละ 3,500 บาทต่อเดือน จึงทำให้ผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเกิดความไม่พอใจและแยกตัวออกมาตั้งวินเอง ทำให้กลุ่มอิทธิพลที่คุมวินขาดรายได้

ถ้าพูดถึงวินจักรยานยนต์รับจ้าง ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะผู้ใช้บริการต้องการความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากสรีระทางกายภาพเปลี่ยนแปลง จากการเดินทาง ในถนนเส้นหนึ่ง จึงพบเห็นวิน จยย.แทบทุกซอย ก่อนจะมีการจัดระเบียบ การเรียกรับผลประโยชน์จากเสื้อวิน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ “วินเถื่อน” กับ “วินไม่เถื่อน”

“วินเถื่อน” คือวินจักรยานยนต์รับจ้างที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีสถานที่เป็นหลักแหล่ง

“วินไม่เถื่อน” คือผู้ที่จะตั้งวิน ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของที่ดินกับสำนักงานเขตเท่านั้น หรือสังเกตผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่บริเวณเสื้อวินด้านหน้า หากไม่มีป้ายชื่อสีเหลืองที่ผ่านการลงทะเบียนถือว่าผิดกฎหมาย จึงยอมจ่ายให้กลุ่มอิทธิพลเพื่อแลกขี่รับจ้าง

ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยมีการลงทะเบียนวินรถจักรยานยนต์รับจ้างมาแล้ว 3 รอบ

รอบแรก ปี พ.ศ.2557 รอบที่สอง 2559 และรอบสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2561

หลังจากการลงทะเบียนครั้งที่ 3 แล้ว จะมีการตรวจสอบสิทธิและออกหนังสือรับรองสิทธิการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะจากคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นำไปขออนุญาตจดทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะต่อนายทะเบียนตามเงื่อนไข

ซึ่งหนังสือรับรองสิทธิมีอายุ 120 วัน (ครบหมดอายุ 31 มกราคม 2562)

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวว่า รับนโยบายจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้บูรณาการร่วมกันของคณะทำงานทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก ทหาร ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร (เทศกิจ) ในการจัดระเบียบ อบรม การบริการขนส่งสาธารณะ การแก้ปัญหาวินเถื่อน การวิ่งทับเส้นทาง รวมไปถึงผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแทรกแซง เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิด

โดยให้ผู้ขี่รถมีเสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถจักรยานยนต์รับจ้างทุกคันจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน ห้ามเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด และห้ามใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มารับจ้างอะไรที่ผิดข้อกำหนด-ระเบียบ จับหมด!!!

ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีการลงพื้นที่สุ่มตรวจจับกุมวินจักรยานยนต์ในเขตพื้นที่สำนักงานเขตคลองเตย เสื้อวินไม่ตรงกับที่จดทะเบียน 22 ราย เสื้อวินเกินจากที่จดทะเบียน 5 ราย และพื้นที่สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ใช้เสื้อวินผู้อื่น 3 ราย ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่วิน 1 ราย

และเสื้อวินเกินจากที่จดทะเบียน 4 ราย

ส่วนมาตรการป้องกันและปราบปรามวินจักรยานยนต์รับจ้างเถื่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการก่อเหตุความรุนแรงนั้น ได้ประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการจราจรในส่วนของรถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลงานด้านการจราจรในสังกัด บช.น.ทุกสถานีตำรวจ ตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการ ไปจนถึงสารวัตรจราจร มาประชุมสำรวจข้อมูลความสุ่มเสี่ยงที่วินจักรยานยนต์อาจจะแย่งลูกค้ากัน และกวดขันจับกุมวินจักรยานยนต์รับจ้างเถื่อน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาล

เช่น กรณีที่วินรถจักรยานยนต์ไม่ถูกกฎหมายเรียกค่าโดยสารเกินจริง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

รวมถึงการไล่ทำร้ายกันอย่างเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สน.บางนา

โดยสั่งการให้แต่ละ สน.ไปตรวจสอบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่ ซึ่งปกติก็มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ชัดเจนว่ามีจำนวนผู้ขับขี่วินแต่ละวินเท่าไหร่ มีวินที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา และวินที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ หากพบวินไม่ถูกต้องก็ให้ดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย

ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาอย่างกรณีในพื้นที่ สน.บางนา ส่วนการป้องกันให้แต่ละกองบังคับการ (บก.) เชิญผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์แต่ละวินมาทำความเข้าใจ มารยาทในการขับขี่ การดูแลประชาชน ควบคุมค่าโดยสาร ปัญหาค่าโดยสารที่ต้องไม่กระทบต่อประชาชน เพราะทางรัฐบาลไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเสื้อวินแต่ละวินแต่อย่างใด หากผู้ขับขี่วินใดถูกร้องเรียนจะถูกเพิกถอนสิทธิ โดยทาง บช.น.จะออกกวดขันจับกุม รวมถึงหัวหน้าวินก็จะถูกเพิกถอนเช่นกัน เพราะไม่ดูแลกำกับลูกวินก็สามารถถูกเพิกถอนวินได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร จัดทำไว้ในระบบ 50 เขตกรุงเทพมหานคร จำนวนวินจักรยานยนต์ทั้งหมด 5,401 วิน ผู้ขับขี่ 120,000 ราย ยังไม่รวมวินเถื่อนที่อาจไปขออนุญาตมีใบขับขี่รถสาธารณะแล้ว มีรถป้ายเหลือง มีเสื้อแล้ว แต่ยังไม่มีพื้นที่ ทำให้มีการวิ่งทับเส้นทางหรือวินเถื่อนซ้ำซ้อน

“ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากวินจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ แจ้งข้อมูลได้ที่เบอร์ 191 หรือ สน.ท้องที่ 1555 ศูนย์ร้องเรียนกรุงเทพมหานคร และ 1584 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กรมการขนส่งทางบก”

พล.ต.ท.สุทธิพงษ์กล่าว