วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนศึกษาในยุคมหาวิทยาลัยนอกระบบ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในวงล้อมของเสรีนิยมใหม่

ตัวอย่างหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในกรณีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็คือ จากแต่เดิมที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยของรัฐจะเป็นข้าราชการ (โดยส่วนใหญ่) นั้น ก็กลายมาเป็นพนักงานในปัจจุบัน

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมเรื่องหนึ่งคือ พนักงานจะรับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัด มิใช่จากทางราชการดังระบบเดิมอีกต่อไป ในแง่นี้ก็หมายความว่า มหาวิทยาลัยพึงมีและพึงหารายได้มาเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่พนักงานด้วย

รายได้ที่ว่านี้หากไม่นับทรัพย์สินที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว ในอีกทางหนึ่งก็ยังมีที่มาจากการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีต่างๆ เช่น เปิดหลักสูตรพิเศษผ่านโครงการต่างๆ เป็นต้น

เมื่อมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องหารายได้เช่นนี้ การแข่งขันจึงย่อมเกิดขึ้น จนเป็นที่เล่าลือกันว่า มีผู้เรียนในบางหลักสูตรในบางสถานศึกษาสามารถจบมาด้วยคุณภาพที่ไม่สู้จะดีนัก หรือจบแบบถูกตั้งคำถามว่าจบมาได้อย่างไร?

อันเป็นที่มาของคำล้อเลียนที่ว่า จ่ายเงินครบจบแน่

 

อย่างไรก็ตาม พนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่ได้รับสวัสดิการอย่างที่ข้าราชการเคยได้รับมาก่อนอีกต่อไป โดยส่วนหนึ่งจะได้รับผ่านระบบประกันสังคม เช่น ครั้งที่ยังเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยนั้น หากเจ้าตัวหรือบิดา-มารดา สามีและ/หรือภรรยา และบุตร-ธิดา เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้

มาบัดนี้ซึ่งเป็นพนักงานจะไม่ได้รับสิทธิ์นี้อีกแล้ว เพราะการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะเบิกได้เฉพาะเจ้าตัวคนเดียวผ่านระบบประกันสังคม

แต่สิ่งที่เข้ามาแทนในส่วนที่หายไปนี้ก็คือ การที่พนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการพอสมควร โดยใช้เกณฑ์ 1.3 หรือ 1.5 คูณเงินเดือนเดิมของข้าราชการเข้าไป

วิธีนี้ดูไปแล้วก็น่าที่จะทดแทนสวัสดิการเดิมได้ด้วยดี เพราะชีวิตคนเราไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกเดือนหรือทุกปีเสียเมื่อไร หากพนักงานเก็บเงินที่เกินมา 1.3 หรือ 1.5 ไว้ดีๆ แล้ว เงินก้อนนี้ก็จะนำไปใช้สำรองในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ยิ่งหากตนเองหรือคนในครอบครัวไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย เงินก้อนนี้ก็ไม่ต่างกับเงินพิเศษที่ข้าราชการไม่มีโอกาสได้รับ หากเป็นเช่นนี้จริง พนักงานก็ย่อมได้เปรียบคนที่เป็นข้าราชการ

แต่ในทางตรงกันข้าม เงินพิเศษก้อนนี้จะไม่พอ ถ้าหากตัวพนักงานหรือคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก ซึ่งในแง่นี้คนที่เป็นข้าราชการจะได้เปรียบเพราะสามารถเบิกได้ ดูจากแง่มุมนี้แล้วข้าราชการจะมีความมั่นคงทางด้านจิตใจสูงกว่าพนักงาน

ด้วยว่าแม้เงินเดือนจะน้อยกว่าพนักงานก็จริง แต่ก็วางใจได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ตนก็จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เฉพาะแต่ตนเอง หากยังครอบคลุมไปถึงบุคคลดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นโดยตลอด

จากเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เพื่อนพนักงานมักจะบอกว่า หากตนเลือกได้แล้วก็ขอที่จะเป็นข้าราชการดีกว่า และด้วยเหตุเดียวกันนี้ โดยส่วนตัวจึงยังคงรักษาสถานะข้าราชการของตนเอาไว้ โดยไม่ยอมลาออกไปเป็นพนักงาน ไม่ว่าจะมีแรงจูงใจต่างๆ นานาที่ดีเพียงใดก็ตาม

และในอีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อแสดงจุดยืนของตนที่ไม่เห็นด้วยกับเสรีนิยมใหม่ไปด้วยในตัว

 

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เป็นตัวอย่างที่อธิบายให้เห็นอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ที่เข้าใจได้ง่ายๆ เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเสรีนิยมใหม่ยังได้เข้ามาครอบงำมหาวิทยาลัยอีกมากมาย

จนทุกวันนี้พนักงาน-อาจารย์มีฐานะไม่ต่างกับพนักงานของบริษัท ที่จะต้องมีภาระงานที่เป็นพันธสัญญาที่ต้องให้แก่มหาวิทยาลัยว่าในแต่ละปีการศึกษาตนจะมีผลงานอะไร เช่นไร หรือเท่าไร หากมิอาจปฏิบัติได้ตามนั้นก็จะมีปัญหา มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการบันทึกเวลาการเข้า-ออกงานของอาจารย์ในแต่ละวัน ไม่ต่างกับกรรมกรในโรงงานหรือพนักงานบริษัทที่ต้องตอกบัตรเพื่อการบันทึกดังกล่าว

แต่ก็น่าแปลก ที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่บุคคลที่เป็นอาจารย์เองก็ไม่ชอบ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวคัดค้านน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการที่อาจารย์ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งมีมากกว่า ผิดกับรัฐวิสาหกิจ ทุกครั้งที่พอมีเรื่องที่เกี่ยวกับการแปรรูปเข้ามา พนักงานรัฐวิสาหกิจก็จะเคลื่อนไหวทันที

ซึ่งจะว่าไปแล้วการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ไม่ต่างกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

การเข้ามาของเสรีนิยมใหม่ในมหาวิทยาลัยในขณะที่ตนเองมิได้สมาทานหลักคิดนี้ จึงทำให้ตนต้องตกอยู่ในวงล้อมของหลักคิดนี้ ถึงแม้หลักคิดนี้จะกระทบต่อตัวเองไม่มากเท่ากับผู้ที่เป็นพนักงานก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่ได้พยายามรักษาเอาไว้ตลอดชีวิตของการเป็นนักวิชาการจึงคือสิ่งที่เรียกว่าสำราญชน (Leisured Class) คือนอกจากจะพึงสอนหนังสือในฐานะอาจารย์แล้ว ก็ยังมีความสุขที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่ อย่างหลังนี้จะทำได้ก็ต้องมีเวลาที่ว่างพอและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

มิใช่สำราญชนที่เที่ยวกินเที่ยวเล่น ที่จัดเป็นสำราญชนในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

คำว่าสำราญชนนี้เป็นคำที่บัญญัติเป็นไทยโดยรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใครที่สนใจเกี่ยวกับคำคำนี้ หรือเกี่ยวกับฐานะของอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยรายละเอียดมากกว่าที่ได้อธิบายในที่นี้ สามารถหาอ่านได้ในหนังสือรวมบทความของท่านชื่อ “การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร” (2544)

จะอย่างไรก็ตาม การรักษาความเป็นสำราญชนเอาไว้ภายใต้วงล้อมของเสรีนิยมใหม่ก็มิใช่เรื่องง่าย แต่ถึงตอนนั้น วันเวลาของการเกษียณอายุราชการก็ย่างกรายเข้ามาแล้ว และการเกษียณนี้เองที่อดทำให้คิดถึงอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เกษียณไปนานมากกว่า 20 ปีสองท่านไม่ได้ ที่เมื่อนำเรื่องอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ในมหาวิทยาลัยไปเล่าให้ฟังต่างกรรมต่างวาระ

ทั้งสองท่านกล่าวเหมือนกันว่า โชคดีที่ท่านเกษียณก่อน ถึงตอนนี้ก็ถึงคราวที่ตนเองจะต้องกล่าวบ้างว่า โชคดีที่เกษียณก่อน 

 

ภายใต้วงล้อมของเสรีนิยมใหม่ดังกล่าว การศึกษาเรื่องจีนยังคงดำเนินต่อไป ประเด็นที่ศึกษาได้พุ่งตรงไปยังการเป็นจักรวรรดิของจีน ตอนที่เตรียมการอยู่ได้พบว่า การเป็นจักรวรรดิของจีนนั้นไม่เหมือนกับการเป็นจักรวรรดิของรัฐในทางตะวันตก

และในกรณีการเป็นจักรวรรดิของจีนก็มีพัฒนาการมายาวนานนับพันปี

จากเหตุนี้ จึงได้ศึกษาการเป็นจักรวรรดิของจีนตั้งแต่ยุคโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตอนที่ศึกษายุคโบราณของจีนนับเป็นประสบการณ์ใหม่ทางวิชาการ ด้วยได้พบว่าเอกสารโบราณทั้งที่จัดเป็นคัมภีร์และมิได้เป็นคัมภีร์นั้นได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษมานานแล้ว บางเล่มที่ไม่คิดว่าจะมีการแปลก็ได้รับการแปล

ดังนั้น เอกสารประเภทพงศาวดารจึงมิพักต้องกล่าวถึง ซึ่งก็ย่อมได้รับการแปลเช่นกัน เรื่องเช่นนี้มีประเด็นที่พึงคิดอยู่อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ผู้ที่แปลเอกสารโบราณหรือพงศาวดาร ไม่เพียงจะต้องรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีเท่านั้น หากยังต้องมีใจอุทิศที่สูงส่งอีกด้วย เพราะการแปลเอกสารผ่านภาษาจีนโบราณย่อมมิใช่เรื่องง่าย ในด้านหนึ่งผู้ที่แปลย่อมมีใจรักด้วย

และเมื่อแปลแล้วเสร็จ ผู้แปลก็ย่อมรู้ว่าผลงานที่ตนแปลนั้นจะยังประโยชน์แก่ชุมชนวิชาการไปอีกยาวนาน

โดยผลประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ใครที่สนใจจะศึกษาเรื่องจีนในอดีตเฉพาะบางช่วงบางตอนขึ้นมา และมิได้หมายที่จะเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษาแล้ว บุคคลนั้นก็สามารถเข้าถึงเรื่องจีนในอดีตได้อย่างสะดวกจากผลงานแปลเหล่านี้

แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่หมายจะเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษาด้วยแล้ว ผลงานแปลเหล่านี้ก็ยิ่งอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น เพราะแม้บุคคลนั้นจะมีใจที่จะศึกษาภาษาจีนด้วย แต่คงใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะแตกฉานภาษาจีนโบราณ