วิเคราะห์ : อานิสงส์ “สงครามการค้า”? เมื่อทุนจีนเล็งปักหลักในไทย

สงครามการค้า หรือเทรดวอร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก ส่งผลกระทบในทางลบต่อการส่งออกของแทบทุกประเทศ ถึงขนาดนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์บางรายยืนยันว่า อาจสาหัสถึงขนาดทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกชะงักงัน หรือไม่ก็ตกสู่สภาพถดถอยกันเลยทีเดียว

แต่สงครามการค้าก็เหมือนกับอีกหลายต่อหลายอย่างที่มีสองด้านเสมอ เมื่อมีด้านหนึ่งส่งผลสะท้อนในทางลบ ก็ต้องมีอีกด้านที่ให้ผลลัพธ์ในทางบวกด้วยเช่นเดียวกัน

ข้อเขียนของเคนเนธ ราโพซา เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของฟอร์บส์ เมื่อ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้เทรดวอร์จะส่งผลให้การส่งออกของไทยหดหายไปแบบน่าตกใจ

แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจส่งผลในเชิงบวกให้กับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่าเอฟดีไอ ที่ขยายตัวในลักษณะชะลอมานานให้สดใสมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

ราโพซาชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอของไทย ได้รับ “ใบสมัคร” ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักธุรกิจจีนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว

ธุรกิจเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ผลิต “ผลิตภัณฑ์” โดยตรง แต่เป็นธุรกิจที่ผลิตชิ้นส่วนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ซึ่งเรียกกันรวมๆ ว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ใน “ห่วงโซ่ซัพพลาย” ของทั้งโลก

 

พิกัดอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบวกกับการแบนบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำอย่าง “หัวเว่ย” และบริษัทลูกที่มีอีกมากมายกว่า 70 บริษัท ทำให้ธุรกิจห่วงโซ่ซัพพลายเหล่านี้จำเป็นต้องมองหา “แหล่งผลิต” ใหม่ ในทางหนึ่งเพื่อให้ส่งเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาได้ในตามระดับภาษีปกติ

ในอีกทางหนึ่งนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงจากการ “แบน” ดังกล่าวที่สะเทือนห่วงโซ่ซัพพลายไปทั้งโลก

ราโพซาคุยกับ “คุณโชคดี” โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอ ได้ข้อมูลมาว่า สำนักงานบีโอไอในเมืองจีน มีนักลงทุนและนักธุรกิจที่เริ่มหมดความอดทนรอคอย ทั้งรอคอยให้ความตกลงการค้าเกิดขึ้น

กับทั้งที่รอคอย “สัญญาณ” ที่ส่อแสดงว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะพ้นตำแหน่งหลังทำหน้าที่ประธานาธิบดีเพียงปีเดียวไม่ไหว แวะเวียนเข้ามาสอบถามเพิ่มมากขึ้นเรื่อย

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 นี้ จำนวนบริษัทที่เข้ามาติดต่อสำนักงานในจีนเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่มีเรื่องสงครามการค้าเป็นสาเหตุทั้งสิ้น

ราโพซาบอกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาทั้งปี ธุรกิจจีนสาละวนอยู่กับการเร่งกระบวนการย้ายฐานการผลิตให้เกิดเร็วขึ้น

บางอุตสาหกรรมอย่างเช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ย้ายฐานออกจากบ้านเกิดไปเรียบร้อยแล้ว

ไม่เพียงเพราะสงครามการค้าอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะปัญหาสภาวะแวดล้อมและกฎหมายแรงงานใหม่ของจีน ทำให้เกิดความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ในแง่ของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า บางส่วนหันมาใช้ฮ่องกงเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษีในระดับสูง

อีกบางส่วนย้ายไปผลิตในเวียดนาม

ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะถั่วเหลือง บริษัทจีนหันไปนำเข้าจากบราซิลแทนสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็อาศัยการซื้อขายแบบจีทูจีของรัฐบาลเป็นการทดแทน

 

ตามข้อมูลของราโพซา ไม่เพียงแต่ทุนจีนมีแนวโน้มจะเข้ามาในไทยมากขึ้นเท่านั้น บริษัทของสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มนำเงินมาลงทุนในไทยมากขึ้น

และกิจการอเมริกันหลายอย่างที่เคยใช้จีนเป็นฐาน ก็เริ่มสอบถามเข้ามาเพื่อเตรียมการสำหรับการย้ายฐานการผลิตมาไทยเช่นเดียวกัน

เพราะจากที่เคยต้องเสียภาษีในการส่งสินค้ากลับไปขายที่ประเทศตนแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ในอดีต กว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทเหล่านี้ในเวลานี้ต้องจ่ายถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งถ้าทรัมป์เล่นงานสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากจีนจริงๆ หลายบริษัทก็ต้องเปลี่ยนโมเดลห่วงโซ่ซัพพลายของตนเองทั้งหมด

คิม เคตชิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดโลกของมาร์ติน คูร์รี อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ในอังกฤษบอกว่า ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงในระบบห่วงโซ่ซัพพลายของโลกเพียงแค่เพิ่งขยับเคลื่อนที่เท่านั้น แต่จะเคลื่อนไหวเต็มที่ถ้าหากในปี 2020 นี้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

ถึงตอนนั้น นักสังเกตการณ์ที่จับตามองจีนมาตลอดเชื่อว่าไทยจะยิ่งได้รับความสนใจจากบริษัทธุรกิจจีนยิ่งกว่าในตอนนี้อีกมาก