ฐากูร บุนปาน : เป็นความเคยชินของทุกปีแล้วครับ

เป็นความเคยชินของทุกปีแล้วครับ

ที่ช่วงปีใหม่จะต้องไปขวนขวายหาหนังสือ The World in … ปีนั้นปีนี้ของ ดิ อีโคโนมิสต์ มาอ่าน

ด้วยเหตุผลสองสามข้อด้วยกัน

อย่างแรกคือเพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่มีประโยชน์สำหรับคนทำอาชีพสื่อ

เนื่องจากรวบรวมเอาเหตุการณ์แทบทุกด้านและทั่วโลกมาสรุป วิเคราะห์ และคาดการณ์เอาไว้

จะการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาการ กีฬา วรรณกรรม บันเทิง ฯลฯ

มีหมด

ข้อต่อมาก็คือ ทุกครั้งที่อ่านแล้วก็เหมือนได้เตือนตัวเองว่า

เมื่อเทียบกับโลกที่กว้างใหญ่ เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงมโหฬารทั้งหลาย

ประเทศไทย สังคมไทยก็แค่ปลายอ้อปลายแขมดีๆ นี่เอง

ต้องหมั่นแง้มกะลาออกมาดูฟ้ากว้างบ่อยๆ

จะได้ไม่เข้าใจตัวเองผิด

หรือไม่หมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไป

hqdefault

อย่าง The World in 2017 นี่เขาอุทิศหน้าปกให้ โดนัลด์ ทรัมป์

ในฐานะผู้มีสิทธิ์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้อย่างมหาศาลในปีนี้

ถึง ดิ อีโคโนมิสต์ จะคิดว่าทรัมป์อาจไม่สามารถทำทุกอย่างแบบที่หาเสียงเอาไว้

แต่แค่ “ท่าที” ของท่านผู้นำเบอร์หนึ่งเบอร์สองของโลกที่เปลี่ยนไป

ประเทศ องค์กร และคนอื่นต้องปรับตัวกันจ้าละหวั่น

และไม่รู้ด้วยว่าปรับแล้วจะเดินขึ้นสวรรค์หรือกอดคอกันลงเหว

อย่างไรก็ดี โลกนี้ไม่ได้มีแค่ทรัมป์หรือสหรัฐ

ยังมีคนอื่นๆ และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

2017 คือวาระครบรอบ 150 ปีการพิมพ์หนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสม์อันได้ Capital ของ Karl Marx

คือปีครบรอบหนึ่งศตวรรษที่พรรคบอลเชวิกล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซีย

และสถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

เป็นวาระครบ 50 ปีการจากไปของ เช กูวารา

นักปฏิวัติสังคมที่อาจจะมีผู้รู้จักมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่จากการค้นคว้าประวัติการต่อสู้

แต่จากบนเสื้อยืดและท้ายรถ 10 ล้อ

 

อีโคโนมิสต์ฉบับพิเศษนี้ยังมีการเชิญบุคลที่น่าสนใจมาเป็น “นักเขียนพิเศษ”

เขียนเรื่องที่ตัวเองรู้ลึกรู้จริงให้คนอื่นได้อ่าน

อย่างปีนี้เขารวบรวมคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักคอมพิวเตอร์ นักลงทุนในธุรกิจสตาร์ต-อัพ นักเคลื่อนไหวการเมือง ศิลปิน ฯลฯ มาเขียนบทความสั้นๆ ถึงแนวโน้มของโลกอนาคต

ในส่วนที่ตั้งชื่อให้ว่า Generation Prophet แปลไทยเชยๆ ได้ว่า “ประกาศแห่งยุคสมัย”

อ่านไปแล้วสองคน ก็ต้องบอกว่า

จริงของเขา

หนึ่งคือ แซม อัลต์แมน ประธานบริษัทวาย คอมบิเนเตอร์ ผู้ลงทุนในสตาร์ต-อัพชั้นดีทั่วโลก

เขียนเรื่อง Building the future หรือก่อร่างสร้างอนาคต

หนึ่งคือ โจชัว หว่อง นักศึกษา-นักเคลื่อนไหวการเมืองชาวฮ่องกง

ที่เคยถูกห้ามเข้าเมืองไทย

เพราะผู้บริหารการเมืองไทยกลัวจะไปสะกิดผิวสะกิดใจพี่ใหญ่จีน

เขียนเรื่อง Challenging China หรือท้าทายจีน

เนื้อหาเป็นอย่างไร ไม่บอกละครับ

เดี๋ยวสะเทือนใจกันอีก

ฮา

 

ถามว่าแล้วมีเรื่องเมืองไทยไหม

มีครับ

อยู่ในส่วนของการพยากรณ์เศรษฐกิจ

ที่เขาจะคัดประเทศสำคัญๆ มา 70-80 ประเทศทุกปี

แล้วถามว่าเขามองเมืองไทยอย่างไร

คำตอบคือทุลักทุเล

และเขาพยากรณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราเอาไว้แค่ร้อยละ 3

ขณะที่คาดการณ์อัตราการเติบโตของประเทศรอบข้าง

ไม่ว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เอาไว้ร้อยละ 6-7

แม้แต่อินโดนีเซียที่มีปัญหายังโตร้อยละ 5.3

ตรงนี้ไม่มีความเห็นเพิ่มเติมครับ

เดี๋ยวสะเทือนใจกันอีกรอบ

(ฮา-อีกที)

แต่มีข้อสังเกตว่าในขณะที่เราหมกมุ่นกับปัญหาสารพัดในบ้าน

โลกนี้เขาวิ่งไปข้างหน้าทุกวินาที

และยิ่งนานก็ยิ่งทิ้งไกล

เขาไม่ได้เห็นหัวหรือให้ความสำคัญเราอย่างที่เราพยายามปลอบใจกันเอง

ดูจากสัดส่วนของเนื้อหาที่พูดถึง

หรือจากการที่ไม่เคยมีคนไทยรุ่นไหนได้รับเชิญไปเขียนอะไรให้โลกขบคิดเลย

นี่กำลังคิดว่า

ถ้าปีหน้าอีโคโนมิสต์เกิดเชิญ “คุณเจ้ย” อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไปเขียนให้บ้าง

ในฐานะที่เป็นคนไทยซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลมากที่สุด

กบทั้งหลายจะร้องออกมาเป็นเสียงอะไร?