จรัญ พงษ์จีน : เบื้องหลัง กสทช. จัดสรรคลื่น 700 ชนิดเลือดตากระเด็น

จรัญ พงษ์จีน

ผ่านฉลุยไปแล้วกับแผนปฏิบัติการจัดสรรใบอนุญาตคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ค่ายมือถือทั้งเอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ร่วมใจควักกระเป๋าจ่ายเงินให้รัฐรวมเบ็ดเสร็จ 56,444.64 ล้านบาท

งานนี้สร้างความโล่งอกโล่งใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะสำนักงาน กสทช. ที่ “คสช.” สั่งให้ทำหน้าที่เป็น “หัวขบวน”

ย้อนกลับไปดูคำสั่ง ม.44 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 คสช.คาดหวังว่าจะเป็นมาตรการผ่าวิกฤตอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลที่กำลังเผชิญกับ “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” และกรุยทางประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยียุค 5 จี

คสช.มองว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าถ้าไทยไม่มีเทคโนโลยี 5 จี ความสามารถในการแข่งขันถดถอย เศรษฐกิจอาจทรุดหนักกว่าเดิม เพราะ 5 จีคือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนผ่านโลกครั้งใหญ่ของศตวรรษนี้

ขณะเดียวกันเห็นว่า ถ้าไม่มีแผนยืดหนี้ให้กลุ่มโทรคมนาคม โอกาสเกิด 5 จีในอนาคตอันใกล้เป็นไปได้ยาก

เพราะเหตุว่า ตลอดช่วงเวลา 6 ปี กลุ่มโทรคมนาคม เทเงินจำนวนหลายแสนล้านเพื่อลงทุนทำคลื่น 3 จีและคลื่น 4 จี ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และยังไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องลงทุนอีก เนื่องจากคลื่น 5 จีให้ประโยชน์ในภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคครัวเรือน

 

หลังคำสั่งมาตรา 44 ออกมาแล้ว ปรากฏว่าเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

บางคนซัดเปรี้ยงเลยว่าเป็นคำสั่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยเฉพาะกลุ่มทีวีดิจิตอลได้ประโยชน์มากสุด

ตามคำสั่ง คสช.เป็นการเปิดทางคลี่ปัญหาในกลุ่มทีวีดิจิตอลไม่ต้องชำระหนี้ค่าประมูลใบอนุญาตที่เหลือในงวด 5 และงวด 6 เป็นเงิน 13,622.40 ล้าน ค่าเช่าโครงข่ายหรือ MUX อีก 9.5 ปี เป็นเงิน 14,785.70 ล้าน ค่าคืนใบอนุญาตเกือบ 4 พันล้าน ค่าจัดตั้งหน่วยงานวัดเรตติ้ง 431 ล้าน รวมแล้วตกราวๆ 32,000 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มโทรคมนาคม ทั้งเอไอเอสและทรูได้สิทธิยืดเวลาชำระหนี้ค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ แทนที่ปีหน้าต้องจ่ายค่ายละ 6 หมื่นกว่าล้านบาท ก็ขยายเวลาออกไป ปีหน้าจ่ายราว 27,400 ล้านบาท ที่เหลือปีละ 8,000 ล้านบาทเศษจนถึงปี 2568

สำหรับดีแทคจ่ายปีหน้า 7,900 ล้าน จากนั้นจ่ายอีกปีละ 4 พันล้าน จนถึงปีสุดท้าย 2570

เท่ากับว่า กลุ่มโทรคมนาคมได้ยืดเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 ในงวดสุดท้ายกว่า 90,000 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินก้อนมโหฬาร

แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้กลายเป็นโจทย์หินสุดๆ ของสำนักงาน กสทช. เนื่องจากในคำสั่ง ม.44 มอบหมายให้ดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความ

คำสั่งผูกเงื่อนปมระหว่างการช่วยเหลือทีวีดิจิตอลกับการยืดเวลาชำระหนี้ของกลุ่มโทรคมนาคมเอาไว้แน่นเปรี๊ยะ

กลุ่มโทรคมนาคมต้องซื้อใบอนุญาตการใช้คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ กสทช.จึงจะมีเงินไปจ่ายชดเชยให้กับทีวีดิจิตอล

ถ้ากลุ่มโทรคมนาคมไม่สนใจคลื่น 700 มีผลให้คำสั่ง คสช.ฉบับนี้กลายเป็นหมันทันที เพราะ กสทช.ไม่มีทางไปดึงเงินจากแหล่งอื่นช่วยเหลือทีวีดิจิตอลได้เลย

หรือถ้ามีค่ายมือถือแค่รายเดียวยื่นขอซื้อใบอนุญาต ก็ต้องคิดค่าเฉลี่ยในการช่วยเหลือ

กลุ่มทีวีดิจิตอลจะไม่ได้เงินชดเชยเต็มเม็ดเต็มหน่วย การแก้ปัญหาก็ทำได้ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สะเด็ดน้ำ

 

หนทางที่จะคลี่ปมนี้ให้สำเร็จราบรื่นสมบูรณ์แบบที่สุดก็คือ ค่ายทรู, เอไอเอส และดีแทค ต้องพร้อมใจซื้อใบอนุญาตการใช้คลื่น 700 กสทช.ถึงจะมีเงินไปชดเชยให้ทีวีดิจิตอลครบถ้วน และมีเหลืออีก 18,000 ล้านบาท นำส่งคืนเป็นรายได้ของรัฐ

วันแรกที่รับโจทย์มา “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ในฐานะเลขาธิการ กสทช.ยอมรับเครียดเพราะมีเวลาแก้โจทย์แค่ 2 เดือนเศษ แต่สถานการณ์บีบบังคับ ยังไงก็ต้องเดินหน้าลุย

“ฐากร” เปิดแผนปฏิบัติการด้วยการแบ่งโจทย์เป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นการหาวิธีการแก้วิกฤตทีวีดิจิตอลอย่างโปร่งใสเป็นธรรมและรัฐต้องไม่เสียประโยชน์

ส่วนที่สอง ทำอย่างไรจึงจะให้กลุ่มโทรคมนาคม ทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทค มายื่นเจตจำนงขอยืดเวลาชำระหนี้และซื้อใบอนุญาต

“ฐากร” ดึงรองเลขาฯ กสทช.ทั้ง 4 คนมาร่วมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านประสบการณ์ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ กว่า 100 ชีวิต

มีการแบ่งทีม เป็นทีมคำนวณราคาค่าคลื่น 700 MHz ทีมกำหนดหลักเกณฑ์และการอนุญาตใช้คลื่น ทีมดูแลเรื่องแบงก์การันตี ทีมงานสร้างความรับรู้ต่อสาธารณะ

ในการกำหนดราคาคลื่น 700 ทางทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุน กสทช.ร่วมศึกษาวิจัยยึดแนวทางของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) และข้อเปรียบเทียบมูลค่าคลื่น 700 ของประเทศต่างๆ นำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมทั้งการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ รายได้ของประเทศ จำนวนประชากร

เมื่อศึกษาและคำนวณจนตกผลึกแล้วทีมงานนำผลไปหารือกับ กสทช.สวีเดน (Swedish Post and Telecom Authority-PTS) และมหาวิทยาลัยชาลเมอร์ส ออฟ เทคโนโลยี (Chalmers University of Technology) เมืองโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

คลื่น 700 MHz กสทช.แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz ราคาอยู่ที่ 18,814.88 ล้านบาท

 

หลังจาก กสทช.ประกาศราคาค่าคลื่นออกไป ปรากฏว่ากลุ่มโทรคมนาคมเกิดอาการตกอกตกใจ จนกระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดว่าผู้บริหารทั้ง 3 ค่ายคัดค้าน อ้างราคาแพงและขู่สำทับว่าจะไม่ลงทุน

กระแสข่าวนี้สร้างแรงกดดันเป็นอย่างมาก เพราะหากค่ายมือถือไม่มา นั่นหมายถึงปฏิบัติการที่ทำมาตลอด 2 เดือนล้มเหลว

“ฐากร” ต้องงัดแผนปฏิบัติการอีกชุด จนในที่สุด “ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊กบอสแห่งค่ายทรู “สมชัย เลิศวิสุทธิวงศ์” ซีอีโอเอไอเอส และ “อเล็กซานดร้า ไรซ์” ซีอีโอสาวแกร่งจากดีแทค พยักหน้า โอเคราคาคลื่น 700 ที่ กสทช.คำนวณไว้

เช้าตรู่วันพุธที่ 19 มิถุนายน เวลา 09.39 น. คณะผู้บริหารของทรูได้ฤกษ์ถือจดหมายยื่นเจตจำนงขอคลื่น 700 MHz

ถัดมาเวลา 09.59 น. คณะซีอีโอเอไอเอส ตามด้วยซีอีโอค่ายดีแทค เวลา 11.00 น.

ถาม “ฐากร” ว่าทำไมทั้ง 3 ค่ายพร้อมใจซื้อคลื่น 700

เลขาธิการ กสทช.ไม่ตอบ ได้แต่มองคนถามด้วยรอยยิ้ม พร้อมกำหมัดขวายกขึ้นมาตบที่หน้าอกซ้าย

เหมือนบอกเป็นนัยให้รู้ว่า เรื่องนี้อยู่ที่ใจ เทใจเต็มร้อยเมื่อไหร่งานสำเร็จแน่นอน