การศึกษา / จับตา…เกณฑ์รับนักเรียนปี 2563 จากสอบ 100% สู่ปมรื้อบัญชี ร.ร.ดัง

การศึกษา

 

จับตา…เกณฑ์รับนักเรียนปี 2563

จากสอบ 100% สู่ปมรื้อบัญชี ร.ร.ดัง

 

ตามติดอย่างใกล้ชิด สำหรับนโยบายการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอแนวทางให้กลุ่มโรงเรียนการแข่งขันสูง รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 เข้าเรียนโดยวิธีการสอบ 100%

มีการตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางการรับนักเรียนขึ้น โดยมอบหมายให้ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน

คณะทำงานชุดนี้จะรวบรวมความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสีย วิเคราะห์แนวทางการรับนักเรียนที่เหมาะสม ก่อนเสนอให้บอร์ด กพฐ.พิจารณาเห็นชอบ…

 

หลัง กพฐ.โยนหินถามทางในเรื่องนี้ออกไป ทำให้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

แม้ภาพรวมจะยอมรับว่า การเปิดให้โรงเรียนดังสอบรับเด็ก 100% จะทำให้โรงเรียนที่มีศักยภาพ สามารถคัดกรองหัวกะทิเข้าเรียนได้จริง แต่ทางกลับกันก็จะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้น…

ล่าสุด นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ขยายความเพิ่มเติมว่า หากจะให้โรงเรียนดังเปิดสอบเพื่อรับเด็กเข้าเรียน 100% อาจต้องทบทวน จำนวนโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 380 แห่งทั่วประเทศ ว่ายังคงมีศักยภาพเป็นโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงจริงหรือไม่

โดยโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ต่อไปอาจไม่ต้องเรียกโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูง อาจกำหนดชื่ออื่น เช่น โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ รับด้วยวิธีการสอบ 100%!!

พร้อมกับย้ำว่า เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องเร่งตัดสินใจ เพื่อประกาศให้โรงเรียน นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบ และเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน

ทำให้เกิดทั้งเสียงค้าน และเสียงสนับสนุนตามมาเช่นเดิม…

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งค้านต่อเนื่องบอกชัดว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการพาการศึกษาไปสู่ระบบทุนนิยมเข้ามาครอบ มีคนที่ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว แต่เด็กส่วนใหญ่ยังต้องมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ออกกลางคัน ซึ่งตนพูดมาตลอดว่า นโยบายแบบท็อปดาวน์ที่สั่งการจากบนลงล่างในรูปแบบอำนาจนิยม มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมือง ควรรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ซึ่งแม้ กพฐ.จะอ้างว่า มีอำนาจโดยตรง แต่ก็เป็นเพียงอำนาจแฝง

“นโยบายการรับนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าทำไม กพฐ. ออกนโยบายมารายวันและแบบเร่งรีบ ซึ่งอยากให้ระวัง เพราะการใช้อำนาจทางการศึกษา จะทำให้ขาดความรอบคอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะตัดสินใจ แต่ควรเกิดจากการรวบรวมความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสีย จากผู้เกี่ยวข้อง และโดยมารยาทควรรอให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาด้วย ไม่ใช่ทำแบบเร่งรีบ” นายสมพงษ์กล่าว

ขณะที่นายวิสิทธิ์  ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่ต้องมีการทบทวนโรงเรียนในกลุ่มการแข่งขันสูงใหม่ หากต้องการให้โรงเรียนที่มีศักยภาพรับเด็กโดยวิธีการสอบ 100% ซึ่งเท่าที่ดูพบว่า โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มการแข่งขันสูง มีปัญหาในการรับเด็ก อาทิ เด็กล้น เพียง 100 กว่าแห่ง

“หากทำจริง ผมก็เห็นด้วย แต่ก็ต้องสำรวจข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น จำนวนการรับนักเรียนย้อนหลัง 3 ปี ขณะเดียวกันปัญหาเด็กล้น หรือโรงเรียนรับเด็กได้ไม่เต็มจำนวนยังมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นบางโรงเรียนลดจำนวนรับลง ทำให้เด็กล้น หรือบางแห่งขยายห้องเรียน ทำให้รับเด็กได้ไม่เต็มจำนวน” นายวิสิทธิ์กล่าว

ด้านหัวเรือใหญ่อย่างนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ย้ำว่า นโยบายการรับนักเรียนปี 2563 จะเน้นกระจายอำนาจลงไปสู่พื้นที่ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รับผิดชอบ เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ต่างกัน

อีกทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการจัดการศึกษาต้องกระจายอำนาจให้พื้นที่มีส่วนร่วม

 

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลหากกระจายอำนาจให้พื้นที่จัดการเรื่องรับนักเรียน จะเกิดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะนั้น ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะขณะนี้มีหน่วยงานกลาง อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาช่วยกำหนดมาตรการป้องกันแป๊ะเจี๊ยะอย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหานี้จะหมดไป

การรับเด็กเข้าเรียน เป็นปัญหาที่ต้องแก้รายปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป…

แต่หากทำแบบเร่งรีบ อาจเกิดผลเสียมากกว่าดี โดยเฉพาะการปรับรื้อใหญ่ แบบสั่งการจากส่วนกลางลงไปอาจกระทบกับการทำงานของโรงเรียนในพื้นที่ ที่ควรมีอิสระในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง…

ดังนั้น ทางที่ดี อาจต้องรอรับฟังข้อดี ข้อเสียจากผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้าน รวมถึงรอฟังนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่อย่างเป็นทางการก่อน ดีกว่าต้องมารื้อใหม่ เพราะไม่ตรงกับนโยบายรัฐบาล

    ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนต้องสับสนมากขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า!!