โลกร้อนเพราะมือเรา อยากรู้ไหม อะไรคือ ไวต์ “คริสต์มาส” ?

รายงานชิ้นล่าสุดของคณะนักวิทยาศาสตร์จำนวน 116 คนจาก 18 ประเทศทั่วโลกที่ศึกษาภาวะโลกร้อนจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปรปรวนอย่างรุนแรงเพิ่งออกเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันก่อน มีข้อสรุปว่า

“เมื่อปี 2558 ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนแผ่ไปทั่วยุโรปและเอเชีย ไฟป่าเผาอะแลสกา น้ำท่วมใหญ่ในฟลอริดา และดวงอาทิตย์สาดแสงจ้าในฤดูหนาวที่อังกฤษ ล้วนมาจากอิทธิพลของภาวะโลกร้อน

ส่วนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่นๆ ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มีความเกี่ยวข้องกับปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศหรือไม่”

รายงานชิ้นดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐ

นักวิทยาศาสตร์รวบรวมข้อมูลที่เป็นปูมหลังของสภาพอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นใน 5 ทวีปและ 2 มหาสมุทร ตลอดทั้งปี 2558 มาวิเคราะห์

ในรายงานระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยามีหลักฐานชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นมาจากฝีมือของผู้คนทั่วโลก เช่น คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นถี่รุนแรง แผ่นน้ำแข็งในบริเวณเทือกเขาสูงของสหรัฐหายไป พื้นที่ทะเลน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกมีสถิติต่ำสุดในเดือนมีนาคม

นอกจากนี้แล้วอุณหภูมิในแต่ละเดือนของปี 2559 ทำสถิติร้อนที่สุด

 

ในรายงานยังชี้อีกว่า ไฟป่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ในรัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา เผาผลาญพื้นที่ป่าจำนวน 20,700 ตารางกิโลเมตร ทำสถิติไฟป่ารุนแรงที่สุดเป็นอันดับสอง นับตั้งแต่ปี 2483 เป็นต้นมา

ถ้าสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีก ไฟป่าในอะแลสกามีอัตราเสี่ยงเกิดความหายนะมากขึ้นอีกราว 34-60 เปอร์เซ็นต์

ปรากฏการณ์ “คลื่นความร้อน” ในยุโรปเมื่อปี 2558 เป็นหลักฐานชัดแจ้งที่สุดในการยืนยันว่า ฝีมือคนซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ชายฝั่งของเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐ เจอน้ำทะเลทะลักเอ่อล้นทั้งๆ ที่เป็นกลางวันแสกๆ แดดเปรี้ยง

นักวิทยาศาสตร์ให้ฉายาปรากฏการณ์นี้ว่า “sunny-day flooding” น้ำท่วมกลางแดดเป็นเพราะโลกร้อน

ส่วนแสงแดดที่ร้อนแผดจ้าในฤดูหนาวซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษตลอดช่วง 2 ปีที่แล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่มาจากผลของ “โลกร้อน” เช่นกัน

ในขณะที่รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหภาพยุโรป สรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้และกำลังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่เพิ่มสูง สภาวะแปรปรวนของพายุฝน หิมะและธารน้ำแข็งที่ละลาย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

“ความสัมพันธ์ระหว่างอากาศที่แปรปรวนและสภาพภูมิอากาศมีผลลัพธ์ในทางลบกับโลก เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เพิ่มความถี่รุนแรงมีผลกระทบกับภูมิภาคต่างๆ รวมถึงผลกระทบกับระบบนิเวศน์ ภาคเศรษฐกิจ สุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยุโรปทั้งมวล”

 

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางไปยุโรปมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศและผู้คนที่นั่น ผมสรุปเอาเองว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ยุโรปเปลี่ยนไป

เดือนกรกฎาคมเป็นช่วงยุโรปเข้าสู่หน้าร้อน ผมก็เหมือนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการไปชมเมืองของยุโรป

หนึ่งในเมืองที่ผมเข้าไปพักช่วงสั้นๆ ได้แก่ ลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“ลูเซิร์น” ตั้งอยู่ตอนกลางของสวิส ริมทะเลสาบลูเซิร์น มีเทือกเขาสวิสแอลป์โอบล้อม

นักท่องเที่ยวชื่นชอบลูเซิร์นเพราะอยู่ใกล้กับยอดเขาพิลาตุสและริกิ มองจากใจกลางเมืองก็เห็นชัด

เมืองนี้มีประวัติศาสตร์ยืนยาวกว่า 1 พันปี แต่ยังรักษาเมืองได้อย่างมีเอกลักษณ์

อาคารบ้านช่อง เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมโดดเด่น อย่างเช่น เดอะ แชพเอล บริดจ์ (The Chapel Bridge) เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำรุส ใกล้กับโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 หรือราว 680 ปีมาแล้ว

เมื่อเข้าสู่ยุคกลางของยุโรป จิตรกรดังๆ ในเวลานั้น ไปวาดภาพของเมืองลูเซิร์นประดับบริเวณใต้หลังคา

แม้ว่าเดอะ แชพเอล บริดจ์ เกิดไฟไหม้ เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว แต่ทางเมืองลูเซิร์น ได้ฟื้นฟูบูรณะจนกลับมาสู่สภาพดีและยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาลูเซิร์นต้องมาสัมผัส เพราะเป็นสะพานไม้เก่าแก่ที่สุดในโลก

หรืออย่างหอประชุมเมืองลูเซิร์น (The Rathaus) สร้างตั้งแต่ 410 ปีก่อนโน้น ด้วยรูปแบบสถาปัตยยุคเรเนสซองส์ ยังคงเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น รวมทั้งโบสถ์พระเยซู (Jesuitenkirche) เป็นโบสถ์แรกของสวิสที่ใช้สถาปัตยกรรมบาโรก

ในเมืองลูเซิร์นยังมีที่น่าเที่ยวอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการล่องเรือ ปั่นจักรยาน หรือปีนเขา

 

ระหว่างเข้าพักในเมืองลูเซิร์น มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานโรงแรมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลูเซิร์น

พนักงานโรงแรมเอ่ยถึงสภาพอากาศเป็นเรื่องแรก

“พวกเราดีใจที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในลูเซิร์นเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้แต่ละปีมหาศาล แต่ชาวเมืองก็รู้สึกแปลกใจกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป”

วันที่อากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนของเมืองลูเซิร์น มีมากขึ้น

“ในฤดูหนาว ยิ่งเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ไวต์คริสต์มาสไม่มีให้เห็นอีกแล้ว” พนักงานคนนั้นพูดให้ชวนสงสัย

“อะไรคือไวต์คริสต์มาส?” ผมถาม

“อ้อ ลืมไปคุณไม่ได้มาจากเมืองหนาว สมัยเด็กๆ ในเดือนธันวาคม เมืองลูเซิร์นจะขาวโพลนไปด้วยหิมะ พวกเราจะเล่นสกี สเก๊ตบอร์ดกันอย่างสนุกสนาน พอถึงเทศกาลคริสต์มาสปลายเดือนธันวาคม ทั้งลูเซิร์นมีแต่สีขาวจากหิมะปกคลุมไปทั่ว เราจึงเรียกว่า ไวต์คริสต์มาส แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ ชาวลูเซิร์นไม่เคยสัมผัสปรากฏการณ์ไวต์คริสต์มาส”