ในประเทศ / HELL HELP!

ในประเทศ     

 

HELL

HELP!

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดใจล่าสุด

เมื่อ 18 มิถุนายน 2562

ต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คำรบสอง

และกำลังต้องนำพาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 19 พรรคร่วมรัฐบาลพรรค และวุฒิสมาชิก รวม 500 เสียง เข้าบริหารประเทศ

 

“…อย่ากังวลเรื่องการเป็นนายกฯ ของผมหรือการเป็นรัฐบาลหน้า

วันนี้ประเทศต้องการรัฐบาล ทุกประเทศเฝ้าคอยอยู่ แต่เมื่อทำงานไปแล้ว ดีหรือไม่ดี มันก็มีวิธีการทางประชาธิปไตยเยอะแยะในการตรวจสอบ มันถูกตรวจสอบได้ทั้งหมด แม้กระทั่งผมเองก็ต้องถูกตรวจสอบ

…ทุกคนที่ตั้งใจมาช่วยประชาชน ดูแลประเทศชาติต้องเข้าใจตรงจุดนี้

ผลประโยชน์ของพรรคอะไรต่างๆ ในเรื่องคะแนนเสียง ก็เป็นอีกเรื่อง

แต่เมื่อเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง กระทรวงนี้ของพรรคนี้ ทำเพื่อพรรคนี้ เพื่อพื้นที่ของตัวเอง

ผมไม่ให้ทำอย่างนั้น

…เราต้องมองคนในทางที่ดีไว้ก่อนใช่หรือไม่ คนเรามันต้องรู้จักว่าจะอยู่กันได้อย่างไร จะทำงานต่อกันได้อย่างไร ความให้เกียรติซึ่งกันและกันสำคัญ

ผมถึงบอกว่า มันจะอยู่ด้วยความขัดแย้งแย่งชิงนู่นนี่กันไม่ได้แล้ว มันไม่เหมาะกับโลกในยุคปัจจุบัน

เพราะโลกปัจจุบันปัญหามีมากมาย ทั้งภัยรูปแบบเก่า-ใหม่ เยอะแยะไปหมด”

 

พล.อ.ประยุทธ์บอกอีกว่า

“…ผมหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำหน้าที่ทุกอย่างอย่างที่ผมว่า ผมก็ต้องขอร้องบรรดานักการเมืองทั้งหลาย

ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ เพราะผมถือว่าให้เกียรติประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา

ฉะนั้น ทุกคนก็ต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกาที่ผมพูดมาแล้วทั้งหมด เพราะมันคือกฎหมายทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นแผนงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนปฏิรูป ทุกคนต้องไว้ใจว่าเรามีกฎหมายแล้ว

ฉะนั้น ต้องไว้วางใจพอสมควรแล้วค่อยดูกันต่อไป ถ้าเขาไม่ทำจะว่าอย่างไรกันต่อไป ก็ตรวจสอบกัน แก้ปัญหากันไป ปรับ ครม.กันไป มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด

แต่ผมยืนยันว่า ไม่ต้องมีการใช้จ่ายในการเป็นรัฐมนตรีกับผมเข้าใจไหม ไม่มี เรื่องนี้เคยมีคนพูด แต่จริงไม่จริงผมไม่รู้ แต่ก่อนเห็นมีพูดกัน ใครอยากเป็นก็ว่าไป

…รายชื่อมาทั้งหมดแล้ว และต้องนิ่งแล้ว มันจะไม่นิ่งได้อย่างไร มันมีแค่ 36 ที่ รวมนายกฯ จะเอาที่ไหนอีก ก็ต้องเอาไปก่อน จัดให้ได้ก่อน และเดี๋ยวค่อยว่ากัน จะทำอย่างไรกันต่อไป

และใครที่ไม่ได้ จะเอามาช่วยงานตรงไหนใช่หรือไม่ แต่ทุกคนก็เป็นห่วงว่า เลือกตั้งมาแล้วตัวเองไม่มีบทบาทเป็นรัฐมนตรี

แล้วมันจะเป็นรัฐมนตรีกันได้ทั้งหมดหรือไม่”

 

การเปิดใจ “ยาวเหยียด” ดังกล่าว

มีขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวแห่งความไม่ราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งในส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าประชาธิปัตย์ ที่มีการแตกแยกความคิดในการเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลอย่างหนัก

ตลอดจนถึงการแย่งชิงเก้าอี้ 7 รัฐมนตรี 8 ตำแหน่งเป็นไปอย่างดุเดือด

สะท้อนถึงความเป็นฝักฝ่าย

โดยเฉพาะหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดจะมีปฏิกิริยาตกค้างหลังจากนี้หรือไม่

ส่วนพรรคภูมิใจไทย แม้ดูจะราบรื่น แต่คนที่มีบทบาทในการเลือกตั้ง เช่น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ จนต้องเปลี่ยนคนมาดำรงตำแหน่ง

โดยให้น้องสาวมาเป็นแทน ทำให้พอใจระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวจะต้องจับตากันต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น วิวาทะระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ

ในประเด็นการช่วงชิงกระทรวงเกษตรฯ และคมนาคม ก็เดือดพล่าน

และสะท้อนภาวะสงครามตัวแทนการช่วงชิงตำแหน่ง ที่อาจอักเสบขึ้นมาได้ในอนาคตอันใกล้

ส่วน 10 พรรคเล็ก ก็มีการโวยวายว่าไม่ได้รับการเหลียวแลในการให้ตำแหน่ง

เช่นเดียวกับ 2 เสียงของพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่ประกาศพร้อมจะไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ

เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ทำงาน

เหล่านี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในรัฐบาล และต่างรอการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเยียวยาจิตใจอย่างไร

เพื่อมิให้มีปัญหากับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้

 

ไม่เพียงแต่พรรคร่วมเท่านั้นที่ยังไม่นิ่ง

แม้แต่ในพรรคแกนหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐ ก็มีร่องรอยความไม่ราบรื่นเช่นกัน

เนื่องจากเห็นว่า กลุ่มที่ได้รับตำแหน่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

จึงทำให้มีปฏิกิริยาออกมาจากกลุ่มอีสานตอนบน

จากกลุ่ม “ด้ามขวานทอง” อันเป็นตัวแทนของ 13 ส.ส.จากภาคใต้

ว่าไม่ได้รับการเหลียวแล

ซึ่งแทนที่จะมีการจับเข่าพูดคุยให้เข้าใจกัน

แต่กลับมีเสียงจาก “ตัวแทน” ที่มีอำนาจในพรรค เช่น นายสกลธี ภัททิยกุล มาปราบให้ยอมสงบ

ประสานเข้ากับการส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อเคลียร์ปัญหา

แม้จะทำให้เสียงสงบลงได้ ด้วยบารมีของ ร.อ.ธรรมนัส

แต่ก็น่าจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว คงต้องมีการเคลียร์กันอีกหลายยก

เพราะปรากฏการณ์ที่กลุ่มด้ามขวาน ไปตั้งสำนักงานที่อื่นซึ่งไม่ใช่ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ

ก็เท่ากับส่งสัญญาณความเป็นอิสระจากพรรค

ซึ่งมีความหมายทางการเมืองอย่างสูงกับรัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากกลุ่ม ส.ส.ต่างๆ แล้ว ในช่วงการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี และการนำในพรรค

คนภายนอกมองเห็นรอยร้าวลึกๆ ระหว่างกลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

กับกลุ่มของอดีต กปปส. นำโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสกลธี ภัททิยกุล ที่ระยะหลังแนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์

และรอยร้าวนี้นำไปสู่การโยนหินออกมาถามทางว่า

พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แทนนายอุตตม สาวนายน คนของนายสมคิดหรือไม่

 

นี่ต้องถือว่าเป็น “เกมอำนาจ” ใหม่ ที่ถูกนำเสนอออกมา

ซึ่งคาดหมายว่า มาจากซีกอำนาจกลุ่มอดีต กปปส.กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะตามโครงสร้างใหม่ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว

ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นั่นเอง

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เดิมนั้น พล.อ.ประยุทธ์หวังอย่างสูงที่จะก้าวเดินการเมืองในแนวทางเปรมโมเดล

ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะวางตัวเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคหนึ่งพรรคใด

แล้วใช้ความเป็นกลางนั้น ผสานกับบารมี กำกับดูแลพรรคการเมืองให้อยู่ในคอนโทรล ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง

สามารถครองอำนาจอยู่ได้ถึง 8 ปี

เปรมโมเดลนี้ เดิม พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องการที่จะเดินตาม แต่กระนั้น เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งในการช่วงชิงการนำและอำนาจ

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเปลี่ยนแนวทาง นั่นคือ อาจจะต้องลงมาคุมพรรคพลังประชารัฐเอง

เพื่อให้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ตนเอง สามารถควบคุมไม่ให้พรรคแตกเป็นก๊กต่างๆ

ซึ่งเท่าที่โยนหินออกมา ก็ดูเหมือนจะสยบกลุ่มอำนาจเอาไว้ได้ตามสมควร

ตรงนี้เอง อาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางเลือก นอกจากลงคลุกโคลน “การเมือง” ด้วยตนเอง

 

ถามว่า ง่ายหรือไม่ ก็คงไม่ง่าย เพราะการเป็นหัวหน้าพรรค จะดึงเอาทุกอย่างไหลเข้ามาปะทะ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

แน่นอน ย่อมเป็นภาระที่หนักหน่วง ทั้งในเรื่อง “อำนาจ-ทุน-บารมี” ในการดูแล ส.ส.

รวมทั้งการกำกับดูแลพรรคร่วมรัฐบาลอีกนับสิบ

ที่ผ่านมา ดูเหมือนง่ายสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดคำไหนเป็นคำนั้น

แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากอำนาจเหล็ก มาตรา 44 แต่หลังจากมีคณะรัฐมนตรีใหม่แล้ว อำนาจนี้ต้องสลายไป

แม้จะยังอบอุ่นกับการสนับสนุนของกองทัพ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกแรงมากกว่าเดิมอีกหลายสิบเท่า เพื่อสำแดงพลานุภาพต่อรองในทางการเมือง ให้เหมือนตอนเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ที่จะกินรวบเช่นเดิม

หากแต่ต้องรู้จัก “กินแบ่ง” เพื่อให้กลุ่มอำนาจทั้งในและนอกพรรคพอใจ ไม่พยศ

เพราะคงไม่สนุกแน่กับรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะปริ่มน้ำจะเผชิญกับระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่าที่ถูกก่อตัวขึ้นมาท้าทายตลอดเวลา

ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน ที่คงก่อมรสุมเข้าซัดใส่รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอดเวลา

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้การหวนกลับคืนมาเป็นนายกฯ รอบที่ 2 จึงไม่เหมือนครั้งแรก

เห็นได้จากแม้เวลาจะฮันนีมูนยังไม่มี

ต้องมานั่งปวดหัวเจรจาต่อรองเรื่องการแบ่งสันเก้าอี้รัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ต้องคอยสบตากับ 19 พรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา

เพราะเสียงปริ่มน้ำ ทำให้กดดันพรรคร่วมไม่ได้มาก และยังต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อยู่ตลอด

เช่นเดียวกันกับภายในพรรคพลังประชารัฐที่จะต้องแบ่งสันปันผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ไม่เช่นนั้นก็สามารถเกิด “วิกฤต” ได้ตลอด 2 รายทาง

เส้นทางแห่งอำนาจต่อไปนี้ จึงไม่ได้มุ่งไปสู่ “สวรรค์”

ตรงกันข้าม ถูกคาดหมายว่า เป็นเหมือนการก้าวไปสู่ “นรก” ยิ่งขึ้นทุกที

นี่ย่อมเป็นมหาทุกขลาภที่รอ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ข้างหน้า

และต้องเผชิญทันทีที่ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ ตั้งแต่วินาทีแรก!