แมลงวันในไร่ส้ม/ สื่อนอกวิจารณ์หนัก ‘ประยุทธ์’ สมัย 2 ชี้ถอยหลัง 40 ปี

แมลงวันในไร่ส้ม

สื่อนอกวิจารณ์หนัก

‘ประยุทธ์’ สมัย 2

ชี้ถอยหลัง 40 ปี

 

กระบวนการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่สอง ยังดำเนินต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า การเจรจาไม่ลงตัว เพราะในช่วงก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อ 5 มิถุนายน ตัวแทนเจรจาจากรัฐบาล ยอมรับเงื่อนไขให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ส่วนภูมิใจไทย ได้กระทรวงคมนาคม สาธารณสุข และการท่องเที่ยวและกีฬา

กระทรวงที่ 2 พรรคได้ไปถือว่าเป็นกระทรวงเกรดเอ มีบทบาทเกี่ยวข้องกับงบประมาณ กลุ่มทุน ภาคธุรกิจ และแตะไปถึงประชาชนจำนวนมาก

พรรค ปชป.ยังได้ตำแหน่งประธานสภาไปด้วย แม้จะมีการพูดกันว่าเป็นข้อตกลงพิเศษ แต่ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐเอง ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เกิดความรู้สึกว่า เสียเปรียบพรรคร่วมรัฐบาล

ตามมาด้วยความพยายามเจรจาใหม่ เพื่อปรับเกลี่ยตำแหน่งให้เหมาะสม แต่แกนนำ ปชป.และ ภท. ไม่ตกลงด้วย จนเกิดข้อเสนอแลกกระทรวง

โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงคมนาคม

การกดดันจาก พปชร. เป็นไปอย่างจริงจัง จนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.ไม่พอใจ โพสต์ข้อความว่า กระทรวงมีไว้ให้คนไปทำงาน ไม่ใช่มีไว้ให้เที่ยวไปแลกกันไปมา

และเกิดการตอบโต้จาก นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า

  1. กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่มีไว้ให้เข้าไปหางานเพื่อบริษัท #ถูกต้องนะครับ!!
  2. กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน และที่สำคัญ ต้องไม่ใช่เก็บไว้ให้บริษัทเข้าไปหางาน #ถูกต้องนะครับ!!
  3. กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน แลกเปลี่ยนได้…ถ้าจะเอาไปเพื่อประโยชน์บริษัทใด #ถูกต้องนะครับ!!
  4. ไม่ยอมแลก เก็บไว้ ทำงานให้ประชาชน หรือหางานให้บริษัท #คนเขาสงสัย…กระทรวงนี้ของข้าใครอย่าแตะ 55

และ 5. ไม่มีใคร…แลกอะไรกันไปมา มีแต่หาความเหมาะสม ไม่ให้คนเขานินทา ว่าเลือกกระทรวงให้บริษัท #ถูกต้องนะครับ

เป็นปรากฏการณ์ที่ส่อถึงความร้าวฉานที่เกิดขึ้นเร็วเกินไปสักหน่อย

 

นอกจากนี้ ยังมีปฏิกิริยาจากสื่อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เผยแพร่ข้อเขียนของโทรุ ทากาฮาชิ บรรณาธิการบริหาร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์การเมืองในไทย ระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ทำให้การเมืองไทยถอยหลังกลับไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในช่วงทศวรรษ 1980 หรือ พ.ศ.2523

รายงานระบุว่า หลังปฏิวัติ พ.ศ.2475 ไทยใช้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ทหารได้เข้ามายึดอำนาจในการปกครองและต่อต้านระบบพรรคการเมืองเป็นระยะ

กระทั่งทศวรรษ 1980 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี แม้เป็นทหาร แต่ก็ปฏิบัติตามกระบวนการประชาธิปไตย มีการปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภาก่อนหน้าที่จะจัดการเลือกตั้ง

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าระบบการเมืองไทยจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มที่ แต่ประชาชนยังคงมีความสุขกับช่วงเวลาที่มีเสถียรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งในปี 2531 พล.อ.เปรมลงจากตำแหน่ง เป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของทหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรากหญ้า ทำให้พรรคการเมืองของทักษิณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 และทำให้เกิดความแตกแยกอย่างมาก นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 รวมไปถึงการยุบพรรคการเมืองของทักษิณก่อนหน้าการเลือกตั้งตามคำสั่งศาล

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของทหาร และมีหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไทยกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า รัฐบาลพลเรือนจำแลง (pseudo-civilian government) ที่สนับสนุนโดยทหาร

ข้อเขียนนี้ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก แต่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารและการชุมนุมต่อต้านทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทนที่จะเลือกตั้งหรือถกเถียงกันในการประชุมสภา ที่เป็นแนวทางมาตรฐานของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

อิคูโอะ อิวาซากิ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยทาคูโชกุ ของญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ซึ่งชี้ว่าประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ดูจะมีความเข้าใจที่น้อยนิดเกี่ยวกับกติกาพื้นฐานว่า ถ้าคุณแพ้เลือกตั้ง คุณต้องยอมรับ และถอยไปก่อน

เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย หลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำอีกสมัยทำให้เกิดการประท้วง และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย

รายงานระบุว่า การจัดอันดับประชาธิปไตยของธนาคารโลก ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 161 จาก 20 ปีก่อน อยู่ที่อันดับ 80 ขณะที่อินโดนีเซีย ดีขึ้น อยู่ที่ 101 จาก 160

แม้ว่าแนวโน้มเรื่องประชาธิปไตยของ 2 ประเทศจะสวนทางกัน และเป็นสองประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมีประชาธิปไตยที่ถือว่า “ไม่พัฒนา”

 

สื่อดังอีกสำนักของสหรัฐ วอชิงตันโพสต์ วิจารณ์การเมืองไทยในบทความเรื่อง Thailand’s crude mockery of democracy means it doesn’t deserve U.S. aid เผยแพร่เมื่อ 8 มิถุนายน 2019 และเสนอรัฐบาลสหรัฐว่า ยังไม่ควรฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยอย่างเต็มรูปแบบ

วอชิงตันโพสต์ชี้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยของไทยไม่คู่ควรกับความช่วยเหลือจากสหรัฐ

โดยใช้คำเรียกว่า เป็นประชาธิปไตยปลอม

ข้อเขียนชี้ว่าไทยเป็นพันธมิตรนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของสหรัฐมาเนิ่นนาน แต่เป็นเวลา 5 ปีมาแล้วที่สหรัฐระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพไทย เพราะการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลไทยกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กำลังหวังว่า จะเกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์

แต่วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ไทยไม่ควรได้รับสิ่งนี้ แม้ว่ากฎหมายสหรัฐห้ามรัฐบาลร่วมมือกับชาติที่ขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตย และอาจระงับคำสั่งห้ามได้ หากประเทศนั้นกลับสู่ประชาธิปไตย

แต่การที่สภาไทยลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าประชาธิปไตยปลอม หลังจากเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม โดยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้ง และหลายคนเจอข้อหาอาญา

นั่นคือปฏิกิริยาจากสื่อต่างประเทศ และถือว่า รัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพบกับแรงกดดันตั้งแต่ก้าวแรกๆ ของสมัยที่สอง