วันสงกรานต์ มีที่มาจากไหน? : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

“สงกรานต์” เป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกฺรานฺติ” แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง

ในหนังสือเก่า หลายครั้งเราจะพบคำว่า “ตรุษสงกรานต์” คำว่า “ตรุษ” คำๆ นี้ มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกันคือคำว่า “ตฺรุฏ” หมายถึงการ “ตัด”

พูดง่ายๆ ก็คือ คำว่า “ตรุษสงกรานต์” หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (ตามคำโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วพระอาทิตย์ไม่ได้โคจร โลกของเราต่างหากที่กำลังโคจรอยู่ทุกขณะจิต) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง แล้วตัดให้เป็นการครบรอบวงโคจรหนึ่งครั้ง คือหนึ่งปีนั่นเอง

เมื่อพิจารณาจากคำศัพท์แล้วก็จะเห็นได้ชัดๆ นะครับว่า คำว่าสงกรานต์หมายถึง การขึ้นปีใหม่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการสาดน้ำ

ยิ่งเป็นคำแขก ไม่ใช่คำไทย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมเนียมจากอินเดีย ไม่ใช่ปีใหม่ของไทยแท้ๆ เพราะแต่เดิมก่อนที่จะเอาธรรมเนียมแขกมาใช้ เดือนอ้ายต่างหากที่เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของอุษาคเนย์จริงๆ

ส่วนการสาดน้ำ ซึ่งไม่มีในอินเดีย ยิ่งย่อมไม่ใช่ของที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์มาแต่เดิม แต่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนตับแลบของภูมิภาคอุษาคเนย์ในเดือนห้า คือเมษายน นี่ต่างหาก

เรื่องของสงกรานต์กับการสาดน้ำจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการผสมผสานระหว่างประเพณีพื้นเมือง เข้ากับธรรมเนียมอินเดียที่เราอิมพอร์ตเข้ามา

ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เกี่ยวกันเลยนอกจากช่วงระยะเวลาที่พอเหมาะกันเท่านั้น

ลักษณะอย่างนี้ทำให้มีการสร้างประเพณีบางอย่างขึ้นมาเกลี่ยความให้มันเข้ากันได้ดี

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรหรอกนะครับว่า พวกแขกจะไม่รู้จักบรรดานางสงกรานต์ทั้งหลาย ที่มีหน้าที่มาประจำแต่ละปีให้โหรได้ทำนาย

และก็ไม่ได้น่าแปลกใจเลยที่เราจะประดิษฐ์ธรรมเนียมการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ (หรือแม้กระทั่งรูปเทวดาประจำวัน) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเรื่องอย่างนี้คนแขกเองมาเห็นเข้า แขกเองก็จะกลายสภาพเป็นไก่ตาแตกเอาได้ง่ายๆ

เรื่องที่ต้องระวังไว้ให้มั่นอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในอินเดียเองก็ใช่ว่าจะนับช่วงเดือนเมษายน เป็นเดือนแรกของปีไปเหมือนกันเสียทุกท้องถิ่น ในอนุทวีปที่กว้างใหญ่อย่างอินเดีย แต่ละท้องถิ่น แต่ละวัฒนธรรม ก็มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า นับเดือนแรกสุดของปีไม่ตรงต้องกันเช่นกัน

ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ในอุษาคเนย์ แม้แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันอย่าง ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กับล้านนา ทางภาคเหนือของประเทศไทย ก็นับเดือนขึ้นต้นปีใหม่ ไม่ตรงกัน เพราะลมมรสุมพัดผ่านช้าเร็วต่างกัน จึงทำให้มีช่วงเวลาของการเพาะปลูกที่แตกต่างกัน

ใน “กฎหมายลักษณะพยาน” ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา “เด็กเจ็ดเข้า เฒ่าเจ็ดสิบ” เชื่อถือเป็นพยานไม่ได้ คำว่า “เข้า” ในสมัยนั้นตรงกับคำว่า “ข้าว” ในปัจจุบัน โดยนัยยะหนึ่ง “ข้าว” จึงแปลว่า “ปี” อีกด้วย

ช่วงระยะเวลาของการเพาะปลูกในแต่ละสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปจึงส่งผลต่อการนับรอบปีด้วย ในกรณีของล้านนาจะนับเร็วกว่าภาคกลางสองเดือนคือ ในขณะที่อยุธยาเพิ่งจะลอยกระทงในเดือนสิบสอง ล้านนาก็จุดโคมยี่เป็งของเดือนยี่แล้วนั่นเอง

โดยที่ไม่ได้สืบค้นเพิ่มเติม ผมเดาเอาเองว่า การที่อินเดียนับเดือนเริ่มต้นของปีเท่ากันทั่วทั้งอนุทวีปจึงเกิดขึ้นหลังการเข้ายึดครองของอังกฤษ เพราะเริ่มต้นปีที่เดือนมกราคม ตามปฏิทินสุริยคติแบบยุโรป ซึ่งคงเป็นเพื่อความสะดวกของเจ้าอาณานิคมอังกฤษเอง

ในสยามเองก็มีหลักฐานในทำนองเดียวกัน รัชกาลที่ 5 ทรงปรับให้นับวันปีใหม่จากเดิมที่นับจากวันสงกรานต์ (ซึ่งเป็นวิธีนับแบบจันทรคติ) มาเป็นนับจากวันที่ 1 เมษายน เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2432 เพื่อความสะดวกในสังคมสยาม ที่เริ่มใช้ปฏิทินแบบสุริยคติ ตามอย่างอารยประเทศในขณะนั้น

เรื่องของเรื่องมีอยู่ใน พระบรมราชโองการที่เรียกว่า “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2431 (ถ้านับอย่างปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ.2432)

เนื่องจากในพระบรมราชโองการฉบับนี้ มีข้อความระบุตั้งแต่ตอนต้นเลยว่า “…ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีการนับปีเดือนตามปฏิทินสุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปี…”

ต่อมาในช่วงสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จะปรับมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบสากลทั่วไปเมื่อเรือน พ.ศ.2483 ตามประกาศที่ชื่อ “ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่”

ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระหว่างที่จอมพลแปลกท่านกำลังเพียรพยายามเปลี่ยนรัฐ “สยาม” ที่ยังคงมีกลิ่นฟุ้งของธรรมเนียมรัฐจารีตแบบอุษาคเนย์โบราณ ให้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่เรียกว่าประเทศ “ไทย” อย่างเต็มตัว

และข้อความบางส่วนในประกาศที่ว่า ก็มีความระบุชัดเจนว่า

“…นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่…”

นี่ยิ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐนิยม คือสร้างความเป็นอารยะ (ตามอย่างมาตรฐานตะวันตก) ให้กับประเทศไทย

เมื่อครั้งที่สยาม (รวมถึงอีกหลายๆ วัฒนธรรมในอุษาคเนย์) จะปรับวันขึ้นปีใหม่จากเดือนอ้าย มาเป็นวันสงกรานต์ ก็คงมีเหตุผลอะไรทำนองนี้ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่เรายังไม่มีข้อมูลพอจะสรุปลงไปได้ว่า นี่เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุผลทางด้านความเป็นอารยะ, ความเชื่อทางศาสนา หรือทางด้านอื่นๆ?

ย้อนกลับมาที่คำว่า “สงกรานต์” ซึ่งตามรากศัพท์หมายถึง การเคลื่อนผ่านของดาวจากราศีหนึ่ง ไปยังอีกราศีหนึ่งตามที่บอกเอาไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรก นักปราชญ์สมัยก่อนท่านกำหนด “วันมหาสงกรานต์” เป็นจุดเริ่มต้นและการแบ่งปี จุดดังกล่าวนี้คือจุดตัดระหว่างเส้นโคจรดวงอาทิตย์ (ซึ่งไม่มีอยู่จริงในทางวิทยาศาสตร์) ที่เรียกว่า “สุริยวิถี” กับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า

โดยถือเอาวันที่กลางคืนกับกลางวันมีระยะเวลาเท่ากัน เรียกว่า จุดราตรีเสมอภาค หรือวิษุวัต (Equinox) แต่เพราะแกนโลกเอียง แถมยังหมุนรอบตัวเองอีกด้วย จุดดังกล่าวจึงจะเคลื่อนจากจุดเดิมอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 50 วิลิปดา

เอาเข้าจริงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม หรือความหมายใดก็ตาม) ในแต่ละปี จึงไม่เคยตรงกันเลยสักครั้งหรอกนะครับ

ประวัติศาสตร์จึงอาจจะไม่เคยย้อนรอยตัวมันเองอย่างที่มักจะเข้าใจกันเลยสักนิดด้วยเหมือนกัน เพราะเงื่อนไขจำเพาะที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงเวลาได้บวกลบคูณหารให้ผลลัพธ์แตกต่างกันออกไปเสมอ