มุกดา สุวรรณชาติ : ดูการเมืองหลัง 2490 ก่อนเดาการเมืองหลัง 2560 (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

อนาคตเป็นสิ่งที่ต้องคาดคะเน แต่เมื่อดูจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตและปัจจุบัน ศึกษาโครงสร้างของกลุ่มการเมืองที่ควบคุมอำนาจรัฐและกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านคัดค้าน ย้อนดูประวัติศาสตร์การช่วงชิงอำนาจในประเทศ ก็พอจะประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้บ้าง

การเมืองช่วงรัฐประหาร 2490 น่าศึกษาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตลอด 70 ปีหลังจากนั้น ก็พบว่าการต่อสู้ที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นต่างๆ เป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวต่อไป เป็นไปตามวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์

การต่อสู้แต่ละครั้งจำเป็นต้องเกิดขึ้น เป็นทางผ่านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายที่ก้าวหน้า เริ่มมีตั้งแต่ เชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ ปัญญาชน นักศึกษา และล่าสุด คนชั้นกลาง ชาวบ้านธรรมดาก็ลงสู่สนาม นี่เป็นศตวรรษแห่งการปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย เร่งอย่างไรก็ไม่เร็วไปกว่านี้

ดูการเมืองหลัง พ.ศ.2490…
เผด็จการ+รัฐสภา ของจริง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ช่วงเวลาพัฒนาประชาธิปไตย 15 ปีถูกแทรกด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มของผู้แพ้สงครามด้วย เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี นำประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น (จึงหลุดจากตำแหน่ง)

แต่ประเทศไทยก็มีขบวนการเสรีไทยซึ่งนำโดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพอจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองกับฝ่ายพันธมิตรที่ชนะสงคราม ทำให้ไทยได้รับความเสียหายน้อยลงโดยเฉพาะปัญหาเอกราช

อ.ปรีดี จึงสนับสนุน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นคนในขบวนการเสรีไทยให้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาก็เกิดความขัดแย้งระหว่างหม่อมเสนีย์กับนายปรีดี

สภาพทางการเมืองหลังสงครามจึงมีสามขั้ว

กลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งต่อมารวมกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี นายควง อภัยวงศ์ หม่อมเสนีย์ หม่อมคึกฤทธิ์ เป็นแกนนำ

กลุ่มอาจารย์ปรีดี ต่อมาก็รวมเป็นพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากภาคอีสานกลุ่มเสรีไทยเดิม กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์และการเมือง

กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีการจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์โดยหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้าพรรค แต่กำลังที่แท้จริงอยู่ในกลุ่มทหารบกทั้งนอกและในราชการ

การปะทะกันของสองขั้วการเมือง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี หม่อมเสนีย์ ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489

นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลก็มีอายุอยู่ได้เพียงเดือนเศษ ก็ต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากแพ้มติ “พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว” ที่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ เป็นผู้เสนอ รัฐบาลลาออก (ซึ่งสมาชิกคณะรัฐมนตรีคณะนี้ส่วนหนึ่ง ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาในเวลาต่อมาไม่นาน)

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมติของที่ประชุมสภา และตามประกาศพระบรมราชโองการ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 โดยเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง

ภายหลังการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมคณะรัฐมนตรี ลาออก 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 จากนั้นมีการเปิดประชุมสภาทั้งสองอีกครั้งเพื่อจะได้ดำเนินการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐสภาได้เลือกนายปรีดีกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489

แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศก็ได้เกิดเหตุการณ์ การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

นายปรีดี พนมยงค์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่รัฐบาลยังคงถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งบนดินและใต้ดิน

นายปรีดี พนมยงค์ จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489

23 สิงหาคม 2489 สภามีมติให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน การต่อสู้ของพรรคตาอินกับพรรคตานา ยืดเยื้อต่อมา

จุดเริ่มต้น…เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้
ต้องใช้รัฐประหาร

ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้น โดยกลุ่มของตาอยู่ซึ่งมีทั้งนายทหารนอกประจำการซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัณ และทหารนอกประจำการ อีก 10 คน ส่วนทหารที่คุมกำลังอยู่คือ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันโทถนอม กิตติขจร พันโทประภาส จารุเสถียร ร้อยเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และนายทหารอีกประมาณ 40 คน

ตอนที่อ่านประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนี้ตามข้อมูลพบว่าผู้ที่นำการรัฐประหารคือ พลโทผิน ชุณหะวัณ และบางคนก็เขียนว่าจากนั้นได้ไปเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นหัวหน้า

แต่จากการได้ดูหนังสารคดีซึ่งถ่ายทำไว้ในเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้ ก็พบว่าจอมพล ป. อยู่ในกระทรวงกลาโหมตั้งแต่เช้าวันนั้น

มีทั้ง จอมพลผิน ชุณหะวัณ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกจำนวนมาก มีตำรวจและทหารอากาศเดินทางมารายงานตัว

มีนักธุรกิจ นายธนาคารเข้ามาพบ

นายควง อภัยวงศ์ ก็เข้ามาพบคณะรัฐประหาร

การเข้าสู่การเมืองของกลุ่มทหาร
ผ่านการรัฐประหารและเลือกตั้ง

หลังรัฐประหาร 2490 ทหารไม่เป็นนายกฯ แต่ให้ นายควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลชั่วคราวและอยู่ต่อจนมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2491 นายควงได้เป็นนายกฯ อีกสมัย หลังจากการเลือกตั้ง ได้รับการรับรองจากนานาชาติได้ไม่ถึง 3 เดือนก็ถูกกลุ่มทหารซึ่งเป็นผู้ควบคุมอำนาจตัวจริงบังคับให้ลาออก และจอมพล ป. ก็เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโดยการเลือกของสภา ไม่ต้องให้ประชาชนเลือก

จากนั้นบทบาทพรรคการเมืองของตาอินและตานาก็หายไปเพราะนายปรีดีและคนสำคัญต่างๆ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แม้มี ส.ส. จำนวนมาก แต่มีบางส่วนยอมเข้ากับจอม พล ป. จึงหมดบทบาทลงไป

เป็นฝ่ายค้านก็ไม่มีน้ำหนักอะไร

ไม่รู้ว่า ปชป. ถูกหลอก หรือยอมให้หลอก แต่ความผิดพลาดของสายการเมืองทุกพรรคทำให้กลุ่มตาอยู่ของจอมพล ป. สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการรับรองของ ส.ส. แต่งตั้งและเลือกตั้ง ทำให้การเป็นนายกฯ รอบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2491 เขาสามารถอยู่ในอำนาจได้เกือบ 10 ปี ในรูปแบบอำมาตยาธิปไตย ใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างเอง…

(ต่อฉบับหน้า)