ทราย เจริญปุระ | ดินแดนคู่ตรงข้าม

1.ในที่สุดฉันก็ต้องมา

ฉันกำลังนั่งอยู่ในห้องชั้นสองย่านสถานบันเทิงกลางเมือง กลิ่นห้องน้ำอบอวลหนักแน่นพอๆ กับเสียงดนตรีที่ดังขึ้นมาจากชั้นล่าง

“วันนี้ร้านมีคอนเสิร์ต เสียงดังนิดนึงนะคะ” ฉันเกือบจะทำตลกด้วยการถามว่า-ว่าไงนะคะ? ไม่ได้ยินเลย-ไปทันทีที่สิ้นประโยคบอกเล่านั้นแล้ว แต่ก็รู้ตัวว่าไม่เข้าท่า เลยนิ่งเสียดีกว่า

เอาเป็นว่ารวมๆ แล้วเป็นสิ่งแวดล้อมที่ถ้าไม่ถูกจ้างมาในราคาแพง ฉันจะไม่มาเป็นอันขาด

แล้วมาทำไม

2.ยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่าความสุขมันหายากขึ้นเรื่อยๆ

ฉันเคยคุยกับเพื่อนว่าทำไมฉันไม่หัดยินดีในแง่งามอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น รอยยิ้มของเด็ก หรือน้ำค้างยามเช้าอย่างใครเขาบ้าง

มันเหมือนกับว่าถ้าฉันเห็นรอยยิ้มของเด็ก ก็ดันนึกไปถึงสถานการณ์ว่า ตัวเองคงอยู่สนามหน้าทำเนียบฯ ในงานวันเด็ก ที่เยาวชนทุกคนกำลังสำแดงพลังแห่งวัยเยาว์ให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยการกรีดร้อง วิ่ง และปีนป่ายท่ามกลางอากาศร้อนบรรลัย

หรือถ้าเห็นน้ำค้าง ก็พาลจะง่วงเสียอีก เพราะถ้าตื่นมาทันเห็นน้ำค้างนี่ก็มีอยู่สองเหตุ คือตื่นไปทำงานแต่เช้า ไม่อย่างนั้นก็ยังไม่ได้เลิกงานกลับไปนอนเสียที

นี่ฉันมันเป็นคนแบบนี้ รอยยิ้มไม่ได้จบที่รอยยิ้ม และน้ำค้างไม่ได้จบที่น้ำค้าง

จะให้นึกโทษโรคภัยที่ตัวเองเป็นมันก็คงจะพอได้ แต่เอาเข้าจริงฉันก็รู้นั่นแหละ ว่าสันดานฉันเป็นแบบนี้ คือจะบอกว่าเพราะสันดานนี้เลยตะกายขึ้นไปเป็นโรคนี้ก็คงพอได้ เพราะเป็นปัจจัยที่สำคัญอยู่ ฐานที่เพ่งแต่ด้านมืดของสรรพสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต

เมื่อก่อนความสุขของฉันหาได้ไม่ยากนัก ก็คือการยอมตามใจคนใกล้ชิด อย่างเช่น แม่หรือคนรักในห้วงเวลานั้นโดยเอาความพึงใจของตัวเองไปต่อแถวท้ายสุด

เรียกว่าทำให้จบๆ ไปก็แล้วกัน ถือว่าทำให้แล้วนะ

ดังนั้น ฉันก็จะเหมือนพวกมีพลังพิเศษ ด้านการกินเหล้าหนัก นอนน้อย หรือวางจิตเป็นอุเบกขา กล้ำกลืนความขมขื่นหรือความพอใจของตัวเองเอาไว้ ซึ่งในเวลานั้นก็ไม่รู้แน่ด้วยซ้ำว่าขมขื่นหรืออะไรมากมายแค่ไหน เพราะรู้แค่ว่าถ้าตามใจใครไปมันแสนจะง่าย ทำแล้วต้องพอใจ ฉันทำให้ ฉันจะได้ความรักตอบแทน

แน่นอนว่าตอนนี้ฉันดีขึ้นบ้างแล้ว และได้เรียนรู้ว่าการทำตามใจตัวเองนั้น-ขอโทษเถอะ- มันโคตรจะดีเลย กว่าจะฝึกให้รู้จักตามใจตัวเองได้ขนาดนี้ก็ยากเย็น เสียน้ำตากันไปเป็นลิตรๆ เสียจิตไปอีกไม่ใช่น้อย

และพอดีได้สักพักฉันก็ชักจะนิสัยเสีย

แล้วกลายเป็นหงุดหงิดที่สุด ถ้าจะต้องทำอะไรนอกเหนือจากใจฉัน

กลายเป็นว่าฉันกลายเป็นคนไม่ยืดหยุ่นไปจนสุดอีกทาง คือดีดจากการตามใจคนอื่นอย่างยิ่ง เป็นไม่อยากทำตามใจใครเลย

-ทำไมวะ ก็ทำมาทั้งชีวิตแล้วนี่-

จะคิดแบบนั้นก็คงได้ ถ้าชีวิตฉันจะจบแค่นั้น และไม่ต้องพบใครใหม่ๆ อีกเลย เจอแต่คนหน้าเดิมๆ ที่ฉันจะขุดเอาจำนวนครั้งที่เคยตามใจเขามาใช้ป้องกันตัวไปได้ชั่วกาลนาน

3.ความสุขมาจากไหน-ต้องทำอย่างไรถึงมีความสุข?

เพื่อตอบคำถามนั้น Jonathan Haidt นักจิตวิทยาสังคม ผู้ทำงานในสาขาจิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology แขนงหนึ่งของวิชาจิตวิทยา ที่พยายามค้นหาวิธีทำให้ชีวิตมีความสุข พาเราท่องไปในดินแดนคู่ตรงข้าม ของแนวคิดต่างๆ ตั้งแต่ภูมิปัญญาโบราณ ไปจนถึงการค้นพบของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่*

-นี่คือคำโปรยหลังหนังสือวิทยาศาสตร์แห่งความสุข ที่ถ้าเป็นเมื่อสักสี่ห้าปีก่อนฉันคงมองข้ามไปอย่างไม่ไยดี- เพราะวิธีสร้างสุขของฉันก็อย่างที่บอกไว้, ตามใจคนอื่น

แต่ก็นั่นล่ะ คนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้

แม้แต่ฉันซึ่งคิดมาเสมอว่าคงไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ฉันก็เลยเอามันมาอ่าน บางบทก็ถูกใจระดับขีดเส้นใต้ซ้ำๆ บางบรรทัด

บางบทก็ก้ำกึ่งระหว่างความง่วงปนสงบปนความอ่านไปเรื่อยๆ

แต่มันก็สงบใจดี ที่ฉันรู้สึกว่าหนังสือไม่ได้ทำให้ฉันโง่เง่าที่พยายามมาหาคำตอบเรื่องที่ควรจะรู้ด้วยตัวเอง

“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้บอกเราก็คือ ความสุขมิได้อยู่ ณ ฟากใดฟากหนึ่งของแนวคิดทั้งหลาย หากแต่อยู่ในพื้นที่เวิ้งว้างระหว่างดินแดนความคิดเหล่านั้น

รอให้เราเข้าใจ

เพื่อให้เราไปถึง

หรืออย่างน้อยคือไม่ห่างเหินกันเกินไป”*

4.”วันที่ 30 หนูว่างนะพี่ มีคนยกเลิกจองพอดี”

เออ ดี-ฉันตอบ- งั้นพี่นัดเลย กี่โมงนะ? อ๋อ บ่ายสามเหรอ ได้สิ, ฉันเปิดโทรศัพท์แล้วจดลงปฏิทิน

-นัดช่างสักบ่ายสาม-

ข้างล่างยังคงซ้อมดนตรีกันอึกทึก คู่รักฉันพูดอะไรซักอย่างที่ฉันไม่ทันฟัง เลยหันไปบอกให้พูดซ้ำอีกที

เขาบอกว่าวันนั้นเขาไม่ว่างนะ

ไม่ว่างก็ไม่ว่างสิ เค้ามาสักได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก, ฉันตอบ

จริงๆ จะตอบต่อไปด้วยซ้ำ ว่าใครจะเหมือนเธอล่ะ สักทีต้องลากฉันมาด้วย

จำได้ว่าวันที่เขาเลียบๆ เคียงๆ ถามถึงคิวงานฉันนั้น ฉันก็รู้ทันที ว่าจะให้ฉันมาเป็นเพื่อนสัก

ซึ่งสำหรับฉันมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย สักก็สักไปสิ รอยสักฉันเต็มตัว นึกจะทำก็ทำ ช่วงไหนประสาทเสียมากๆ ก็สร้างความเจ็บให้ตัวเองเสียที พอให้ระบายความระทม

คิดแบบนี้ฉันก็ตอบเขาไปว่า ว่างแหละ แต่ไม่ไปได้มั้ย ขี้เกียจ

แล้วภายในสองวินาที สมองฉันก็ประมวลผลอย่างรวดเร็ว กะพริบแสงวาบๆ สีแดงสุดอันตราย ว่าหยุดนะ อย่าทำแบบนี้!

ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน และท่ามกลางผู้คนในชีวิตที่เหลือน้อยลงทุกวันๆ ของฉัน ฉันยังจะไม่ตามใจคู่รักฉันอีกเหรอ

เอาอีกแล้ว, ต้องตามใจอีกแล้วเหรอ–เสียงเล็กจิ๋วในใจกระซิบบางเบา

มันไม่ใช่ “อีกแล้ว” ซะหน่อย, ส่วนที่มีเหตุผลของฉันตอบ

หัดให้และรับให้พอดีอย่างคนปกติเขาเถอะ ไม่ใช่ตอนให้ก็ให้ตะพึดตะพือ ไม่รับรู้เหตุผล

ครั้นบทจะเลิกให้ ก็ตระหนี่น้ำใจเสียจนเกินพอดี เอาแต่ใจตัวเองตั้งนำจนไม่เห็นใจคนอื่น

แล้วจะทำไมกันนักหนาเล่า กับแมวตัวเดียวฉันยังตามใจมันจนจะเสียแมว แต่ฉันก็พอใจแบบนี้ มันทำอะไรกระจุยไปบ้าง ฉันก็มีหน้าที่เก็บพร้อมกับบอกตัวเองว่าเอาเขามาเลี้ยงแล้ว ก็ต้องปรับตัวกัน

ปรับตัวได้ก็ได้ความสงบและอุ่นใจ ที่ได้นั่งในห้องสะอาดสะอ้าน (เพราะฉันต้องเก็บของให้พ้นความแมว) บนโซฟาแสนสบายที่เพิ่งซื้อมา (ก็ฉันอยากนั่งไปพร้อมกันกับแมว) มือนึงก็เล่นกับแมว ปากก็ทำเสียงเล็กเสียงน้อยใส่มัน ถ่ายรูปมันเก็บเอาไว้ดูเล่น

กระทั่งกับแมวฉันยังทำได้

แล้วกับมนุษย์ทั้งคนที่ก็พยายามอย่างดีที่สุดในการรับมือกับความจิตแตกของฉันเล่า

ก็นั่นแหละ, สุดท้ายฉันก็เลยมานั่งอยู่ในร้านสัก ดมกลิ่นฉี่ และสมองเต้นตุบไปพร้อมกับเสียงหวดกลองที่ชั้นล่าง

นี่ล่ะการตามใจแฟน

ส่วนที่นัดช่างสักเองเมื่อกี้น่ะ, คือการตามใจฉัน

เออ นี่ล่ะความสุข

การพบกันครึ่งทางของสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำยังไงล่ะ

มันอาจจะไม่ใช่ความสุขของฉันเสียทีเดียว แต่เพื่อแลกกับความสงบซึ่งหาซื้อไม่ได้ ฉันก็ยอมจ่าย แล้วก็มานั่งเขียนงานของตัวเองไปท่ามกลาง…ทุกอย่างที่ฉันได้บอกไปแล้วในย่อหน้าแรก

ชีวิตเราก็เท่านี้

“วิทยาศาสตร์แห่งความสุข” (The Happiness Hypothesis) เขียนโดย Jonathan Haidt แปลโดย โตมร ศุขปรีชา ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Salt มีนาคม, 2562

*ข้อความจากในหนังสือ