สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Pisa 2015 หรือแค่คลื่นกระทบฝั่ง (1) สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for international Student Assessment (Pisa) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สร้างขึ้นเพื่อประเมินและจัดอันดับความสามารถของนักเรียนใน 3 ด้าน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เพื่อสร้างข้อเสนอในการปรับปรุงคุณภาพและสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา ดำเนินการทุก 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2000

การประกาศผลการจัดสอบอย่างเป็นทางการล่าสุด ปี 2015 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 มีประเทศเข้าร่วม 72 ประเทศ ภาพรวมประเทศไทยอยู่อันดับ 55 ด้านวิทยาศาสตร์อันดับ 54 การอ่าน อันดับ 57 และคณิตศาสตร์อันดับ 54

ผลสะเทือนจากคำแถลงดังกล่าว มีนักคิด นักการศึกษาหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ติดต่อกัน

แรงสุดๆ เห็นจะเป็น ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หนังสือพิมพ์นำไปพาดหัวข่าว “ผล Pisa ประจานไทยเหลวทุกด้าน ทั้งหลักสูตร ระบบสอน วัดผล ครู”

ศ.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา “ชง 3 แนวทาง ศธ. เพิ่ม Pisa แนะ สทศ. ต้องออกข้อสอบล้ำหลักสูตร อัดครู ทำลายความคิด อยากรู้ เด็กไทย”

 

ผมประมวลท่าที ปฏิกิริยา ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ เพื่อป็นข้อมูลสำหรับติดตามความเคลื่อนไหว ว่า ผลครั้งนี้จะสั่นไหววงการบริหารการศึกษาไทยแค่ไหน ถึงวันนี้ยังพูดกันไม่จบ

ที่สำคัญจะพบทางออกจนสามารถไปถึงเป้าหมายที่รัฐไทยวางไว้ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้หรือไม่ ยังไม่มั่นใจ

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว รอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์

เป้าหมายการพัฒนา เป้าหมายที่ 3 คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีความสามารถเรียนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

ตัวชี้วัด 3.1 ผลคะแนนสอบ Pisa ในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 500

ตัวชี้วัด 3.2 การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการอ่านหาความรู้เพิ่มขึ้น

ตัวชี้วัด 3.3 การอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85

ตัวชี้วัด 3.4 แรงงานที่ขอเทียบโอนประสบการณ์และความรู้เพื่อขอรับวุฒิ ปวช. และ ปวส. เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

ภายในระยะเวลา 5 ปีตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับใหม่ คะแนนทดสอบ Pisa ของเด็กไทยจะไต่ถึงระดับที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

แม้ยังมีเสียงโต้แย้งในเชิง ไม่ควรตกใจเกินไปจนถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย เพราะยังมีเด็กไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน ในเวทีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเด็กส่วนน้อยนิด

การกำหนดเอาคะแนน Pisa เป็นเป้าหมาย ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงถึงการยอมรับกระบวนการ และมาตรฐานการทดสอบในระดับสากล

ผลการจัดสอบที่ปรากฏ จึงเป็นภาพสะท้อนคุณภาพ มาตรฐานและปัญหาการจัดการศึกษาไทยอย่างปฏิเสธได้ยาก

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ติดตามวิเคราะห์ผลการสอบมาอย่างต่อเนิ่อง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้การสอบเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ข้อสอบกว่าร้อยละ 60 เป็นข้อสอบวิทยาศาสตร์ และเป็นครั้งแรกที่จัดการทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้ง 72 ประเทศที่ส่งตัวแทนเยาวชนอายุ 15 ปีมากกว่า 500,000 คนเข้าร่วมการสอบด้วยระบบใหม่

และแยกแยะรายละเอียด ผลคะแนนเป็นรายด้าน คะแนนวิทยาศาสตร์ได้ 421 คณิตศาสตร์ได้ 415 การอ่านได้ 409 ลดลงจากการสอบปี 2012 ประมาณ 11-32 คะแนน โดยวิชาการอ่านมีการลดลงมากที่สุด

ส่วนประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยรวมสามวิชาอันดับสูงสุด 10 อันดับเรียงตามลำดับได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง-จีน มาเก๊า-จีน เอสโตเนีย ไต้หวัน แคนาดา ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ และจีน 4 มณฑล จะเห็นว่า 7 ใน 10 ล้วนเป็นประเทศจากเอเชีย โดยเวียดนามได้คะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลกในการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน เวียดนามทำได้อันดับที่ 21 และ 27 สิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 415

การจัดสอบครั้งต่อไป อีก 3 ปีข้างหน้า 2018 ผลจะออกมาระดับไหน ดร.ไกรยศ บอกว่า การทดสอบปี 2018 จะเน้นการอ่าน ซึ่งไทยเรามีปัญหามากอยู่แล้ว ส่วนครั้งต่อไปปี 2021 จะเน้นคณิตศาสตร์ ความคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์

 

กลับมาสู่ท่าทีของผู้รับผิดชอบกำหนดนโยบายและบริหารการศึกษาไทยปัจจุบัน

หลัง Pisa แถลงผลเพียงวันเดียว นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการ รมว.ศธ. เปิดแถลงข่าวว่า ได้รายงานผลคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีบ่นว่าทำไมผลถึงออกมาต่ำ และที่ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติได้ตั้งเป้าเพิ่มคะแนน Pisa อีก 100 คะแนนในแต่ละด้านนั้น นายกฯ ขอให้ดำเนินการให้ได้ผลเร็วกว่านั้นได้หรือไม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับจะหาแนวทางดำเนินการ

“ถามว่าพอใจผลคะแนนที่ออกมาหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่พอใจ เพราะคะแนนโดยรวมทั้งระบบไม่ดี ผลคะแนนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมกับโรงเรียนที่ด้อยโอกาส

อย่างกลุ่มโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเน้นด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย กลุ่มโรงเรียนสาธิต ปรากฏว่าทำคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่านได้สูง อยู่ในอันดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงๆ

แต่การทดสอบ Pisa มีโรงเรียนทุกประเภทเข้าร่วมทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนโดยรวมออกมาไม่น่าพอใจ

อีกทั้งปีนี้เป็นการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ทำให้เด็กต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงไอซีที จึงทำคะแนนออกมาไม่ดี ทั้งนี้ คงไม่ต้องแก้ไขเรื่องหลักสูตร เพราะที่ผ่านมาใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ โดยโรงเรียนที่มีความพร้อมก็จะทำคะแนนได้ดี แต่ที่ต้องปรับแก้คือความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องทรัพยากรและครูผู้สอน”

“ผลคะแนนสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพของการจัดการศึกษา” นพ.ธีระเกีรยติ ย้ำ

 

ฟังโดยสรุปโรงเรียนดัง โรงเรียนใหญ่ โรงเรียนเฉพาะทาง ไม่มีปัญหา โรงเรียนห่างไกล ขาดแคลน ต่างหากที่เป็นตัวฉุด เหมียนเดิม

ทางออก จึงมอบให้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งคณะทำงานร่วมศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกัน โดยนำคะแนน Pisa มาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงคุณภาพผู้เรียน

“การเรียนการสอนของโรงเรียนจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการประเมินหลังจากนี้จะต้องวัดจากการให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น”

ครับ กลับมาสู่ประเด็นเดิมที่พูดกันมาตลอด ทำอย่างไร ด้วยกระบวนการอะไร ถึงจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา โมเดลต่างๆ ล้วนมีมาแล้วมากมาย

ล่าสุดสถาบันวิชาการระดับชาติแห่งหนึ่งเสนออย่างระบบ มีงานวิจัยรองรับ สำคัญว่ารัฐบาลและทุกฝ่ายจะขานรับแค่ไหน หน่วยงานไหน ไว้ติดตาม