เทศมองไทย : ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ปัญหาของเอเชีย 2017

AFP PHOTO / JIM WATSON

หลายคนพูดกันแบบทีเล่นทีจริงว่า โลกที่เราคุ้นเคยจะจบสิ้นลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โลกใหม่ที่เราไม่รู้จักมักคุ้นจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 20 มกราคมที่จะเดินทางมาถึงภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้ เมื่อ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

เหลือเชื่อนะครับ ในโลกตะวันตกตอนนี้มีคนขนานนามวันรับตำแหน่งของทรัมป์วันนั้นกันแล้วว่า “แบล็กฟรายเดย์” หรือ “ศุกร์มืด-ศุกร์ทมิฬ” กันแล้ว

โดยส่วนตัวของผมเอง ยอมรับกันตรงไปตรงมาว่า ติดตามข่าวต่างประเทศมานานปีดีดัก ไม่เคยเห็นผู้นำคนไหนสร้างความรู้สึกในทางลบให้เกิดขึ้นกับโลกได้มากเท่านี้อีกแล้ว ความรู้สึกที่ว่านี้มีตั้งแต่ ยี้ เรื่อยไปจนถึงวิตกกังวล และที่ถึงที่สุดก็คือ กลัว ครับ

จะว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะตลอดปี 2016 ที่เป็นปีแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ แก “อวดอิทธิฤทธิ์” เอาไว้เยอะเหลือเกิน

ไซมอน ทิสดอลล์ แห่ง การ์เดียน บรรยายสรรพคุณของ โดนัลด์ ทรัมป์ เอาไว้ในบทความส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของเขาเมื่อ 25 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า จุดยืนของทรัมป์ที่ยึดถือลัทธิแยกตัวเอง ลัทธิปกป้องตัวเองเป็นที่ตั้งไม่เพียงก่อให้เกิดข้อกังขากับแนวทางโลกาภิวัตน์ที่โลกยึดถือเป็นเครื่องมือยังความรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเท่านั้น

ทรัมป์ยังอาจนำพาเศรษฐกิจของทั้งโลกย้อนยุคไปสู่ระบบเศรษฐกิจชาตินิยมที่โลกในยุคก่อนหน้าสงครามโลกหนนั้นยึดถือเป็นวัตรปฏิบัติ แล้วก่อให้เกิดสารพัดความขัดแย้งขึ้นตามมาอีกด้วย

เราได้แต่หวังกันว่า ทรัมป์อาจจะเกิด “ดวงตาเห็นธรรม” ขึ้นมาบ้างเมื่อลงมือทำงานบริหารประเทศเข้าจริงๆ และเลือกที่จะใช้แนวทาง แนวนโยบายที่ “เป็นไปได้” และสอดคล้องกับความเป็นจริงในอนาคต

และได้แต่หวังอีกเช่นกันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา คงไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อฝรั่งเศสมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในราวกลางปีหน้า ไม่เช่นนั้น โลกก็จะมีผู้นำใหม่เป็นสตรี “ขวาสุดโต่ง” อย่าง มารีน เลอเปน จากพรรคเนชั่นแนล ฟรอนต์

หรือไม่เช่นนั้น การเลือกตั้งใหม่ในเยอรมนีที่จะมาถึงในราวเดือนกันยายน ก็จะไม่ได้คนที่มากความสามารถและเห็นการณ์ไกลอย่าง แองเกลา แมร์เคิล มาเป็นผู้นำอีกต่อไป

ทรัมป์สร้างความกังวลให้เกิดขึ้นได้ แม้ในเรื่องที่หลายๆ คนเห็นพ้องว่าควรทำ

พล.ท.ไมเคิล ฟลินน์

ตัวอย่างเช่น ทรัมป์บอกมาตลอดว่า การเอาชนะกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) คือการต่างประเทศที่เขายึดถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับแรกสุด และดูเหมือนจะทำตามอย่างที่พูดเอาไว้ ด้วยการแต่งตั้งคนอย่าง ไมเคิล ฟลินน์ อดีตนายพลทหารที่อ้างว่า การกลัว “มุสลิม” เป็นเรื่องมีเหตุมีผล ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง

และเลือก “สายเหยี่ยว” อีกเป็นจำนวนมากเข้าดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารของตนเอง

ปัญหาสำหรับนักสังเกตการณ์ทั่วไปก็คือ “วิธีการ” ที่ทรัมป์จะใช้ในการจัดการกับไอเอส

พิเคราะห์จากวาทะกรรมที่ทรัมป์ประกาศเอาไว้ว่าจะ “บอมบ์ไอเอสให้ขี้แตกขี้แตนไปเลย” แล้วละก็

ไม่ใครก็ใครต้องกังวลกับวิธีการของเขาแน่นอน

ในภูมิภาคเอเชีย ความสัมพันธ์ประหลาดๆ ระหว่าง “มหาอำนาจ” ทั้งหลายกำลังก่อตัวขึ้นและน่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เกิดขึ้นได้ไม่น้อยในปี 2017 รูปธรรมของเรื่องนี้ก็คือ ทรัมป์แสดงทีท่าว่าจะเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาที่ “ญาติดี” เป็นพิเศษกับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำอำนาจนิยมแห่งรัสเซีย อย่างที่ไม่เคยมีผู้นำสหรัฐคนไหนเป็นมาก่อน

ในเวลาเดียวกัน ปูติน ก็เพิ่งทอดสะพานไมตรีครั้งสำคัญกับคนอย่าง สี จิ้น ผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่ทรัมป์เปิดฉากแสดงความเป็น “ศัตรู” กับจีนตั้งแต่ยังไม่ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

แตะแม้กระทั่งเรื่องที่หัวเด็ดตีนขาดจีนก็ไม่ยอมอย่างกรณีไต้หวัน ตั้งแต่ต้นมือ

ภาพความสัมพันธ์แปลกแปร่งที่ว่านั้นเกิดขึ้นในขณะที่หลังฉาก มีการขยาย “ปริมณฑลทางทหาร” อย่างสำคัญของจีนในทะเลจีนใต้ ทั้งๆ ที่ศาลโลกชี้แล้วว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลอย่างชัดแจ้ง

ในเวลาเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นกลับมา “ติดอาวุธ” ตัวเองอีกครั้ง

ทรัมป์ชี้ว่าถ้ากังวลกับปมปัญหา “คิม จอง อึน” มากมายนัก ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ก็ควรมี “อาวุธนิวเคลียร์” ของตัวเอง

คำพูดที่ว่านี้มีขึ้นโดยไม่ไยดีความพยายามในการจำกัดการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์ที่สหประชาชาติพยายามทำมาช้านานแม้แต่น้อย

เช่นเดียวกันกับการขู่จะฉีกข้อตกลงกับอิหร่านของ บารัค โอบามา ที่อาจส่งผลให้เกิด “การแข่งขันกันสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์” ขึ้นในตะวันออกกลางอีกครั้ง และอาจกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล อย่างช่วยไม่ได้อีกหน

ทอดตาไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดูเหมือนจะเงียบๆ เรียบๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ไม่เคยขาดสีสัน ดู โรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างก็ได้

และในปีระกานี้ อาจเป็นปีชี้ชะตาการเมืองในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งไทยและมาเลเซียว่าจะคลี่คลายขยายตัวไปในทิศทางใดอีกด้วย