ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ตลก?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ปราชญ์อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนบทความเรื่อง ความล้ำลึกของ “น้ำเน่า” ในหนังไทย เอาไว้นานนับสามสิบปีแล้วว่า ธรรมชาติในวัฒนธรรมการแสดงของไทยแตกต่างไปจากการแสดงที่ยึดเอามาตรฐานจากปรัชญาการแสดงอย่างฝรั่ง

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ อ.นิธิ นำเสนอ และผมอยากจะชวนให้ช่วยกันพิจารณาก็คือ “โลก” ที่การแสดงนั้นสร้างขึ้น

จุดหมายสำคัญของการแสดงในโลกตะวันตกนั้นคือ การสร้าง “โลก” อีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคนดู

เป็นโลกที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มีชีวิตเป็นของตนเอง ตัวละครในโลกของการแสดงนี้จึงไม่จำเป็นต้องแคร์อะไรกับความรู้สึก “อิน” ของคนดูอย่างใดเลย

จูเลียตและโรมิโอจะกลืนยาพิษตายตามกันในตอนสรุปท้ายของเรื่องราว จนทำให้คนดูน้ำตาคลอเบ้าด้วยความอาลัยอาวรณ์ถึงความซึ้งซาบในรักระหว่างคนทั้งคู่ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ทั้งจูเลียตหรือโรมิโอจะต้องคำนึงถึง

เพราะโลกของเขาและเธอเป็นคนละโลกกันกับโลกของผู้ชมทางเบื้องล่าง “ชีวิต” อื่นๆ ที่เขาและเธอต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมคือชีวิตที่โลดแล่นอยู่บนเวที ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือมิตรสหายของทั้งโรมิโอและจูเลียตต่างหาก

มารยาทในการชมการแสดงของตะวันตก ผู้ชมจึงพยายาม “ซ่อน” การมีอยู่ของตนเองไว้ ด้วยการไม่ส่งเสียงดัง ไม่ลุกขึ้นเดินไปนู่นมานี่ระหว่างการแสดง หรือรับประทานอาหารขบเคี้ยว รวมไปจนถึงเครื่องดื่ม ฯลฯ เพื่อไม่ให้การมีอยู่ของตนเองเข้าไปแทรกแซง “โลกสมมติ” บนเวที

เรียกได้ว่าวัฒนธรรมการแสดงแบบตะวันตกไม่ยอมรับการมีอยู่ของผู้ชมเลย

ต่างกันแบบขั้วตรงข้ามกับธรรมชาติของการแสดงในวัฒนธรรมไทย ที่คนดูเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการแสดง

และกล่าวได้ว่าคนดูเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเลยทีเดียว

บางครั้งคนดูอาจเป็นผู้กำหนดเองเสียด้วยซ้ำว่า พระเอกควรจะออกมาหน้าฉากได้หรือยัง

เพราะถ้าออกช้านักคนดูก็อาจจะปาข้าวของขึ้นไปบนเวทีได้

คนดูยังเป็นผู้ส่งเสียงดังคอยเชียร์พระเอกนางเอกไปพร้อมๆ กันกับที่แช่งชักหักกระดูกผู้ร้าย ต่างไปจากการนั่งเงียบๆ ในเงามืดติดตามโลกที่ดำเนินอยู่บนเวทีของฝรั่งอย่างชัดเจน

แต่การกระทำเหล่านี้ของคนดู ในธรรมชาติการแสดงแบบไทยกลับไม่ได้ไปรบกวนหรือขัดขวางการแสดงบนเวทีเลย

ผู้แสดงบนเวทีเสียอีกที่สามารถที่สามารถดึงคนดูเข้าไปมีส่วนร่วมบนเวทีได้

พระเอกลิเกอย่าง คุณไชยา มิตรชัย สามารถออดอ้อนแม่ยกให้มาหอมแก้มเขาซักฟอดใหญ่ๆ กับพวงมาลัยงามๆ อีกหลายพวงได้ในขณะที่การแสดงนั้นยังดำเนินอยู่

เนื้อเรื่องก็ยังคงดำเนินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่มีติดขัด ท่ามกลางการสลับปรับเปลี่ยนไปมาระหว่าง “โลก” ที่การแสดงสร้างขึ้น และ “โลก” ที่เป็นจริงซึ่งผู้ชมกำลังนั่งดูการแสดงนั้นอยู่

“เวที” ของการแสดงแบบไทยจึงไม่ได้จำกัดอยู่แคบๆ แบบฝรั่ง แต่หมายรวมถึงทั้งหมดที่ปรากฏอยู่แก่สายตาของผู้แสดงและผู้ชม หรืออาจจะหมายรวมถึงทั้งหมดที่ปรากฏอยู่แก่ความรู้ของผู้ชมก็ได้ การทำท่านผู้นำให้เป็นตัวตลก แม้กระทั่งในการแสดงเรื่องราวจากวรรณคดีอย่าง รามเกียรติ์ จึงไม่ใช่เป็นการแสดงความหยาบคายของศิลปะการแสดง แต่เป็นส่วนที่จำเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการแสดงแบบไทย

เจ้าของคอลัมน์หน้าข้างๆ ผมอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กรุณาเล่าให้ฟังอยู่หลายหนว่า คุณเสรี หวังในธรรม ผู้ล่วงลับ เป็นคนติดตามข่าวสารบ้านเมือง และชมชอบการอ่านหนังสือ จึงไม่แปลกอะไรที่พ่อเสรีท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน

รามเกียรติ์ที่มีพ่อเสรีเป็นคนพากย์ หรือแสดงเองด้วยนั้น จึงมีสถานการณ์บ้านเมืองที่ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์สอดแทรกอยู่เต็มไปหมด

ที่สำคัญคือโทนเสียงที่เล่านั้นออกไปทางตลกเสียดสีด้วยสิครับ

(แน่นอนเพราะพ่อเสรีท่านไม่ได้แสดงเป็น พระราม หนุมาน ทศกัณฐ์ หรือแม้กระทั่งนางสีดาอยู่แล้ว สมัยที่ผมยังทันเห็นพ่อเสรีแสดงเผยแพร่ทางโทรทัศน์ท่านเล่น พระฤๅษี ที่มีบทบาททำนอง สร้างเสียงหัวเราะขำขันเสียเป็นส่วนใหญ่)

ในบทความเรื่องเดียวกันของ อ.นิธิ ที่อ้างถึงตั้งแต่ย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ ได้อ้างว่า “ตัวตลก” ในการแสดงแบบไทยประเพณี มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง (ซึ่งขัดกับกฎเกณฑ์แบบฝรั่งอีกเช่นเคย) คือการทำลายล้างความเป็นจริงบนเวที และเตือนให้ผู้ชมสำนึกถึงความจริงในระดับอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่บนเวทีไปพร้อมๆ กัน

อ.นิธิ ให้ความเห็นต่อไปว่า เป็นเพราะว่าบนเวที “ตัวตลก” ทำหน้าที่ “สนทนา” กับผู้ชมทางด้านล่างได้สะดวกที่สุด เพราะการกระทำของเขาจะไม่มีผลกระทบต่อท้องเรื่องอย่างหนึ่งอย่างใด เขาจึงเป็นผู้มีอิสระมากที่สุดในการสื่อสารกับคนดู และด้วยอิสรภาพที่มากมายของเขานี่เอง ตัวตลกจึงสามารถทำหน้าที่แทนคนดูในการวิพากษ์วิจารณ์ (หรือชี้นำ?) ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่อง เขาสามารถนำความรักอันน่าเวทนาของนางเอกมาวิจารณ์จนเป็นเรื่องขำขัน เช่นเดียวกับที่พูดถึง “เครื่องบิน” ในการรบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ได้โดยไม่มีอะไรต้องเคอะเขิน

ในกรณีนี้ “ตัวตลก” จึงเป็น “พระเจ้า” ที่คอยผันแปรโลกของความจริงหลายๆ ระดับ (ทั้งความจริงในท้องเรื่อง ความจริงที่ว่าผู้ชมกำลังชมการแสดงอยู่ และความจริงที่ดำเนินอยู่ของโลก) ให้แก่ผู้ชมอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวสมมติเดี๋ยวจริงสับสนจนมึนชาไปมาระหว่างความจริงและสมมติ

ควรทราบด้วยว่าในวัฒนธรรมชวา (ที่มีพัฒนาการเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการแสดงของเขมรและไทย สังเกตได้จากชื่อเรียก เลกอง (ชวา), ละโคนพระกรุณา (เขมร) เป็นคำเดียวกับ โขน หรือละคร ของไทย) “ตัวตลก” ในหนังชวาคืออวตารของ “พระเจ้า” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งตัวตลกก็คือพระเจ้านั่นเอง

ตัวตลก มักเป็นคนรับใช้ของตัวละครเอก อาจจะตัดออกไปจากหนังเสียเลยก็ได้ เพราะตัวตลกนั้นแทบจะไม่เคยทำอะไรที่ส่งผลต่อท้องเรื่อง

เรายังเห็นภาพเช่นนี้อยู่เมื่อการแสดงถูกย้ายวิกเข้าไปไว้จอแก้ว คนรับใช้เหล่านี้ยังทำหน้าที่นินทานายอย่างที่ใจผู้ชมคิด แม้ว่าจะไม่ได้อยู่บนเวทีอีกแล้วก็ตามที

ละครและภาพยนตร์ไทยยังมีขนบที่จะพยายามไม่ตัดขาดจากคนดู แม้ว่าการสนทนาสองทางทั้งจากฝั่งผู้แสดงและผู้ชมจะทำไม่ได้อีกแล้วเหมือนการแสดงสดบนเวที โดยรักษาการสนทนาไว้ทางเดียว ตัวตลกยังพูดกับคนดูด้วยวิธีการต่างๆ

พวกเขาค่อนขอดสังคม ล้อเลียนแฟชั่น หรือสั่งสอนศีลธรรมโดยไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับท้องเรื่องเลย

ยุคสมัยหนึ่ง นักพากย์หนัง คือศิลปินที่สำคัญยิ่งในศิลปะหนังไทย เพราะทำให้การสนทนาระหว่างตัวละครในหนังกับผู้ชม สดและใหม่ ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ แต่นักวิจารณ์ที่เคยชินอยู่กับศิลปะการแสดงตะวันตกนั้นเห็นว่า การพากย์ขวางกั้นการแสดงของตัวผู้แสดง และทำให้ไม่สมจริง

ถ้ายังนึกภาพตามไม่ออกขอให้ไปหาภาพยนตร์ที่พากย์โดยทีมพากย์ชื่อดังอย่าง พันธมิตร มาลองดูนะครับ

หลายครั้งนักพากย์หนังก็ทำงานคล้ายกับพระเจ้า โดยเฉพาะนักพากย์ที่ตลกขบขัน และดึงเรื่องราวให้แปรผันอยู่ระหว่างความจริงหลายระดับเช่นเดียวกับตัวตลก

ในกรณีนี้จะเห็นได้ “พระเจ้า” ซึ่งมักปรากฏกายในรูปของ “ตัวตลก” เป็นผู้ “สนทนา” กับคนดูมากกว่าตัวละครทุกตัว เขาคือคนที่ใช้ปฏิภาณในการแสดงเพราะไม่มีบทตายตัว (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมจึงมีข่าวลือว่า ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องไม่มีสคริปต์) เขาเป็นคนคอยบอกผู้ชมว่าหนังก็คือหนังและชีวิตก็คือชีวิต แต่แล้วก็ผกผันให้คนดูงุนงงว่าหนังก็คือชีวิตและชีวิตก็คือหนัง เขาพินอบพิเทากับผู้เป็นนายต่อหน้าเพราะนั่นคือความเป็นจริงในหนัง แต่ลับหลังกลับล้อเลียนเพราะนั่นคือชีวิตจริง

“ตัวตลก” เป็น “พระเจ้า” ในหนังไทยอย่างที่ “ฤๅษี” ซึ่งเป็น “เทวาจารย์” ของนาฏกรรมไทยอาจเป็นตัวตลกบนเทวีการแสดง แต่เป็นสิ่งกราบไหว้นอกเวที (จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเราจึงห็น พ่อเสรี ในมาดพระฤๅษีอยู่บ่อยๆ)

และก็ไม่น่าแปลกอะไรเรื่องที่ถูกนำมาทำให้ตลกมักจะไม่ค่อยตลก เพราะความจริงมักจะเป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก และเอาเข้าจริงแล้วคนดูก็ขำเฉพาะในโลกสมมติ แต่ไม่ขำในโลกของความเป็นจริงเสียหน่อย