เศรษฐกิจ / ชิงพื้นที่ ‘ดิวตี้ฟรีภูมิภาค’ คุกรุ่น 3 บิ๊กขึ้นสังเวียน…เทหมดหน้าตัก

เศรษฐกิจ

 

ชิงพื้นที่ ‘ดิวตี้ฟรีภูมิภาค’ คุกรุ่น

3 บิ๊กขึ้นสังเวียน…เทหมดหน้าตัก

 

ใครจะได้รับสิทธิการประกอบกิจการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและติดตามอย่างต่อเนื่อง หลังจากการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลออกมาเป็นที่เรียบร้อย ที่ได้ผู้ชนะคือ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด

ซึ่งก็ยังเหลืออีกสัญญาสิทธิการประกอบกิจการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) จะถูกเปลี่ยนมือหรือไม่!! กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังยืนยันการประมูลดิวตี้ฟรีภูมิภาค ใช้รูปแบบเกณฑ์การให้คะแนนแบบเดียวกับการประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ โดยมีพื้นฐานคะแนน 100 คะแนนเต็ม แบ่งเป็นคะแนนด้านเทคนิค 80% และด้านราคาผลตอบแทน 20%

โดย ทอท.เปิดให้มีการยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา และกำหนดเปิดข้อเสนอด้านผลตอบแทนในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เนื่องจากต้องการสรุปผลการประมูลทุกโครงการให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอเข้าบอร์ดเห็นชอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2562

และลงนามสัญญาพร้อมโครงการดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เพื่อเร่งพัฒนาโครงการไปพร้อมกัน

 

เดิมนั้นในการประมูลดิวตี้ฟรีรายภูมิภาค คาดว่าจะมีกลุ่มยื่นประมูล 4 ราย คือ

  1. บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
  2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนถือหุ้น 49% บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด สัดส่วนถือหุ้น 49% และบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วนถือหุ้น 2%
  3. บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สัดส่วนถือหุ้น 36% บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด สัดส่วนถือหุ้น 15% และ WDFG UK LIMITED สัดส่วนถือหุ้น 49%

และ 4. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมลงทุน (Consortium) ประกอบด้วย บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด

แต่สุดท้ายบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล ไม่ประสงค์ยื่นประมูลดังกล่าว

 

ทุกครั้งของการประมูลโครงการต่างๆ ต่างคาดหวังจะเห็นความแตกต่างจากเดิมๆ โดยเฉพาะประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับ ในโครงการนี้ก็เช่นกัน

อย่าง “วรวุฒิ อุ่นใจ” นายกสมาคมค้าปลีกไทย แสดงความเห็นว่า “ถ้าเกิดสัมปทานแบ่งตามกลุ่มสินค้าจะให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน ถ้ากลุ่มน้ำหอมอาจจะให้ผลตอบแทนรัฐ 50% เพราะกำไรดี แต่พอเป็นธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจจะให้ผลตอบแทนรัฐ 20-25% อันนี้พอเข้าใจได้ เพราะกำไรอาจจะไม่เท่าน้ำหอม แต่พอเหมารวมให้ผู้ประกอบการรายเดียว เขาจะเอาผลตอบแทนที่ต่ำสุดเสนอให้ทางรัฐ เพราะมันต้องเฉลี่ยกัน ทีนี้รัฐก็เสียผลประโยชน์”

จึงทำให้สมาคมค้าปลีกเสนอให้พิจารณาเรื่องแบ่งสัมปทานตามกลุ่มสินค้า บนเหตุผลที่ว่า รัฐได้ผลประโยชน์ ได้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เกิดการแข่งขัน

ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้วิเคราะห์ว่า การประมูลดิวตี้ฟรีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท รวมถึงมีความเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของประเทศ โดยทีดีอาร์ไอมองว่าการประมูลดิวตี้ฟรี ถ้าจะให้ดี ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์จากการที่นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายซื้อของในไทยมากขึ้น รวมถึงคำนึงถึงผลประโยชน์ภาครัฐ เม็ดเงินที่จะเข้ารัฐต้องมีความสมน้ำสมเนื้อ เพื่อลดการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน

ทั้งระบุว่า การประมูลดิวตี้ฟรีควรเป็นอย่างให้เกิดการแข่งขันที่หลากหลาย เพราะธุรกิจท่าอากาศยาน หากขาดรายได้จากธุรกิจที่ไม่ได้เกิดจากการบิน ต้องมีการเสริมด้วยธุรกิจอื่น เช่น การเช่าพื้นที่ทำร้านอาหารหรือดิวตี้ฟรี ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รายได้ในส่วนนี้เพียง 17% จากรายได้ทั้งหมดของ ทอท. ซึ่งน้อยกว่าต่างประเทศที่มีการแยกประเภทสัมปทานเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อกระตุ้นการซื้อของนักท่องเที่ยว

 

เรื่องนี้ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ ออกมาระบุอีกว่า การประมูลดิวตี้ฟรีในไทย ควรยึดตัวอย่างสนามบินดีๆ ของต่างประเทศ หรือการประมูลโดยแบ่งตามพื้นที่และแบ่งตามประเภทสินค้า เช่น เกาหลีใต้ มีการแบ่งสัมปทานตามความเชี่ยวชาญ ที่ส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าหากประเทศไทยใช้หลักการประมูลแบบต่างประเทศ จะทำให้มีรายได้จากการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 2.6 แสนล้านบาทต่อปี โดย ทอท.จะได้รับรายได้เพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

ปรากฏการณ์ของการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ โดยเฉพาะการชิงพื้นที่ดูแลใน 3 สนามบินภูมิภาค แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จตามนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรอง ไม่ได้เจาะจงเมืองใหญ่เท่านั้น ทำให้เกิดจำนวนนักท่องเที่ยวบินตรงและกระจายเข้าเมืองรองโดยผ่านสนามบินภูมิภาคมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และสะท้อนจากการที่มีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก เข้าชิงพื้นที่บริหารดิวตี้ฟรีภูมิภาคแม้มีขนาด 2,000 ตารางเมตร!! เพราะยังเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงสานต่อการกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรองต่อไป

ผนวกกับการยื่นข้อเสนอแบ่งสัดส่วนรายได้ต่อ ทอท.สูงขึ้น ตั้งต้นตั้งแต่อัตราไม่ต่ำกว่า 20% ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญา ก็ต้องลุ้นว่าพื้นที่ภูมิภาคเมื่อใช้เกณฑ์ตัดสินเดียวกันแล้ว จะได้ผลตอบแทนที่เหมือนกันหรือไม่!!!

เชื่อว่า 3 รายใหญ่ต้องทุ่มหมดหน้าตักยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าคู่แข่ง เพื่อให้ถูกใจ ทอท.

    และไม่ว่าใครจะคว้าชัยชนะประมูลและได้ครองสัมปทานพื้นที่ จากเสียงสะท้อนข้างต้นเชื่อได้ว่าจากนี้ไป จะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในการเดินช้อปปิ้งในพื้นที่ดิวตี้ฟรีแน่นอน