วิรัตน์ แสงทองคำ : ทิศทางและบทสรุป (2) ธนาคารไทย ไปทางไหน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ถือโอกาสสรุปประเด็นสำคัญๆ ด้วยซีรี่ส์เพียง 2-3 ตอน

ธนาคารไทย เผชิญความท้าทายมากขึ้น ตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ดูเป็นเพียงปกป้องตนเอง มากกว่าจะรุกไปข้างหน้า

เรื่องราวตอนนี้ อ้างอิงและอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากบทความชุด โฉมหน้าธนาคารไทย ว่าด้วยพัฒนาการสำคัญธนาคารไทย ข้อเขียนชุดใหญ่ (ประมาณ 50 ตอน) นำเสนอมาเกือบ 2 ปีแล้ว (มติชนสุดสัปดาห์ กลางปี 2557 จนถึงกลางปี 2558) ซึ่งได้เวลา update เสียที


โครงสร้างเดิมพังทลาย

“โครงสร้างธุรกิจธนาคารในประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ภาพสะท้อนของการพังทลายของปราการอันเข้มแข็งของใจกลางธุรกิจไทยที่ดำรงอยู่มาอย่างน้อยสามทศวรรษ”

ผมเคยเสนอภาพหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 ไว้นั้น โดยแบ่งกลุ่มธนาคารเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก-มีเพียงธนาคาร 3 แห่ง ที่เหลืออยู่ (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) ในฐานะธนาคารดั้งเดิมที่ก่อตั้งก่อนปี 2500 มีความต่อเนื่องของโครงสร้างการบริหาร แม้ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

กลุ่มที่สอง-ธนาคารซึ่งเกิดขึ้นช่วงเดียวกับธนาคารกลุ่มแรก ผ่านปรับโครงสร้างหลายครั้ง มีการรวมกิจการกับธนาคารอื่นโดยเฉพาะของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย บางธนาคารมีหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย

กลุ่มที่สาม-ธนาคารเกิดใหม่ในปี 2547 ได้แก่ ธนาคารสินเอเชีย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และธนาคารไทยเครดิต บางรายมีพันธมิตรกับเครือข่ายธนาคารระดับโลก ขณะที่บางรายกลายเป็นธนาคารกลุ่มที่สี่

และกลุ่มที่สี่-ธนาคารพาณิชย์ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารต่างชาติ ประกอบด้วย กรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารยูโอบี จำกัด ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

หลังจากธนาคารระบบครอบครัวไทยพังทลายลง ระบบธนาคารไทยจำเป็นต้องเปิดช่องให้ธนาคารต่างชาติเข้ามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ถือเป็นช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย


สร้างเครือข่ายภูมิภาค

อ้างอิงเฉพาะธนาคารใหญ่ (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งสามารถคงอยู่ พลิกฟื้น ปรับตัวได้จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ภาพนั้นชัดเจนจากรายงานผลประกอบการตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเผชิญความท้าทายใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภูมิภาค ว่าด้วยความสัมพันธ์ระบบเศรษฐกิจไทยกับ AEC ซึ่งเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่กำลังผ่านพ้น

ธนาคารกรุงเทพได้สร้างเครือข่ายธนาคารภูมิภาคเต็มรูปแบบอย่างเป็นจริงจังก่อนธนาคารไทยอื่น (ธนาคารกรุงเทพประเทศจีนในปี 2552 และ Bangkok Bank Berhad มาเลเซีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ 2537 ขยายสาขาอีกครั้งในปี 2553) เชื่อกันว่ามาจากสายสัมพันธ์ภูมิภาคสร้างขึ้นมากว่าครึ่งศตวรรษ

ข้อมูลล่าสุด (Bangkok Bank Investor Presentation for 3Q16 พฤศจิกายน 2559) ซึ่งให้ความสำคัญโอกาสทางธุรกิจจากเครือข่ายหัวเมือง ชายแดน และระดับภูมิภาค (Opportunities from Regionalization & Urbanization) ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายภูมิภาคดำเนินไประบุว่าธนาคารกรุงเทพประเทศจีนมี 6 สาขา Bangkok Bank Berhad มาเลเซียมี 5 สาขา พร้อมมีสาขาในพื้นที่ใหม่ๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ที่เมียนมา และ Cayman Island

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อมาระยะหนึ่งแล้ว ธนาคารซึ่งก่อตั้งโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่มาปักหลักแผ่นดินสยามตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งหนึ่ง แต่เป็นธนาคารไทยแห่งเดียวเติบโตอย่างโดดเด่นโดยอ้างอิงกับสายสัมพันธ์โลกตะวันตก ต่อเนื่องจากยุคอาณานิคม สู่สงครามเวียดนาม จำต้องปรับเปลี่ยนความคิดและแนวทางอย่างมากในปัจจุบัน ดูเป็นความขัดแย้งในตัวเองพอสมควร

ก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 ธนาคารกสิกรไทยเปิดสำนักงานตัวแทนในจีนแผ่นดินใหญ่-เซินเจิ้น (2537) เซี่ยงไฮ้ (2538) ปักกิ่ง (2538) คุนหมิง (2538) และยกระดับสำนักงานตัวแทนเซินเจิ้นเป็นสาขา (2539) หลังวิกฤตตั้งแต่ปี 2546 คือจุดเริ่มต้นยุทธศาสตร์สร้างสายสัมพันธ์ใหม่ที่จริงจัง ความพยายามไปสู่เป้าหมายธนาคารท้องถิ่นประเทศจีน (LII : Locally Incorporated Institution) ผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งเข้าใกล้เป้าหมายหลัก

เอกสารนำเสนอล่าสุด (KASIKORNBANK Investor Presentation as of 3Q16 October 2016) ยังคงมุ่งมั่นในเป้าหมายใหญ่ต่อไป ด้วยการนำเสนอแผนการอย่างยืดหยุ่นและจริงจัง (Strategically focusing on AEC+3 markets, KBank pursues an integrated regional operating model) ทั้งเครือข่ายสาขา-สำนักงานตัวแทน (physical footprint) digital platform และความสัมพันธ์กับพันธมิตร (regional partnerships)

ในช่วงใกล้ๆ ธนาคารกสิกรไทยมุ่งขยายเครือข่ายสาขา-สำนักงานตัวแทนภูมิภาคอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในปี 2556 เปิดสาขาในจีนเพิ่มเติม ที่เฉิงตู และสาขาย่อยที่หลงกั่ง จดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในลาวซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นแห่งแรกจากไทย และเปิดสำนักงานผู้แทนที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ในเวียดนาม และพนมเปญ ในกัมพูชา

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ความจริงแล้ว มีเครือข่ายในภูมิภาคอย่างมั่นคงที่สำคัญใน 2 ประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ตอบสนองสถานการณ์ใหม่ในภูมิภาคหลังสงครามเวียดนาม-ในยุค “แปรสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า”

ทว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ได้แสดงยุทธศาสตร์ภูมิภาคอย่างจริงจัง มีเพียงความเคลื่อนไหวบางระดับ กรณีเปิดสำนักงานผู้แทน ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา (ปี 2555) และเปิดสำนักงานผู้แทน ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2556) ข้อมูลล่าสุด (SIAM COMMERCIAL BANK PCL. 3Q16 Financial Results Analyst Meeting Presentation November 1st, 2016)

มีมุมมองที่แตกต่างจากธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย โดยไม่มีการนำเสนอแผนการดังกล่าว เท่าที่สำรวจ (http://www.scb.co.th/) เครือข่ายภูมิภาคยังคงอยู่แค่นั้น

อย่างไรก็ดี โดยเปรียบเทียบภาพความเคลื่อนไหวกับธนาคารในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะธนาคารแห่งสิงคโปร์ และมาเลเซีย ถือว่าธนาคารไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างเฉื่อยเนือย

FinTech

จากติดตามความเคลื่อนไหวธนาคารใหญ่เช่นกัน ประเมินว่าระบบธนาคารดั้งเดิม กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ซึ่งมาเร็วและรุนแรง ด้วยปรากฏกาณ์ใหม่ FinTech (Financial Technology) บริการทางการเงินใหม่ เริ่มต้นโดยคู่แข่งหน้าใหม่ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บนเครื่องมือ (โดยเฉพาะผ่านโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ) ซี่งถือว่ามีความเป็นปัจเจก และสะดวกสบาย (เชื่ออีกว่า ปลอดภัย) มากกว่าเดิม สามารถตอบสนองและเข้ากับวิถีชีวิตผู้คนซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างกลมกลืนมากขึ้น

ข้อมูลนำเสนอธนาคารกรุงเทพ (อ้างแล้วข้างต้น) เป็นเพียงธนาคารใหญ่แห่งเดียวไม่นำเสนอ FinTech โดยตรง แต่เสนอภาพแนวโน้มโลกดิจิตอล (Digitalization Trend) ในสังคมไทย โดยกล่าวถึงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทะลุ 38 ล้านคน (2558) คนไทยใช้งานโทรศัพท์มือถือถึงวันละ 6.2 ชั่วโมง (2559) และซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์มากถึง 362 ล้านครั้งต่อปี (2558)

หลังจากเฝ้ามองมาระยะหนึ่ง ธนาคารดั้งเดิมเชื่อมั่นว่า บริการใหม่ คู่แข่งใหม่ดังกล่าว ได้นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับระบบธนาคารดั้งเดิม การปรับตัวเพียงบางระดับ ธนาคารดั้งเดิมจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายใหม่ และพัฒนาไปข้างหน้า

โดยเฉพาะธนคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นคู่แข่งสำคัญ ในความพยายามก้าวสู่ธนาคารทันสมัยอย่างต่อเนื่องกันมา ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ปลายเดือนเมษายน (2559) ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group : KBTG) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งทาง FinTech และ Tech Startup

“วันนี้เราพยายามเดินไปในทิศทางที่เป็นอนาคต โลกของการเงิน อนาคตของวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย KBTG รวมบริษัทต่างๆ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อคิดหาอะไรที่วันนี้ยังไม่เกิด หาให้ได้ก่อนที่จะอุ้ยอ้ายเกินไปและทำงานไม่ได้” บัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำธนาคารกสิกรไทย กล่าวไว้ในงานเปิดตัว

ไม่กี่เดือนจากนั้น (กรกฎาคม 2559) ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงข่าวเปิดตัว บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) “ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ที่มีความสามารถให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มความพร้อมด้วยการลงทุนในบริษัท startup ระดับโลก” (บางส่วนของถ้อยแถลงข่าว http://www.scb.co.th/)

ทั้งสองธนาคารนำเสนอภาพยุทธศาสตร์ว่าด้วย FinTech ในข้อมูลนำเสนอ (presentation) ที่อ้างมาแล้วข้างต้นอย่างน่าสนใจ (หากสนใจรายละเอียดโปรดเข้าชม website ของธนาคาร ส่วน “นักลงทุนสัมพันธ์”)

แม้ว่าธนาคารกรุงเทพจะไม่ได้นำเสนอแผนการต่อนักลงทุน (อ้างแล้ว) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงแค่นั้น ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ FinTech ได้เดินตามธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์อย่างกระชั้นชิด ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพประกาศจับมือเข้าร่วมกับ R3 Consortium ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้าน FinTech ที่มีสถาบันการเงินชั้นนำของโลกกว่า 55 แห่งเป็นสมาชิก

เรื่องราวเกี่ยวกับ FinTech กับระบบธนาคารไทยดั้งเดิม คงต้องติดตามต่อไป เชื่อว่าภาพนั้นจะชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย มีความพร้อมมากกว่านี้