แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่น่าสนใจของ ‘วิกฤติประชาธิปไตย’

วิกฤติประชาธิปไตย (จบ)

แนวโน้มและความเป็นไปได้ที่น่าสนใจของวิกฤติประชาธิปไตย

วิกฤติประชาธิปไตยครั้งนี้เป็นผลจากวิกฤติระเบียบโลกที่ควบคุมกำกับโดยบรรษัทในตะวันตก วิกฤติระเบียบโลกนี้เกิดขึ้นทั้งในด้านความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ-การเมือง-การทหาร-สังคมอย่างทั่วด้านในโลกตะวันตก และการเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ มีจีน รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น

ในขณะเดียวกันวิกฤติประชาธิปไตยมีส่วนเร่งความรุนแรงวิกฤติระเบียบโลก เกิดการปะทะกันทั้งภายในและระหว่างประเทศ เหมือนโลกจะแตกเป็นเสี่ยง

ตอนนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่น่าสนใจของวิกฤติประชาธิปไตยใน 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

ก) โลกาภิวัตน์ที่แตกร้าว

ข) การปรับขบวนแถวในศูนย์อำนาจโลก

ค) โอกาสและการท้าทายสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่

และ ง) การผุพังทางความจริงกับวัฒนธรรมใหม่

โลกาภิวัตน์ที่แตกร้าว

โลกาภิวัตน์เป็นขั้นสูงสุดของระบบทุนนิยม มีลักษณะเด่นคือการไหลเวียนอย่างเสรีของทุนโลก การแข่งขันสุดขีดระหว่างกลุ่มทุนและทุนกับแรงงาน เพื่อความมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมในการผลิต ในการสร้างกำไรและการครอบงำตลาด มีการรวมศูนย์และกระจุกตัวของทุนในหมู่เศรษฐีจำนวนน้อยและบรรษัทไม่กี่ร้อยแห่ง

การยึดมั่นตลาดเป็นใหญ่มีอิทธิพลเหนือรัฐ เกิดองค์กรข้ามชาติ เช่น ไอเอ็มเอฟ สหภาพยุโรป และข้อตกลงทางการค้าจำนวนมาก ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี ทำให้อิทธิพลของรัฐลดลง ระบบทุนนิยมโดยเฉพาะทุนการเงินมีอำนาจเหนือรัฐและสังคมมีการแปรหนี้เป็นทุน ประชาธิปไตยแสดงออกที่การลงคะแนนซื้อสินค้าของผู้บริโภค แต่โลกาภิวัตน์ต้องเผชิญวิกฤติปัญหาหลายด้านพร้อมกัน ได้แก่

ทางเศรษฐกิจ เกิดวิกฤติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ระหว่างปี 1997-2007 เกิดวิกฤติใหญ่ทั้งในประเทศตลาดเกิดใหม่และศูนย์กลางการเงินโลกถึงสามครั้ง ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดการแข่งขันชิงอำนาจครองความเป็นใหญ่ในหมู่ประเทศมหาอำนาจรุนแรง ประเทศโลกที่สามและตลาดเกิดใหม่ได้รวมตัวเพื่อความเป็นอิสระ

ทางการเมือง ภายในประเทศเกิดความแตกแยกความคิดนโยบายชนชั้นกลางและชาวรากหญ้าที่มีชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ลง ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์ของตน

ทางด้านสังคม-สิ่งแวดล้อม เกิดช่องว่างขยายตัว มาตรฐานการครองชีพต่ำลง อายุคาดหมายเฉลี่ยในสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากลดลง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดมลพิษทางอากาศตามเมืองใหญ่ต่างๆ (ดูบทความของ John Bellamy Foster ชื่อ Absolute Capitalism ใน monthlyreview.org 01.05.2019 ประกอบ)

วิกฤติปัญหาที่รุมเร้าดังกล่าว ทำให้โลกาภิวัตน์ที่ก้าวสู่ขั้นสูงสุดไม่อาจดำรงสถานะความซับซ้อนเหมือนเดิมได้อีกต่อไป แสดงอาการเสื่อมถอยเพื่อให้ระบบซับซ้อนน้อยลง แสดงออกสำคัญในประเทศพัฒนาแล้วเกิดกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ลัทธิพาณิชยนิยม คล้ายย้อนไปสู่ทุนนิยมขั้นแรก พยายามฟื้นฐานอุตสาหกรรมของตนขึ้นใหม่ กีดกันทางการค้าและการลงทุนรวมทั้งสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีสูง สนับสนุนให้ทุนของตนมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ทั้งหมดเพื่อรักษาสถานะความเป็นมหาอำนาจพิเศษของตนไว้ในทางสังคมวัฒนธรรม มีการฟื้นฟูค่านิยมเดิม ทางครอบครัว ศาสนา เชื้อชาติ ต่อต้านผู้อพยพ เป็นต้น

พบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกได้ลดลง หลังจากขึ้นสู่สูงสุดในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามการค้า

การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษและจีนควบคุมการไหลออกของเงินทุนโดยมีมูลค่า 1.92 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจีดีพีโลก แต่ในปี 2018 ลดเหลือ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของจีดีพีโลก ลดลงถึงร้อยละ 43 จากจุดสูงสุดในปี 2015

การลงทุนโดยตรงของจีนในสหรัฐลดลงเหลือ 4.8 พันล้านในปี 2018 จาก 46 พันล้านในปี 2016 เท่ากับลดลงถึงร้อยละ 90

(ดูบทความของ Don Quijones ชื่อ Global Foreign Direct Investment Flows Collapse ใน wolfstreet.com 02.05.2019)

 

การปรับขบวนแถวในศูนย์อำนาจโลก

การปรับขบวนแถวในศูนย์อำนาจโลกมีพลังขับเคลื่อนใหญ่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ชนชั้นนำในสหรัฐ ชนชั้นนำในยุโรปและญี่ปุ่น และพลเมืองชาวรากหญ้าในประเทศเหล่านี้ ทั้งสามส่วนล้วนมีความแตกแยกเนื่องจากโลกาภิวัตน์เป็นพิษ

สหรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่ ทรัพยากรและประชากรมาก ต้องการปรับขบวนแถวตะวันตกใหม่ เพื่อให้ตนเองเป็นศูนย์การนำขั้วเดียวอย่างชัดเจน

โดยเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะทำให้ตะวันตกอยู่รอดจากการโอบล้อมและการโจมตีจากสินค้าและแรงงานราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ได้ ชนชั้นนำของยุโรปและญี่ปุ่นโดยทั่วไปเห็นพ้องกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐ มีหลายประเทศในยุโรปเหนือ บริเวณทะเลบอลติกและยุโรปตะวันออกที่หวั่นเกรงอำนาจของรัสเซียได้เข้าพึ่งพิงสหรัฐอย่างออกหน้า

แต่ก็มีชนชั้นนำในหลายประเทศใหญ่ มีเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี เป็นต้น เกิดกระแสการต่อสู้ของชนชั้นรากหญ้า ต้องการให้รัฐบาลของตนดำเนินนโยบายเป็นอิสระ ยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เดินตามสหรัฐ

เพื่อรักษาความเป็นใหญ่และลัทธิอาณานิคมใหม่ไว้ การลุกขึ้นสู้และความแตกแยกทางนโยบายนี้ รุนแรงถึงขั้นที่อาจทำให้สหภาพยุโรปเกิดการล่มสลายรวมทั้งเงินยูโร

ในการปรับขบวนแถวของตะวันตกนี้ ปรากฏสิ่งใหม่ที่น่าสนใจคือ

ญี่ปุ่นที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่และประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศพัฒนาแล้ว ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแบบทางเลือกของยุโรปตะวันตกในหลายเรื่องด้วยกัน

ได้แก่

ญี่ปุ่นสามารถรักษาสมดุลของการเป็นประเทศก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมกับการอนุรักษ์ประเพณีค่านิยมเดิมของท้องถิ่นไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง

มีนโยบายต่อผู้อพยพที่เปิดกว้างตามความจำเป็นและอย่างมีการคัดกรอง ไม่ปล่อยให้ไหลเข้าประเทศเหมือนยุโรป

นอกจากนั้น ผู้นำญี่ปุ่นขณะนี้คือนายชินโสะ อาเบะ มีนโยบายชาตินิยม “ญี่ปุ่นเหนือชาติอื่นใด” ฟื้นฟูความเข้มแข็งทางทหาร

และต้องการสร้าง “ญี่ปุ่นที่สวยงาม” รับกับยุคใหม่ “เรวะ” (เริ่ม 1 พฤษภาคม 2019) ที่หมายถึง “ความงามแห่งการประสานใจ” หรือ “ความงดงามที่สอดประสาน” สามารถเป็นพลังที่ต่อต้านอิทธิพลของจีนได้

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายเน้นการประสานร่วมมือไม่วางตัวเป็นหัวหน้าควบคุมประเทศอื่นเป็นบริวาร แบบที่สหรัฐกระทำต่อยุโรป

โอกาสและการท้าทายสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่

สําหรับประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ การเสื่อมถอยอ่อนแอลงของสหรัฐได้เป็นทั้งโอกาสและการท้าทาย ด้านที่เป็นโอกาส คือประเทศเหล่านี้สามารถสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของตนได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องถูกแทรกแซงเปลี่ยนระบอบได้เหมือนเดิม

เห็นได้จากกรณีสงครามกลางเมืองซีเรีย (2011)

การก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกี (2016)

การก่อรัฐประหารที่จุดไม่ติดในเวเนซุเอลา (2019) ต้องจุดติดใหม่

ประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ ในหลายแห่งหลายภูมิภาค ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ได้แก่

ก) ประชาธิปไตยแบบอิสลาม ซึ่งมีหลายแบบได้แก่ ประชาธิปไตยแบบจัดการในตุรกี

ประชาธิปไตยอิสลามในอิหร่าน ประชาธิปไตยเชิงชาตินิยมในมาเลเซีย

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในลิเบีย ภายใต้การนำของกัดดาฟี

ทั้งหมดเพื่อแสดงว่าศาสนาอิสลามกับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้

ข) ประชาธิปไตยการปฏิวัติโบลิวาร์ในละตินอเมริกา การอุทิศตัว ยอมเสียสละเพื่อสร้างประชาธิปไตยจากการถูกยึดเป็นอาณานิคมทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ มีคำขวัญท่อนแรกว่า “ปิตุภูมิ สังคมนิยม”

ค) “เจตนารมณ์บันดุง 10 ประการ” (1955) ของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย-แอฟริกา รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน สร้าง “วิถีอาเซียน” มีแนวคิดไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศแบบเจตนารมณ์บันดุง สามารถรวม 10 ประเทศที่มีการปกครองหลายแบบผสมกัน ตั้งแต่สังคมนิยม เผด็จการและกึ่งเผด็จการทหาร ราชาธิปไตย ถึงเสรีประชาธิปไตย เชิงศาสนาชาตินิยม ปัจจุบันยังมีการประชุมต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นเจตนารมณ์บันดุงในหลายประเทศเอเชียรวมทั้งจีน

ในด้านที่เป็นการท้าทาย มีสองเรื่องใหญ่คือ

ก) ไม่สามารถใช้การส่งออกสินค้าและแรงงานราคาถูก เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สะดวกเหมือนเดิม เนื่องจากตลาดใหญ่ในสหรัฐ-ตะวันตกเดินนโยบายกีดกันทางการค้าเข้มข้นขึ้น สหรัฐที่เสียเปรียบดุลการค้าเกือบทุกชาติถึงขั้นลงมือทำสงครามการค้าแบบไม่เลือกหน้า

ประเทศตลาดเกิดใหม่มีทางออกสองทาง ทางหนึ่งคือเพิ่มการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นซึ่งจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวรถจักรใหญ่ของเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ อีกทางหนึ่งคือการขยายตลาดภายในประเทศของตนให้ใหญ่ขึ้น

ข) การหายไปของแรงกดดันจากตะวันตก ทำให้ผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้ไม่เห็นความจำเป็นในการเร่งพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เน้นความมั่นคงเป็นหลัก เกิดการชะงักงันในการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ของชาติ

การผุพังของความจริงกับวัฒนธรรมใหม่ในศตวรรษที่ 21 โลกได้มาถึงทางทางแยกใหญ่

ทางหนึ่งได้แก่ สิ่งที่นักวิชาการของบรรษัทแรนด์ สำนักคิดในกองทัพสหรัฐเรียกว่า “การผุพังของความจริง” ชี้ว่าในช่วงเกือบ 20 ปีมานี้ วาทกรรมทางการเมืองและงานพลเรือนในสหรัฐและประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าลักษณะ “การผุพังของความจริง” ที่มีแนวโน้มหรือแรงขับเคลื่อนเกี่ยวเนื่องกัน 4 ประการ ได้แก่

1) มีความไม่ลงรอยกันมากขึ้นในการตีความข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ เช่น ในประเทศไทย ฝ่ายเห็นด้วยกับระบอบ คสช. ตีความอย่างหนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยตีความอีกอย่างหนึ่ง

2) เส้นแบ่งระหว่างความเห็นและข้อเท็จจริงเลือนราง ผู้คนไม่ได้จำแนกหรือไม่สามารถจำแนกสิ่งที่รับรู้ว่าเป็นความเห็นหรือข้อเท็จจริง

3) การเพิ่มขึ้นทางอิทธิพลของทัศนะและประสบการณ์ส่วนบุคคลเหนือข้อเท็จจริง เป็นการเพิ่มทั้งด้านปริมาณและผลกระทบ

4) ความเชื่อถือที่ลดลงต่อแหล่งข่าวสารข้อเท็จจริงที่เคยได้รับความเชื่อถือ เช่น สื่อกระแสหลัก ข่าวสารจากหน่วยงานรัฐบาล แนวโน้มทั้งสี่ดังกล่าวได้ก่อรูปจนกลายเป็นระบบขึ้นในสังคม

สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดแนวโน้มดังกล่าวได้แก่

ก) อคติทางการรับรู้ในสังคมที่มีความซับซ้อนมาก และมีลัทธิต่างๆ แข่งขันกัน

ข) การเปลี่ยนแปลงในระบบข่าวสารรวมทั้งโซเชียลมีเดียและข่าวตลอด 24 ชั่วโมง

ค) การแข่งขันในระบบการศึกษา ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้ด้านสื่อและการคิดวิเคราะห์ลดลง

ง) การแตกขั้วทางสังคมในทุกมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม-ประชากร

ผลของการผุพังของความจริงคือ

ก) การสึกกร่อนของวาทกรรมทางพลเรือน

ข) การเป็นอัมพาตทางการเมือง

ค) การแปลกแยกและการไม่ข้องแวะของบุคคลต่อการเมืองและสถาบันพลเรือน

ง) เกิดความไม่แน่นอนในนโยบายของชาติและความไม่แน่นอนในทุกเรื่องของชาติ

การผุพังของความจริงนี้ได้เคยเกิดขึ้นในอดีต และมีความรุนแรงไม่น้อย แต่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดในสังคมที่มีความซับซ้อน มีการเชื่อมโยงเป็นกระบวนโลกาภิวัตน์

หนทางแก้ไขคือต้องรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคมที่เป็นอยู่ ดำเนินการวิจัยเรื่องการผุพังของความจริงอย่างเข้มข้น (ดูบทสรุปความหนังสือของ Jennifer Kavanagh และเพื่อน ชื่อ Truth Decay : An Initial Exploration of the Diminishing Role of Facts and Analysis in American Public Life ใน rand.org เผยแพร่ครั้งแรกปี 2018)

เห็นได้ว่าการผุพังของความจริงหากไม่มีการเยียวยาแก้ไขจริงจังก็จะยิ่งเสื่อมถอยนำไปสู่ยุคมิคสัญญี เป็นยุคที่ผู้คนต่างเห็นกันและกันเป็นเหยื่อ เข้าประหัตประหารกันด้วยความความโกรธ ความเกลียดชัง และความโลภรุนแรง เป็นหายนะใหญ่ที่ไม่พึงปรารถนา

ทางแยกใหญ่อีกทางหนึ่งได้แก่การสร้างวัฒนธรรมใหม่

วัฒนธรรมใหม่นี้งอกงามดีในประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ “อารยธรรมนิเวศ” เสนอโดยจีน

แต่อารยธรรมนี้จะเป็นจริงได้ต้องมีระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของชนชั้นรากหญ้าอย่างแข็งขัน

จีนยังมีความจำกัดในการให้สิทธิการแสดงออกของพลเมือง จำต้องปฏิรูปและเปิดกว้างต่อไปอีกไม่น้อย

อีกวัฒนธรรมหนึ่งได้แก่ “วัฒนธรรมหลังอาณานิคม” ปลดเปลื้องมนุษย์จากการกดขี่เบียดเบียนกัน ทั้งทางประชาชาติ เชื้อชาติ ศาสนาและเพศภาวะ

วัฒนธรรมใหม่ทั้งสองมีระยะเปลี่ยนผ่านที่ยาวนาน เป็นตัวกรองใหญ่ว่ามนุษย์จะสามารถอยู่อย่างอิสรเสรีได้หรือไม่