ความสามารถอันน่าทึ่ง! ของ “เจ้าเงาะป่า” ใครมาเห็นเป็นอันต้องหลงรัก!

ญาดา อารัมภีร

ศิลปินเอก

“พระสังข์” ที่นางรจนา “เห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน รูปเงาะสวมไว้ให้คนหลง ใครใครไม่เห็นรูปทรง พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา” นั้น

รูปเงาะป่าทำให้รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปราวฟ้ากับเหว จากที่ “งามจริงยิ่งมนุษย์ในใต้หล้า ดูดังเทวดาบนสวรรค์” ทั้งยัง “รูปทรงโสภาดังทาทอง”

กลายเป็นอัปลักษณ์สุดๆ ในสายตาของพ่อตาคือ ท้าวสามล พระบิดานางรจนา ดังที่บทละครนอกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง สังข์ทอง เล่าถึงเจ้าเงาะว่า

“เนื้อตัวเป็นลายคล้ายเสือปลา ไม่กลัวใครใจกล้าดุดัน

ผมหยิกยุ่งเหยิงเหมือนเซิงฟัก หน้าตาตะละยักษ์มักกะสัน”

มักกะสัน คือ ชื่อชาวอินโดนีเซียที่เมืองมาดากัสซาร์ในเกาะเซลีเบส คนไทยโบราณเรียกชื่อ มาดากัสซาร์ เพี้ยนเป็น มักกะสัน และเรียกคนที่มาจากเกาะนี้ว่า แขกมักกะสัน

ลักษณะเด่นคือผิวดำปิ้ดปี๋ตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม

การที่ท้าวสามลเปรียบเปรยเจ้าเงาะว่า หน้าตาเหมือนยักษ์มักกะสัน ทำให้มองเห็นภาพว่าลูกเขยที่พ่อตาเมินมีรูปร่างใหญ่เทอะทะ ผมหยิก ตัวดำ ผิวกายลายพร้อยไม่เกลี้ยงเกลา

เพราะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์เหลือทน คนที่พบเห็นเจ้าเงาะจึงออกอาการชิงชังรังเกียจจนถึงเหยียดหยาม

ดังที่พี่สาวทั้งหกของนางรจนาเยาะหยันน้องสาวที่เลือกเงาะป่าเป็นคู่ครองว่า “เงาะอุบาทว์ชาติชั่ว น่ากลัวหัวหูกระปุ่มกระปิ่ม”

คือมีปุ่มปมมากจากเส้นผมที่ขมวดเข้าหากัน แลดูหยิกหยอยไม่เป็นระเบียบ

นางกำนัลเมืองนี้ปากปลาร้าแค่ไหน ดูได้จากคำนินทาเจ้าเงาะ

“บ้างว่าน่าชังเป็นหนักหนา แลดูหูตาตื่นทะลึ่ง

รูปร่างอัปรีย์ขี้ทึ้ง เหมือนหนึ่งภูตผีที่กลางนา

ลางคนบ่นว่าถ้าเช่นนี้ ฟ้าผี่เถิดไม่นึกปรารถนา

น่ากลัวตัวดำเหมือนคุลา ต่างติเงาะป่าว่าวุ่นไป”

คำว่า “อัปรีย์” และ “ขี้ทึ้ง” มีความหมายทางลบล้วนๆ

เป็นได้ตั้งแต่ ระยำ จัญไร เลวทราม ต่ำช้า ชั่วช้า ไปจนถึง อัปมงคล ไม่นำมาซึ่งความสุขความเจริญหรือความดีงามใดๆ

รัชกาลที่ 2 จึงทรงนำคำว่า “ภูตผี” มาเปรียบเทียบในข้อความว่า “รูปร่างอัปรีย์ขี้ทึ้ง เหมือนหนึ่งภูตผีที่กลางนา” เพื่อเน้นว่าเป็นเช่นนั้น

โดยเฉพาะเนื้อตัวผิวพรรณที่ดำโดดเด่นเทียบได้กับ “คุลา” แขกหรือกลุ่มคนที่มาจากอินเดีย ดังที่ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์อธิบายไว้ว่า “คุลา คือ ชนชาติหนึ่ง ตัวมันดำ ฟันมันขาว คล้ายกับกลาศี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แม้แต่เจ้าเงาะก็ยังล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของตัวเองให้รจนาเมียรักฟังว่า ถ้าอัปลักษณ์นักก็มีวิธีแปลงโฉมให้ดูดีได้

“อย่าเฝ้าติตะบอยไปหน่อยเลย

ถึงหนวดเครารุงรังช่างเป็นไร เอาแหนบถอนเสียได้ดอกน้องเอ๋ย

หัวพริกหยิกยุ่งอย่าเยาะเย้ย ถ้าหวีเสยสอยหย่งแล้วคงงาม

ทำไมกับรูปชั่วตัวดำ จะอาบน้ำขัดสีส้มมะขาม

ละลายดินสอพองสักสองชาม ทาให้งามตลอดเท้าขาวทั้งตัว

ถึงตาพองท้องพลุ้ยพีพลุ อย่าดูหมิ่นกินจุมิใช่ชั่ว

จงปรานีเงาะป่าเถิดอย่ากลัว จะแต่งตัวให้งามตามใจน้อง”

เวลาใครก็ตามพูดถึงเจ้าเงาะ จึงมักมีคำด่าเป็นสร้อยห้อยท้ายเสมอ เช่น เงาะป่าบ้าใบ้ทรพล – อ้ายเงาะปีศาจชาติชั่ว – อ้ายเงาะทรพลคนอัปรีย์ – เงาะทรพลคนอุบาทว์ – อ้ายเงาะขี้ครอก – อ้ายเงาะถ่อยร้อยอย่างช่างมารยา ฯลฯ

เจ้าเงาะที่ใครเห็นใครชัง ใครเห็นใครด่า มีมุมน่ารักน่าทึ่งโผล่มาเป็นระยะๆ ทำให้รู้ว่าหนุ่มรูปชั่วตัวดำคนนี้อารมณ์ดีขี้เล่น เป็นศิลปินทั้งร้องทั้งรำครบเครื่อง ดังตอนที่เจ้าเงาะจัดการหกเขยที่เข้ามากลุ้มรุมเล่นงานโดยแกล้ง “หวดไปหวดมาให้ผิดผิด ควงตระบองลองแรงแผลงฤทธิ์ ไล่ติดตามตีหนีกระจุย”

พอเห็นสภาพหกเขยสติแตกอย่างนั้น เจ้าเงาะก็ล้อเลียนด้วยท่าทีและการร่ายรำ

“ดูเห็นเต็มกลัวก็หัวเราะ ยิ้มเยาะยกมือขึ้นกุ๋ยกุ๋ย

ตั้งท่าทีทำเป็นรำซุย เบี้ยวบุ้ยปากหลอกกลอกหน้าตา”

รำซุย เป็นท่ารำละครท่าหนึ่งที่ใช้เยาะเย้ยด้วยเพลงกราวรำชั้นเดียว บทละครในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง รามเกียรติ์ กล่าวถึงท่ารำนี้เช่นกัน ตอนที่หนุมานจับยักษ์สหัสเดชะได้ ไพร่พลลิงก็รำซุยล้อเลียนยักษ์เป็นการใหญ่

“แล้วกลับเข้าพรั่งพร้อมล้อมรอบ ทำหลบลอบแลมองร้องกุ๋ยกุ๋ย

ลางตัวเตี้ยต่ำทำปุกปุย รำซุยเยาะยักษ์พรักพร้อมกัน”

เจ้าเงาะเป็นคู่หูคู่ฮากับเด็กเลี้ยงวัว เจอกันทีไรเป็นได้รำละครม่วนซื่นกันทีนั้น ตอนที่เจ้าเงาะกำลังหาบเนื้อเข้าวังตามคำสั่งท้าวสามลพ่อตา พอดีเจอเด็กๆ ระหว่างทาง

“เด็กเด็กเซ็งแซ่เข้าแห่ห้อม พรั่งพร้อมล้อมหลังล้อมหน้า

บ้างร้องว่าเออเกลอกูมา เฮฮาโห่ฉาวกราวเกรียว

บ้างชวนว่าอย่าเพ่อไปก่อน อยู่รำละครสักประเดี๋ยว

เจ้าเงาะไม่หยุดฉุดเป็นเกลียว หน่วงเหนี่ยวห้ามปรามมาตามทาง”

เจ้าเงาะตามใจเพื่อนวัยซน ดังที่รัชกาลที่ 2 เล่าว่า

“เมื่อนั้น เจ้าเงาะเห็นเด็กพร้อมล้อมรอบข้าง

พอถึงที่ราบราบเอาหาบวาง เข้ายืนกลางแล้วเล่นเต้นรำไป”

คนทั่วไปได้เห็นแค่เจ้าเงาะรำละคร แต่สำหรับเพื่อนร่วมชีวิต มิตรร่วมเรือนอย่างนางรจนานั้นพิเศษกว่าใครเขา เจ้าเงาะทั้งขับเสภา สวดสุบิน ร้องเพลง และร่ายซอให้ฟังอย่างเพลิดเพลิน

“เจ้าเงาะหัดตีกรับขับเสภา รจนาปั่นฝ้ายสบายใจ”

บางส่วนของบทเสภาที่เจ้าเงาะขับนั้นน่าฟังยิ่งนัก ทั้งขับและตีกรับทำจังหวะเองเสียด้วย

“แจ้วแจ้วจักจั่นสนั่นป่า ดังซอสีปี่ชวาวังเวงเสียง

สกุณาพาคู่เข้ารังเรียง ขุนแผนเคียงข้างน้องประคองเชย

ตัวพี่กับรจนามาได้แค้น เหมือนขุนแผนกับวันทองเจียวน้องเอ๋ย

อยู่กระท่อมตรอมใจไม่เสบย กระไรเลยอนิจจาช่างอาภัพ

เคยนอนเตียงเสียงประโคมด้วยแตรสังข์ มาตกไร้ได้ฟังแต่เสียงกรับ

พลางอิงแอบแนบน้องในห้องทับ ถนอมรับขวัญให้เข้าไสยา”

ขณะที่นางรจนาแต่งเนื้อแต่งตัว และ “จีบพลูใส่ซองรองลำดับ เอามีดพับผ่าหมากจนปากบิ่น” เจ้าเงาะก็เพลินอารมณ์ด้วยการที่

“เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน เล่นลิ้นละลักยักลำนำ

รจนานิ่งฟังนั่งหัวเราะ น้อยฤๅเพราะแจ้วเจื้อยเฉื่อยฉ่ำ

ไม่ทันถึงใบสมุดหยุดกินน้ำ สวดซ้ำอีกสักนิดยังติดใจ”

ความสามารถ “สวดสุบิน” ของเจ้าเงาะทำให้นึกไปถึงการศึกษาของไทยสมัยโบราณ เมื่อเด็กอ่านออกเขียนได้พอสมควรแล้ว ก็จะให้เด็กอ่านหนังสือมีคติธรรม เช่น เรื่องสุบิน เรื่องเสือโค ฯลฯ เพื่อฝึกให้เด็กอ่านหนังสือแตกและได้รับการอบรมจิตใจไปในคราวเดียวกัน เรื่องสุบินนั้นแต่งเป็นกาพย์หรือกลอนสวด เด็กจะอ่านออกเสียงกลอนสวดอย่างที่เรียกกันว่า โอ้เอ้วิหารราย ดังที่เจ้าเงาะนอนถอนหนวดไปพลางก็สวดโอ้เอ้ให้เมียฟังไปพลางด้วย กาพย์เรื่องสุบิน ดังนี้

“จะกล่าวตำนาน สุบินกุมาร

อันสร้างสมมา ร่ำเรียนเขียนธรรม

ปรากฏนักหนา บวชในศาสนา

ลุถึงอรหันต์

โปรดแม่พ้นทุกข์ โปรดพ่อเสวยสุข

ไปยังเมืองสวรรค์ นางฟ้าแห่ห้อม

แวดล้อมนับพัน เครื่องทิพย์อนันต์

อเนกนานา”

………. ฯลฯ ……….

ไม่เพียงแต่ขับเสถา สวดโอ้เอ้วิหารราย เจ้าเงาะยังร้องเพลงไทยเดิมทำนองนางนาคและร่ายซอ ขับร้องเป็นทำนองพื้นเมืองลานนาให้เมียฟังอีกด้วย

เรียกว่าชื่นมื่นทั่วหน้าทั้งคนร้องคนฟัง

ขณะที่นางรจนากำลัง “นั่งปักสะดึงกรึงกรอง ตั้งเนื้อตั้งใจจะให้ผัว แต่งตัวไปกฐินเดือนสิบสอง” เจ้าเงาะก็ไม่น้อยหน้า ทั้งร้องทั้งทำจังหวะประกอบเสร็จสรรพ

“เจ้าเงาะแสนกลคนคะนอง หัดร้องนางนาคปากร่ายซอ

เอากระทายตีแทนรำมะนา ทำให้ภรรยาน่าหัวร่อ”

เมื่อไม่มีรำมะนา หรือกลองให้จังหวะ เจ้าเงาะก็ใช้กระทาย หรือกระบุงขนาดเล็ก ปากผาย มาตีแทนกลอง ทำเอาเมียขำกลิ้งและติดอกติดใจถึงขนาด

“รจนานิ่งฟังนั่งเอียงคอ เพราะหนักหนาหนอเจียวพ่อคุณ”

เป็นเมียเจ้าเงาะนี่คุ้มเกินคุ้มจริงๆ