เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (7)

เกษียร เตชะพีระ

ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (7)

(บทสนทนาระหว่าง ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับ โรสแมรี่ เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข)

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ตรงประเด็นนี้ใช่ไหมคะที่แนวคิดปฏิภาคภาวะ (intersectionality หมายถึงลักษณาการอันสลับซับซ้อนสั่งสมกันซึ่งผลของการถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ มาผสมผสาน ทับซ้อน หรือตัดพาดผ่านกัน อาทิ การที่หญิงผิวดำอพยพจากแอฟริกามาทำงานเป็นคนรับใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้วถูกกีดกันทั้งทางเพศสภาพ ทางเชื้อชาติ ทางชนชั้น และทางวัฒนธรรม เป็นต้น – ผู้แปล) เป็นกรอบการวิเคราะห์ที่ค่อนข้างใช้การได้?

ชองตาล มูฟ : ใช่ค่ะ ฉันเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่านั้นและถึงแม้ศัพท์คำนี้จะไม่ปรากฏในหนังสือ อำนาจนำกับยุทธศาสตร์สังคมนิยม ของฉันกับเออร์เนสโต ลาคลาว แต่ฉันก็เถียงมาพักหนึ่งแล้วว่าตัวความคิดนั้นปรากฏอยู่ในหนังสือดังกล่าว

จะว่าไปแล้วเราไปไกลกว่าความคิดนั้นเสียอีกเวลาเราพูดถึงความหลากหลายของตำแหน่งฐานะองค์ประธานผู้กระทำการ (a multiplicity of subject positions) เพราะนั่นเป็นการแสดงความตระหนักรับว่าคุณอาจมีฐานะครอบงำในตำแหน่งหนึ่งแต่กลับถูกครอบงำในอีกตำแหน่งหนึ่งก็เป็นได้ จนกระทั่งกลายเป็นว่ามีบรรดาคนงานผู้ถูกกดขี่อยู่ แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังเป็นพวกมีอคติลำเอียงทางเพศด้วยในขณะเดียวกัน เป็นต้น ประดาการต่อสู้ซึ่งเราต้องสมัครสมานเข้าด้วยกันเหล่านั้นต่างแบบกันอย่างยิ่ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงบอกว่าองค์ประธานผู้กระทำการในรูปแบบใหม่ต้องปรากฏตัวออกมาเพื่อขัดขวางปรปักษ์ผู้ตั้งเป้าจะแบ่งแยกเราออกจากกัน โดยสนองตอบข้อเรียกร้องของเราบางอย่าง ทว่าปัดข้อเรียกร้องอื่นๆ ทิ้งไป เราต้องการความสมานฉันท์ชนิดที่จะบอกได้ว่า “ไม่เอาหรอก นั่นจะไม่สนองตอบข้อเรียกร้องของฉันเพราะเธอก็แค่ผลักภาระไปให้คนอื่นเท่านั้นเอง…”

ฉะนั้น แนวร่วมสายรุ้งอาจเป็นขั้นตอนเบื้องต้นได้ และฉันก็ไม่คัดค้านมันนะคะ แต่การสร้างอำนาจนำใหม่นั้นเรียกร้องต้องการองค์ประธานผู้กระทำการในรูปแบบใหม่ และสามัญสำนึกชนิดใหม่ค่ะ

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : อ้า ดีทีเดียวที่เธอเอ่ยเรื่องสามัญสำนึกขึ้นมา คือฉันมีปัญหากับแนวคิดนั้นจริงๆ จากมุมมองประจักษนิยมแบบบริติช เพราะสำหรับฉันแล้ว ถ้อยแถลงแบบสามัญสำนึกทั้งหลายนั้นมันก็เป็นอย่างที่ว่าเด่นชัดยิ่งจริงๆ อาทิ ถ้อยแถลงที่ฉันอ้างอิงถึงเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับบีบีซี (BBC – British Broadcasting Corporation) ที่ถูกออกแบบมาโดยจอห์น รีธ (John Reith ค.ศ.1889-1971 ชาวสก๊อตซึ่งเป็นผู้บริหารต้นแบบของบีบีซีและผู้สร้างประเพณีบริการแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะอิสระขึ้นในอังกฤษ – ผู้แปล) ที่ว่า :

“คณะกรรมการการสื่อสารแห่งสภาขุนนาง…ลงมติว่าไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือบริการแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ แต่กระนั้นนั่นก็หาได้สำคัญอันใดไม่ เพราะมันเป็นของประเภทที่เราทุกคนล้วนรู้จักกันดี เวลาที่เราประสบพบมันเข้า…”

นั่นหมายความว่า เธอไม่มีวันนิยามได้ดอกว่าอะไรทำให้บีบีซีกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติขนาดนั้น แต่ชนชาติอังกฤษเราล้วนแต่รู้ดีกันทั้งนั้นว่ามันคืออะไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “สามัญสำนึก” เป็นเครื่องหมายบ่งชี้อุดมการณ์ครอบงำได้ดียิ่งไม่ใช่หรือ? มันเป็นเรื่องที่ห้ามต่อรองและกีดกันอย่างอื่นออกไปหมด ซึ่งไอ้แบบนั้นน่ะ ถามจริงๆ เถอะว่ามันช่วยเสริมสร้างอำนาจให้เราตรงไหน?

ในขณะที่สิ่งที่เราคุยกันมาเกี่ยวกับสายโซ่สมมูล (the chains of equivalence) นั้นเป็นบางสิ่งบาง อย่างที่ช่วยยกระดับจิตสำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบถูกกดลงเป็นเบี้ยล่างซึ่งกำลังถูกพิชิตลงไปในทุกๆ ด้านทว่าด้วยวิธีการต่างๆ กันไม่ใช่หรือคะ?

ชองตาล มูฟ : เดี๋ยวก่อนค่ะ! ฉันกำลังใช้คำว่า “สามัญสำนึก” ตามความหมายแบบกรัมชี (Antonio Gramsci ค.ศ.1891-1937 นักปฏิวัติและนักทฤษฎีการเมืองสังคมนิยมชาวอิตาลี – ผู้แปล) ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับสามัญสำนึกประจักษนิยมแบบบริติช สามัญสำนึกแบบกรัมชีที่ว่านี้ไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติเกี่ยวกับมันเลยค่ะ มันเป็นสิ่งสร้างทั้งเพ ความที่ฉันอยู่ในบริเตนมาหลายปีหลังนี้ ฉันได้เห็นและเธอก็ต้องได้เห็นด้วยแน่ๆ ว่าลัทธิแธตเชอร์แปรเปลี่ยน “สามัญสำนึก” ในบริเตนไปยังไง

ฉันจำได้ว่าตอนฉันมาถึงบริเตนเมื่อปี ค.ศ.1972 นั้น มันเป็นประเทศที่ยังเป็นแบบสังคมประชาธิปไตยมาก (หมายถึง social democracy คือระบอบประชาธิปไตยที่เดินแนวนโยบายอุดหนุนเกื้อกูลระบบสวัสดิการสังคมหรือรัฐสวัสดิการ – ผู้แปล) ในแง่คุณค่าที่ยึดถือ ความสมานฉันท์ล้นเหลือเฟือฟายถือเป็นเรื่องปกติ และแล้วฉันก็ได้เห็นมันถูกบ่อนทำลายลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่เป็นผลโดยตรงของวิธีการที่นายกฯ แธตเชอร์สามารถสร้างอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ขึ้นมาได้และฉันคิดว่าถ้าเราจะแตกหักกับอำนาจนำที่ว่านี้และสร้างอำนาจนำที่แตกต่างออกไปขึ้นแทนแล้วละก็ เราต้องสร้างสรรค์ชุดคุณค่าและความคาดหวังที่แตกต่างออกไปขึ้นมา ต้องสร้างสรรค์วิธีการตัดสินวินิจฉัยใหม่ๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ที่เราใฝ่ฝันทะยานอยากที่จะไขว่คว้ามา ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเลยทีเดียว

นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมฉันจึงสนใจการปฏิบัติเชิงศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง เพราะมันมีบทบาทสำคัญเหลือเกินในการสร้างองค์ประธานผู้กระทำการและสร้างสรรค์สามัญสำนึกขึ้นมาค่ะ

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ใช่ค่ะ สามัญสำนึกแบบลัทธิแธตเชอร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งเลยทีเดียว ทว่าสิ่งที่ไหลลื่นกว่าคือการมองให้ออกว่าประชานิยมฝ่ายซ้ายจะทำงานอย่างไรในขั้นตอนเริ่มแรกที่มันปรากฏตัวขึ้นมา ฉันขอยกตัวอย่างให้เธอดูอีกอันได้ไหมคะ? ตัวอย่างนี้มาจากบทความที่เขียนโดยโอเมอร์ เทกเดอเมียร์ ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของเธอ เขาบรรยายพรรคประชาธิปไตยประชาชน (People”s Democracy Party – HDP) ที่นำโดยชาวเคิร์ดและเอียงซ้ายซึ่งพา ส.ส.เข้าสภาตุรกีได้ถึง 80 คนในการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ค.ศ.2015 แบบนี้ว่า :

“พรรคประชาธิปไตยประชาชนสถาปนาสายโซ่สมมูลระหว่างองค์ประกอบอันหลากหลายของตนโดยมิได้ยึดเอาเอกลักษณ์ชาวเคิร์ดเป็นแก่นสารสารัตถะเหนือพันธมิตรอื่นๆ ของพรรค พรรคถือเอาระบอบประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคนเป็นจุดสังกัดร่วมกัน พรรคประชาธิปไตยประชาชนได้กำหนดหมาย “เรา” “ประชาชน” ขึ้นมาในเชิงพหุนิยมแบบปรปักษ์ซึ่ง…ส่งเสริมการประนีประนอมรอมชอมในท่ามกลางการเห็นต่างกัน (อาทิ การผูกสัมพันธ์เชื่อมโยงชาวมุสลิมเคร่งศาสนา ชาวมุสลิมอาเลอวีส่วนน้อยในตุรกี พวกรักข้ามเพศแบบต่างๆ พวกเฟมินิสต์ พวกลูกผสมแอฟริกัน-เติร์ก และพวกที่ไม่ใช่มุสลิม) โดยตั้งตนอยู่ภายในพื้นที่ประชาธิปไตยเชิงสัญลักษณ์บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยว่าด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคสำหรับคนทั้งปวง”

นี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างแม่นยำว่าด้วยกระบวนการสร้างพรรคประชานิยมฝ่ายซ้ายขึ้นมา นะคะ…

.