กรองกระแส / 3 ขั้ว การต่อสู้ อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ร่วม หรือต้าน คสช.

กรองกระแส

 

3 ขั้ว การต่อสู้

อุดมการณ์ ผลประโยชน์

ร่วม หรือต้าน คสช.

 

พลันที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศเป็นแนวร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและแสดงท่าทีว่าอาจเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเข้ามาร่วม การเมืองที่เคยประจันหน้ากันระหว่าง คสช.ซึ่งต้องการสืบทอดอำนาจกับฝ่ายที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจก็กลายเป็นการเมือง 3 เส้า

1 ฝ่าย คสช.อันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นสดมภ์หลัก

1 ฝ่ายที่โน้มเอียงเข้ามาทาง คสช. แต่ก็เป็นการโน้มเอียงอย่างมีเงื่อนไข มีการต่อรอง อันมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นสดมภ์หลัก โดยมีการแตะแขนร่วมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

1 ฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว อันมีพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย

การแบ่งออกเป็น 3 ขั้วเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะเป็นการตั้งทัพประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายที่ 1 กับฝ่ายที่ 3 อย่างเดียว

ตรงกันข้าม การดำรงอยู่ของฝ่ายที่ 2 ก็ดำเนินไปอย่างมีการต่อสู้ เพียงแต่มิได้เป็นการต่อสู้อย่างแข็งกร้าว ไม่มีการประนีประนอมเหมือนกับกลุ่มของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ แต่ภายในการเจรจาก็มีการต่อรอง

และภายในการต่อรองนั้นก็มีความเด่นชัดเป็นลำดับว่ากลายเป็นการต่อสู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

คมเขี้ยว แต่ละก้าว

ของประชาธิปัตย์

 

ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์สะสมความจัดเจนในการต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภามาอย่างยาวนาน เพราะก่อรูปขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2489

ผ่านยุคของนายปรีดี พนมยงค์ ผ่านยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ผ่านยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผ่านยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ผ่านยุคของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กระทั่งเข้าสู่ยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร และยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุด

การเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย เข้าชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คือก้าวหนึ่ง

ผลก็คือ ทำให้พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องถอย นายสุชาติ ตันเจริญ ลงไปอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอันดับ 1

จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งเพิ่มการต่อรองและเรียกร้องหนักขึ้น

ไม่เพียงเรียกร้องตำแหน่งในรัฐบาลโดยยึดเอากระทรวงหลักๆ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ หากยังเพิ่มเงื่อนไขการเข้าร่วมโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปอีกด้วย

ข้อต่อรองของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้โฉมหน้าของพรรคพลังประชารัฐเผยแสดง

 

อำนาจ พลังประชารัฐ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ความอดทนของพรรคพลังประชารัฐถึงจุดเดือด เพราะว่ากลุ่มต่างๆ ไม่ยินยอม ประกอบกับ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประกาศว่าจะเป็นคนพิจารณาและคัดเลือก ครม.ด้วยตนเอง

ทำให้เห็นเด่นชัดว่าอำนาจแท้จริงของการเจรจาและต่อรองในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในที่สุดพรรคพลังประชารัฐไม่เพียงแต่เรียกร้องให้พรรคการเมืองอื่นที่จะเข้าร่วมรัฐบาลจะต้องยอมรับต่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่ยังขู่ด้วยความแข็งกร้าวอีกว่า จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยยึดโยงอยู่กับ 250 เสียงของ ส.ว. ซึ่งพรรคพลังประชารัฐสามารถทำได้

และจากนั้นหากการบริหารราชการแผ่นดินไม่ราบรื่น นายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะประกาศยุบสภา

ตรงจุดนี้ไม่เพียงแต่ก่ออาการนะจังงังให้กับพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคภูมิใจไทยและรวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนาอีกด้วย

การประจันหน้าระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาจึงทวีความร้อนแรงและแหลมคมมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความยากลำบากในการตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

การตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จึงสำคัญ

 

พื้นฐาน การตัดสินใจ

อุดมการณ์ ผลประโยชน์

 

ไม่ว่าในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะตัดสินใจอย่างไร เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

เดิมพันก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันในแนวทางที่ตนเป็นผู้กำหนด เป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสินใจมากเพียงใด ยิ่งทำให้เห็นว่าวิจารณญาณและการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อยู่บนพื้นฐานของหลักการใด

เป็นหลักการของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านระบอบเผด็จการ หรือว่าเป็นเพียงข้อต่อรองเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ นั่นก็คือให้ได้กระทรวงที่ต้องการเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นจุดต่างระหว่าง 2 ขั้วทางการเมือง นั่นก็คือ ขั้วที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. กับขั้วที่ต้องการไปแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับ คสช. ทั้งหมดนี้จะเป็นบทเรียนอันมีค่าอย่างยิ่งในทางสังคม

สังคมจะได้มองกระบวนการต่อสู้ของแต่ละพรรคการเมืองว่าเป็นไปเพื่อตนเองหรือเพื่ออุดมการณ์