ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / พระแท่นดงรัง : หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพุทธประวัติตอนปรินิพพาน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในไทยมีคติความเชื่อที่สมมติกันขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในไทยมานานแล้ว โดยสถานที่สมมติอย่างนี้ที่น่าจะรู้จักกันมากที่สุดก็คือ “พระแท่นดงรัง”

ตำนานของพระแท่นดงรังมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าได้อาพาธ คือป่วย (ส่วนจะป่วยเป็นโรคอะไรนั้น ตำนานไม่ได้บอกเอาไว้) จนกระทั่งเสด็จปรินิพพานในพื้นที่บริเวณพระแท่นดงรังนี่แหละ

แถมยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อปรินิพพานแล้ว ผู้คนก็พากันนำร่างของพระองค์ขึ้นไปบนเขาที่อยู่ข้างๆ พระแท่น แล้วทำการถวายพระเพลิง เขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “เขาถวายพระเพลิง” มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณพระแท่นดงรัง และเขาถวายพระเพลิง อยู่ในความดูแลของวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า พระแท่นดงรังตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งจะไหลจากบริเวณท่ามะกาไปยังบริเวณ จ.ราชบุรี และออกสู่อ่าวไทยที่ จ.สมุทรสงคราม

และในพื้นที่บริเวณ จ.ราชบุรี ที่แม่น้ำสายที่ว่าไหลผ่านนั้น ก็มีร่องรอยเกี่ยวกับการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้าให้เห็นอยู่เนืองๆ นะครับ

 

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือชื่อสระน้ำโบราณแห่งหนึ่งคือ “สระโกสินารายณ์” (เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำ 108 แห่ง ที่ถูกนำไปใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เพิ่งผ่านพ้นไป) ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.บ้านโป่ง

คำว่า “โกสินารายณ์” นั้น ต่อให้พลิกพจนานุกรมจนมือหงิกก็หาความหมายไม่เจอแน่ เพราะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “กุสินารา” คือชื่อเมืองในประเทศอินเดีย ที่เล่าไว้ในพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานที่เมืองนี้

แต่ในสมัยโบราณ ชื่อกุสินารา คงจะไม่ได้ถูกใช้เรียกเฉพาะเป็นชื่อสระแห่งนี้เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นชื่อเรียกพื้นเมืองบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ด้วย

หลักฐานที่ชัดเจนมีอยู่ในลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรี ของกรมหมื่นศักดิพลเสพ (ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพ) ซึ่งเขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “เมืองโกสินราย” ที่ก็เพี้ยนมาจากคำว่ากุสินารา เช่นกัน

ที่สำคัญก็คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพได้ไปนมัสการพระแท่นดงรัง และได้เรียกชื่อ “โกสินราย” ครอบคลุมไปถึงบริเวณพระแท่นดงรังด้วย ดังนั้น อาณาบริเวณนับจากแถบบ้านโป่ง คือสระโกสินารายณ์ ไปจนถึงพระแท่นดงรัง ที่ห่างกันราว 30 กิโลเมตรเศษนั้น ก็คงเป็นพื้นที่ที่มีร่องรอยของการใช้ชื่อเมืองตามเมืองศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย คือ “กุสินารา” อันเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ไม่ต่างไปจากการใช้ชื่อเมืองว่าอยุธยา คือเมืองของพระรามนั่นเอง

 

ร่องรอยชื่อเมืองโกสินราย ยังมีปรากฏในเอกสารยุคต้นกรุงเทพฯ ฉบับอื่นๆ เช่น นิราศพระแท่นดงรัง ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) นิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น (ลูกบุญธรรมของเซเลบยุคต้นกรุงเทพฯ อย่างสุนทรภู่ แถมนิราศเรื่องนี้ยังเขียนถึงการไปนมัสการพระแท่นแห่งนี้พร้อมสุนทรภู่อีกด้วย)

ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงควรถูกเรียกว่าโกสินราย หรือกุสินารา อันเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน (แถมทั้ง กรมหมื่นศักดิพลเสพ, เสมียนมี, สามเณรกลั่น และแน่นอนว่าย่อมรวมถึงสุนทรภู่ด้วย ก็เชื่อว่าตนเองกำลังมานมัสการสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยที่มีการเขียนเอกสารพวกนี้แล้ว

แต่ร่องรอยของความเชื่อเช่นนี้อาจจะเก่าแก่ไปกว่านั้นอีกมาก เพราะพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองนั้นมีร่องรอยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมาตั้งแต่ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีแล้ว

เขางู ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี มีภาพสลักและภาพปูนปั้นประดับรูปพระพุทธเจ้าประทับนอน งานช่างแบบทวารวดี (อายุระหว่าง พ.ศ.1000-1500) อยู่ภายในถ้ำอย่างน้อยสองแห่งคือ ภาพสลักภายในถ้ำจาม และภาพปูนปั้นที่ถ้ำฝาโถ

โดยเฉพาะพระพุทธรูปประทับนอนที่ถ้ำฝาโถนั้น มีการปั้นปูนเป็นรูปต้นไม้ขนาบอยู่ระหว่างองค์พระพุทธรูป ต้องตรงตามพุทธประวัติที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ ที่สาลวโนทยาน (ป่าต้นสาละ) ในเมืองกุสินารา จึงแสดงให้เห็นว่า เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนดังกล่าวอย่างชัดเจน

การสร้างพระพุทธรูปตามพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับสถานที่หรือเมืองนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในอินเดียนะครับ ตัวอย่างเช่น เมืองพุทธคยา อันเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็จะนิยมสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งหมายถึงการตรัสรู้ เช่นเดียวกับที่เมืองกุสินารา นิยมสร้างรูปพระพุทธรูปปางไสยาสน์

แถมลักษณะเช่นนี้ยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ในศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะในศาสนาอื่น เขาเชื่อว่าเทพเจ้าเคยมาทำอะไรในเมืองไว้ เขาก็นิยมสร้างรูปของเทพเจ้าองค์นั้นนั่นแหละ

ดังนั้น เขตพื้นที่ในแถบลุ่มน้ำแม่กลอง อย่างน้อยก็ในรัศมี 60 กิโลเมตรเศษ ตั้งแต่พระแท่นดงรัง เรื่อยมาจนถึงเขางูทางตอนใต้นั้น จึงคงจะเป็นเขตพื้นที่ที่มีคติการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกุสินารา มาตั้งแต่รับอิทธิพลพุทธศาสนามาจากอินเดียเมื่อหลัง พ.ศ.1000 แล้วก็ได้

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ “ต้นรัง” โดยอ้างกันว่า บริเวณพระแท่นดงรังนั้นเป็นป่ารัง แถมยังมีตำนานด้วยว่าในสมัยอยุธยานั้น มีต้นรังคู่ขนาบอยู่ตรงวิหารที่ใช้ประดิษฐานพระแท่น (ที่เชื่อกันว่าเป็นแท่นบรรทมเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน) ดังนั้น ถ้าจะสมมติกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นป่าสาลวโนยานก็ไม่เห็นจะแปลก

แต่ที่จริงแล้ว “ต้นรัง” นั้นเป็นไม้คนละชนิดกับ “ต้นสาละ” ในอินเดีย เป็นคนพื้นเมืองในอุษาคเนย์ (และอาจจะเป็นเฉพาะคนไทย?) ต่างหาก ที่ไปอธิบายว่า ต้นรังนั้นก็คือต้นสาละ

คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมต้องเป็นต้นรัง?

นอกเหนือจากที่บริเวณพระแท่นดงรังจะมีต้นรัง (และไม้เบญจพรรณอื่นๆ) อยู่มากแล้ว ก็ยังมีหินก้อนใหญ่ที่ถูกถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “เฮี้ยน” มาก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามา

หินก้อนนั้นก็คือ หินก้อนเดียวกับที่ทุกวันนี้เชื่อว่าเป็น “พระแท่นบรรทมของพระพุทธเจ้า” นั่นเอง

 

วัฒนธรรมการนับถือ “หินใหญ่” (Megalith) อย่างนี้พบได้ทั่วไปในศาสนาดั้งเดิมทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ได้นับถือกันเฉพาะหินก่อนใหญ่ๆ นะครับ หินที่มีรูปทรงแปลกตานั่นก็ใช่ หลายทีก็จับเอาหินมาตั้งเดี่ยวๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่า “standing stone” และมีคำศัพท์โบราณในเอกสารเก่าของไทยว่า “หินตั้ง” หลายทีก็จัดหินหลายก้อนเป็นรูปทรงต่างๆ บางทีก็ใช้หินก้อนไม่ใหญ่นัก หรือบางครั้งก็ใช้เป็นสะเก็ดหินก้อนเล็กเลย มาสร้างเป็นลาน หรือก่อเป็นรูปทรงต่างๆ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า นับถือหินใหญ่อย่างเดียวจึงไม่ค่อยจะถูกต้องนัก

การนับถือหิน ในศาสนาผีอย่างนี้ เมื่อมีศาสนาใหญ่ๆ ที่มีความเป็นสากลกว่าแพร่อิทธิพลเข้ามา (ในกรณีของอุษาคเนย์คือ ศาสนาจากอินเดียอย่างพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู) ก็มักจะถูกจับบวชเข้าในศาสนาใหม่ ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ความเชื่อ “หลักเมือง” ทุกวันนี้ ซึ่งก็มีทั้งที่ทำด้วยไม้ และที่ทำด้วยหินนั่นเอง

และเมื่อพูดถึงหลักเมืองก็จะเห็นได้ว่า มักจะมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับความตายอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีการบูชายัญด้วยชีวิตของมนุษย์ตอนที่สร้างหลักเมือง

 

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ตำนานพวกนี้เป็นความจริงหรือเปล่า?

แต่ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการนับถือหินใหญ่ หรือหินตั้ง นั้นเกี่ยวข้องกับความตาย และอันที่จริงแล้วศาสนาผีดั้งเดิมของอุษาคเนย์นั้น ก็นับถือ “บรรพชน” คือคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งสามารถให้คุณ ให้โทษ คนที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละ

คติการนับถือหินที่เกี่ยวข้องกับ “ความตาย” นั้นจึงดูจะเข้ากันได้ดีกับพุทธประวัติการ “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า ยิ่งเมื่อหินใหญ่ก้อนที่ถือกันว่าเฮี้ยน หรือศักดิ์สิทธิ์นั้น ตั้งอยู่ในป่าก็ยิ่งเหมาะสมเป็นทวีคูณ

ป่าในอุษาคเนย์ไม่มี “ต้นสาละ” ก็จับบวชเอา “ต้นรัง” ที่มีอยู่มาก (และอาจเคยถูกบูชาไม่ต่างจากไม้ใหญ่อย่างไม้ตะเคียน ต้นไทร ฯลฯ มาก่อน) ให้กลายมาเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติจากอินเดีย ส่วน “หินใหญ่” ก้อนที่เคยใช้บูชา เชื่อมโยงเข้ากับบรรพชนก้อนนั้น ก็ตัดแต่งรูปทรงเสียให้กลายเป็นเหมือน “พระแท่นบรรทม” แล้วผูกโยงเข้ากับพุทธประวัติตอนปรินิพพาน